xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สรรพากรเข้าข่ายทุจริตงดภาษี‘คุณหญิงอ้อ-โอ๊ค’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “เรืองไกร” แฉกลางที่ประชุม กมธ.สอบทุจริต วุฒิสภา ชุด “ประทิน” สรรพากรเก็บภาษี 2 มาตรฐาน “ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน-พานทองแท้” โอนหุ้นให้คนใกล้ชิดไม่ต้องเสียภาษี แต่กลับตัวเองและคนอื่นกลับต้องจ่าย แถมศาลฎีกากลางก็เคยวินิจฉัยว่าทุกคนต้องเสียภาษี ระบุ กรณี “พานทองแท้” หากต้องเสียภาษีจะเป็นเงินสูงเกือบ 400 ล้านบาท “กล้านรงค์” เผยเข้าข่ายกระทำทุจริต เช่นเดียวกับ “ประทิน” บอกถึงขั้นผิดอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7ก.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม.เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียน ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรณี กรมสรรพกรเรียกเก็บเงินได้บุคคลธรรมดาจากนายเรืองไกร ที่ได้ซื้อหุ้นของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) จากนายสุขุม ลีกิจวัฒนะ ผู้เป็นบิดาในราคาต่ำกว่า ราคาตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในกรณีเดียวกันกรมสรรพกรกลับไม่จัดเก็บภาษี คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยานายกรัฐมนตรี ที่โอนหุ้นบริษัทชินคอเปเรชั่น ประมาณ 28 ล้านหุ้น ให้นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชาย และกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โอนหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และกรณี นายพานทองแท้ ชินวัตร โอนหุ้นให้น้องสาว โดยที่ประชุมได้เชิญ นายเรืองไกรมาชี้แจง

นายเรืองไกร กล่าวว่า หลังจากวันที่ 12 ส.ค. 2547 ที่กรมสรรพกรแจ้งให้ชำระภาษีตนก็ได้ขอเจรจากับ นายวิชัย จึงรักเกรียติ รองอธิบดีกรมสรรพกรสมัยนั้น ที่สั่งให้จ่ายภาษี เนื่องจากตนศึกษาข้อมูลและนำไปเปรียบเทียบจากประมวลรัษฎากร ก็พบว่าเป็นการปฎิบัติ 2 มาตรฐาน เพราะการโอนหุ้นลักษณะเดียวกันกับคุณหญิงพจมาน แต่กรณีของคุณหญิงพจมาน กลับไม่มีการจัดเก็บภาษี ทั้งๆที่เป็นบรรดทัดฐานให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากตนได้ทำหนังสือสอบถามไปที่กรมสรรพากร และได้ทำการขออุทธรณ์ แต่ก็ถูกวินิจฉัยกลับมาว่าการสั่งให้ตนจ่ายภาษีเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นบาท

นอกจากนี้เมื่อดูจากยอดที่กรมสรรพกรสั่งให้จ่ายภาษี โดยไม่รวมกับเรื่องหุ้น ตนจะขอคืนภาษีได้ แสดงว่าในกรณีที่ต้องจ่ายภาษีจะเกิดจากการได้รับโอนหุ้นจากบิดา ทั้งที่ตอนที่แจ้งรายได้พึ่งประเมินตาม ภงด.90 ที่ต้องแจ้งรายได้เงินเดือน และผลประโยชน์อื่นที่มากกว่าเงินเดือน ตนจึงแจ้งยอดหุ้น ที่รับโอนมาจากบิดาพร้อมใบหุ้น แนบไปกับการแจ้งรายได้พึงประเมินเพื่อนำไปคำนวณภาษีด้วย และเมื่อตนไปขออุทธรณ์ลดหย่อนเงินเลี้ยงดูบุตร และเงินบริจาค กลับไม่ได้ลดหย่อน เพราะภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ที่การได้รับโอนหุ้น แม้ว่าจะโอนจากบิดาและโอนในราคาพาร์ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดก็ตาม

นายเรืองไกร กลาวว่า กรณีนี้ตนได้ข้อมูลจากการไปค้นคำวินิจฉัยฏีกากลาง ที่เคยวินิจฉัยกรณีลักษณะเดียวกันต้องให้จ่ายภาษีทั้งหมด เช่น ปี 2519 , 2532 หรือกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมา และเมื่อตนทำหนังสือกลับไปสอบถามตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารว่ากรณีที่เกิดกับการวินิจฉัยของนายพานทองแท้ โอนให้น้องสาว ต้องเสียภาษีหรือไหมกับทางกรมสรรพากร แต่ทางกรมสรรพากรกลับแจ้งมาว่ากรณีดังกล่าวเปิดเผยไม่ได้

“ถ้ากรณีของนายพานทองแท้ที่เข้าข่ายเดียวกับผมหากต้องต้องเสียภาษี เหมือนกัน และกรมจะสามารถเก็บภาษีได้ถึงประมาณ 370 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่กรมสรรพกรอ้างว่าผมอุทธรณ์ได้และได้แจ้งว่าผมได้รับเงินภาษีคืนแล้วตามที่ ให้ข่าวก็ไม่จริง เพราะเมื่อ 13 มิ.ย. 2548 ที่ผ่านมากรมสรรพกรแค่เชิญผม ไปพบเพื่อชี้แจงกรณีจัดเก็บภาษีปี 2547 ว่ผมต้องจ่ายภาษีตามประมวลรัษฏากรมาตร 40 (ช) ทั้งที่ผมควรจะเสียตามมาตรา 40(8) และวันนั้นผมก็ไม่ได้คืนเงินภาษีและกรมก็แจ้งว่าเลยกำหนดอุธรณ์แล้ว”

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นการตีความของสรรพากรเป็นเหมือนการตีความเข้าข้างผู้รับโอนให้ได้ประโยชน์ เพราะจะเห็นได้ว่ากรมสรรพกรวินิจฉัยให้ผู้รับโอนหุ้นบางกรณีจ่ายภาษีหลังการโอนขายที่มีกำไรหรือมีส่วนต่างกำไร แต่กรณีของนายเรืองไกร กรมสรรพกรกลับมีคำวินิจฉัยให้จ่ายภาษีทันที่ที่รับโอนแม้ว่าจะเป็นการรับโอนในราคาพาร์เช่นกันก็ตาม

อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาให้ดีว่ากรณีที่นำมาพิจารณานี้เข้าข่ายกระทำทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ เพราะมีหลักเกณฑ์การละเว้นไม่นำมาคำนวณภาษี ได้จนกว่าผู้ซื้อจะนำหุ้นที่ได้รับโอนไปขาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีมติให้สอบสวนเรื่องนี้ต่อ โดยพล.ต.อ.ประทิน กล่าวว่า เนื่องจากรับฟังข้อมูลของนายเรืองไกรรวมไปถึงการยกตัวอย่างที่เหมือนกันที่ผ่านมาต้องจ่ายภาษีหมด แต่มีกรณีที่นายเรืองไกรร้องเรียนถึง กรณี คุณหญิงพจมานเท่านั้นที่ไม่ต้องจ่าย ซึ่งอาจจะเข้าข่ายละเว้นการเก็บภาษีและการกระทำผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามความผิดทางกฏหมายอาญามาตรา 154 และ 157

รวมทั้งให้สอบหากรณีอื่นเทียบเคียงว่าต้องจ่ายภาษีในกรณีเดียวกันอีกไหม เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการดำเนินเอาผิดมากขึ้น ว่ากรมสรรพกรปฏิบัติหน้าที่หลาย มาตรฐาน โดยครั้งหน้าให้เชิญนายวิชัย จึงรักเกียติ ที่เป็นรองอธิบดีสมัยนั้นซึ่งมีอำนาจลงนามและวินิจฉัยให้นายเรืองไกรจ่ายภาษี และเชิญนายจุรินทร์ ผลสะอาด นักวิชาการ 7 กรมสรรพกรปัจจุบันมาชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น