xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์ขาดแคลนแรงงานรุนแรง ตัดใจผ่อนผันกฎ-หันพึ่งผู้อพยพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฮรัลด์ ทรีบูน – มาเลเซีย หนึ่งในประเทศผู้นำเข้าแรงงานมากที่สุดในเอเชีย อาจต้องหันไปพึ่งผู้อพยพเพื่อชดเชยแรงงานที่ขาดแคลนอยู่ถึง 400,000 คน จากมาตรการเนรเทศแรงงานเถื่อนของรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว

ปลายปี 2004 รัฐบาลมาเลเซียเริ่มต้นกวาดล้างแรงงานที่ลักลอบเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากกังวลกับปัญหาสังคม ทว่า มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นดาบสองคม สร้างปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำขึ้นมาแทน

สหพันธ์นายจ้างมาเลเซียเผยว่า ภาคเกษตรกรรม ภัตตาคาร และโรงงานขนาดกลาง ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเบ็ดเสร็จ 350,000-400,000 คน และปัญหานี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนเสือเหลือง

ปัจจุบัน อัตราว่างงานของมาเลเซีย ซึ่งเป็นฐานการผลิตของโมโตโรลา และอินเทลจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.5% ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากไทย ในบรรดา 5 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียน และแรงงานจำนวนมากต้องการทำงานนั่งโต๊ะ

ชัมซุดดิน บาร์ดาน ผู้อำนวยการบริหารสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเกือบ 4,000 แห่งที่ว่าจ้างพนักงาน 1.4 ล้านคนในประเทศ ชี้ว่ามาเลเซียไม่ได้ขาดแคลนแรงงาน แต่ปัญหาอยู่ที่คนมาเลย์เกี่ยงงานหนัก

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ได้ส่งแรงงานเถื่อน 398,758 คนกลับบ้าน ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย ตามมาตรการตรวจจับที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมการระงับการว่าจ้างพนักงานเพิ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ เพื่อสกัดการไหลเข้าของแรงงานต่างด้าว

บริษัทต่างๆ จึงถูกจำกัดให้ว่าจ้างได้เฉพาะพวกที่หลงเหลือจากการกวาดล้าง ตลอดจนพวกที่กลับมาในฐานะแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปีที่แล้ว รัฐบาลยังลดระยะเวลาการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน

กระนั้นก็ดี ขณะนี้ ทางการกัวลาลัมเปอร์อนุญาตให้บริษัทท้องถิ่นเริ่มว่าจ้างแรงงานเวียดนาม ปากีสถาน พม่า อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา ไทย และฟิลิปปินส์ได้แล้ว เพื่อผ่อนเพลาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

หนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทมส์ยังรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของรองนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ว่าตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป รัฐบาลจะอนุญาตเป็นการเร่งด่วนสำหรับคำขอว่าจ้างแรงงานต่างด้าว จากเดิมที่ต้องใช้เวลายื่นคำร้องและอนุมัตินานถึง 4 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม แรงงานใหม่อาจไม่ได้รับการบรรจุเร็วอย่างที่คาดไว้ และผู้ที่ถูกส่งกลับประเทศอาจมีปัญหาในการกลับเข้ามาเลเซียใหม่ในฐานะแรงงานถูกกฎหมาย ดังนั้น ทางออกชั่วคราวในขณะนี้จึงน่าจะเป็นผู้อพยพ

เดือนที่ผ่านมา โวลเกอร์ เติร์ก ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำกัวลาลัมเปอร์ เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียยอมรับผู้อพยพ 400,000 คนเข้าทำงาน

ฟงชานออน รัฐมนตรีทรัพยากรบุคคล แสดงทัศนะว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในขณะนี้ค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น หากผู้อพยพสามารถแสดงใบผ่านงานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ รัฐบาลก็ไม่ขัดข้อง

ทั้งนี้ กฎระเบียบ ค่าธรรมเนียมแอบแฝง และต้นทุนอื่นๆ เป็นอุปสรรคขัดขวางแรงงานอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ถูกส่งกลับประเทศ ในการขอรับเอกสารจากเมืองเกิดเพื่อกลับมาทำงานอย่างถูกต้องในมาเลเซีย

ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวที่เดินทางอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาทำงานในแดนเสือเหลืองเพิ่มขึ้น 19% เป็น 1.47 ล้านคน หรือ 14% ของแรงงานทั้งหมด โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานอิเหนาถึง 70% ตามด้วยเนปาล 10% และอินเดีย 5.4%
กำลังโหลดความคิดเห็น