xs
xsm
sm
md
lg

"สงฆ์-ฆราวาส" เปิดศึกชิงสิทธิ์ที่ดิน"กลางดอยสุเทพ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - "สงฆ์ - โยมอุปัฏฐาก" วัดผาลาด กลางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ เปิดศึกชิงสิทธิ์เหนือวัดป่าชื่อดังของเชียงใหม่ ที่มีอายุเก่าแก่ร่วม 500 ปี ล่าสุดฝ่ายสงฆ์ที่ดูแลวัดระบุ ลูกหลานตระกูลนักสิ่งแวดล้อม-คนมูลนิธิดังอ้างสิทธิ ร่วมบูรณะทำบ้านพักตากอากาศ บนที่ธรณีสงฆ์ ด้านฆราวาสยืนยัน ความชอบธรรมฐานะโยมอุปัฏฐาก ที่ฟื้นฟูฐานะจากวัดร้าง

"วัดผาลาด" เป็นวัดป่า 1 ใน 3 วัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บนเส้นทางขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพ นอกเหนือไปจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดศรีโสดา วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วม 500 ปี เคยถูกปล่อยให้รกร้างไป แต่ก็ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ฟื้นฟูขึ้นมาให้มีสถานภาพเป็นวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรม

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วัดแห่งนี้กลายเป็นจุดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เมื่อพระที่จำวัดอยู่ที่วัดผาลาดกับศรัทธาวัด ที่มีบ้านพักอยู่ในบริเวณวัดมีความเห็นต่างกัน โดยพระในวัดมองว่า การมีบ้านเรือนอาศัยอยู่ของศรัทธาวัดในพื้นที่ของวัด เป็นการทำลายบรรยากาศของการเป็นวัด ที่ควรเป็นที่สำหรับปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์เท่านั้น

พระสฤษ์ดิ์ ธัมมธโร รองเจ้าอาวาสวัดผาลาด เปิดเผยว่า ปัจจุบันวัดมีพระจำพรรษาอยู่ 3 รูป โดยวัดแห่งนี้เป็นวัดเล็กๆ ที่อยู่อย่างสงบ แต่การที่มีบ้านพักอาศัยของคนภายนอก ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ของวัด บริเวณประตูทางเข้าวัด และเป็นบ้านในลักษณะของบ้านพักตากอากาศ ทำลายสภาพการเป็นวัด และบางช่วงมีคู่สามีภรรยาเข้ามาอาศัยอยู่มากกว่า 1 คู่

เรื่องนี้ สร้างความลำบากใจให้กับวัดมาก เนื่องจากเจ้าของบ้านอ้างสิทธิ์ว่า บ้านที่ปลูกสร้างมีมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เป็นกลุ่มผู้ร่วมฟื้นฟูวัดผาลาด จากวัดร้างให้กลับมามีสภาพเป็นวัดอีกครั้ง รวมทั้งอุปถัมภ์วัดมาไม่ขาด จึงอ้างสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวขณะที่วัดอยากจะให้ย้ายบ้านหลังดังกล่าวออกไป เนื่องจากไม่เหมาะสม แต่เจ้าของบ้านไม่ยินยอมโดยบอกว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสแล้ว

นอกจากนี้ยังได้พยายามเข้ามาก้าวก่ายในกิจกรรมต่างๆ ของวัด ด้วยการอ้างสิทธิ์การที่เป็นผู้อุปถัมภ์วัด เช่น อ้างว่าเป็นผู้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่วัด หรือเป็นผู้สร้างอาคารให้แก่วัด เป็นต้น เมื่อวัดมีแผนงานที่จะพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ภายในวัด มักถูกคัดค้านและขัดขวางโดยคนกลุ่มนี้ตลอด

"วัดมีโครงการพัฒนาพื้นที่หลายครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่ถูกค้านตลอด โดยอ้างการเป็นผู้อุปถัมภ์หรือเป็นผู้บริจาคทำบุญให้วัด และทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของวัด ซึ่งตามหลักแล้วการมอบหรือถวายสิ่งใดๆ แก่วัดแล้ว สิ่งนั้นย่อมตกเป็นของวัด ไม่ใช่เป็นของผู้ที่มอบให้"

พระสฤษ์ดิ์ ธัมมธโร ระบุอีกว่า ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีฐานะดีทั้งสิ้น บ้านที่อยู่ตรงนี้เป็นเพียงหนึ่งในบ้านหลายหลังที่พวกเขามีอยู่ ปีหนึ่งก็เข้ามาพักผ่อนในช่วงฤดูหนาวเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น เวลาที่เหลือก็จ้างคนสวนให้มาเฝ้าไว้ กรณีนี้ได้เคยแจ้งให้พระผู้ใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแล้ว แต่ไม่เคยมีการเข้ามาดำเนินการใดๆ

"บ้านหลังนี้อยู่ในเขตวัด อยู่ในเขตธรณีสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง"

ด้านดร.สุจิรา ประยูรพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยพายัพ , รองประธานมูลนิธิธรรมนารถ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะศรัทธาวัดผาลาด และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ของวัดมาตั้งแต่ 5 มีนาคม 2515 กล่าวว่า วัดผาลาดดั้งเดิมเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาประมาณปี 2524

นอกจากนี้ เป็นวัดที่ทางหม่อมราชวงศ์สมานสนิท สวัสดิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมนารถ ให้การสนับสนุน - ร่วมพัฒนามาตลอดตั้งแต่สมัยเริ่มบูรณะฟื้นฟู กระทั่งได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ภายในวัดเป็นสถานที่ตั้งมูลนิธิฯมาตลอด รวมทั้งได้จัดหางบประมาณเข้ามาก่อสร้างอาคาร - กุฏิ ให้กับพระสงฆ์ที่จำพรรษาภายในบริเวณวัดรวมทั้งสิ้น 11 หลัง จ่ายค่าสาธารณูปโภคให้แก่ทางวัดเป็นประจำ

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าอาวาสมาถึง 3 ท่าน ล่าสุด คือ พระมหาสง่า ที่เป็นพระอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ (มจร.) ทำให้ไม่สามารถจำพรรษาที่วัดได้ จึงได้มอบหมายให้พระสฤษ์ดิ์ ธัมมธโร เป็นผู้ดูแลวัดแทน กระทั่งปี 2547 พระสฤษดิ์ ได้สั่งทุบ-ทำลายกุฏิ ที่สร้างไว้อย่างดีถึง 9 หลัง รวมถึงกุฏิที่ใช้เป็นที่ทำการของมูลนิธิฯด้วย เหลือเพียงหลังที่ตนใช้เป็นที่พักอาศัยอยู่ กับกุฏิอีกหลังที่อยู่ใกล้กัน

ขณะเดียวกัน ยังดำเนินการในลักษณะการกดดันให้ตน และผู้ครอบครองบ้านของหม่อมราชวงศ์สมานสนิท (บุตรสาว) ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จากบริเวณวัดทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์

ทั้งที่บ้านหลังดังกล่าว สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยแม่ของหม่อมราชวงศ์สมานสนิท หรือ 40-50 ปีก่อน เป็นบ้านของคณะศรัทธาที่เป็นโยมอุปัฏฐากวัดผาลาด และได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดทุกรูป ไม่เคยเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้น จนกระทั่งพระสฤษดิ์ เข้ามาจำพรรษาที่วัด ถึงได้เกิดความขัดแย้งขึ้น

ดร.สุจิรา กล่าวว่า กุฏิทุกหลังที่ทุกพระสฤษดิ์ สั่งทุบทิ้ง ยังมีสภาพที่ดีใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมูลนิธิฯ ดูแลอย่างดี มีสัญญากับบริษั ทวีเอ็น จำกัด ให้เข้ามากำจัดปลวกเป็นประจำ เดิมมูลนิธิฯมีโครงการที่จะให้พระภิกษุจากจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้ามาเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ ใช้เป็นที่จำพรรษา แทนการไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ เพื่อที่จะใช้ศึกษาพระพุทธศาสนาไปด้วย กลับถูกทำลายทิ้งโดยไม่ทราบเหตุผล นอกจากนี้พระสฤษดิ์ยังได้สั่งทำลายถนนคสล.ที่มูลนิธิฯเคยสร้างถวายวัด ตัดต้นยูคาลิปตัสอายุกว่า 40 ปี ตลอดจนต้นไม้ขนาดเล็กทิ้งอีกจำนวนมาก

"ทุกอย่างในวัดมูลนิธิฯ ทำให้ทั้งหมด แม้แต่ศาลาที่พระสฤษดิ์ ใช้เป็นที่จำพรรษาอยู่ ก็ได้รับบริจาคจากลูกหลานของหม่อมราชวงศ์สมานสนิท โดยตั้งชื่อว่า ศาลาสมานสนิท แต่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดพระสฤษดิ์ จึงหาทางกดดันให้มูลนิธิ ฯ- ลูกหลานของหม่อมฯ ออกไปจากบริเวณวัด"

อนึ่งวัดผาลาด ตั้งอยู่เลขที่ 101 หมู่ 1 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จากกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ 2 มีนาคม 2524 โดยนายสิปปนนท์ เกตุทัต รมว.กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม ซึ่งในบันทึกมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 3/2524 ลงวันที่ 30 มกราคม 2524 ระบุว่า การเสนอยกฐานะวัดผาลาด ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากเจ้าคณะในสังกัดตามลำดับจนถึงเจ้าคณะภาค 7 แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น