xs
xsm
sm
md
lg

ภาพเหมารวมสื่อมวลชน : Media Stereotypes

เผยแพร่:   โดย: ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคสังคมอุดมปัญญา (Knowledge Based Society) ที่ความรู้เกิดจากการรู้จักใช้ข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายอย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทัน เราไม่สามารถขอปลีกวิเวก หรือเลี่ยงที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อได้เลย

สภาพความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนในสังคม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้สื่อชนิดใหม่เกิดขึ้นมามากมาย เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตประจำวัน จนเกิดภาพเหมารวมต่อสื่อขึ้น

ความหลากหลายของสื่อ

ปัจจุบันสื่อมิได้มีแต่สื่อมวลชนที่มีมาแต่อดีต แม้แต่ป้ายโฆษณาริมถนน การประกาศข่าวในศูนย์การค้า หรือการส่งข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือ SMS ก็ทำหน้าที่เป็นสื่อในความหมายอย่างกว้างตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีการออกประกาศจริยธรรมป้ายโฆษณา จริยธรรม SMS

การออกความเห็นใน SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือในกระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ ทางอินเตอร์เน็ตหรือเวบบอร์ด ซึ่งเป็นสื่อในความหมายของคนทั่วไป ยังสงสัยกันอยู่ว่าการแสดงความคิดเห็น หรือการโวตในการสำรวจทางอินเตอร์เน็ตมีความเที่ยงแท้น่าเชื่อถือได้มากเพียงใด

ทฤษฎีจิตวิทยายืนยันว่าการแสดงออกทางพฤติกรรมในการแสดงความคิดเห็นของความคิดเห็นเชิงบวกกับความคิดเห็นต่อต้านนั้นมีแรงขับที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงพบอยู่ทั่วไปในแทบทุกสังคมว่า คนเห็นด้วยจะเป็นพลังเงียบ คนคัดค้านก็จะคัดค้านออกมาชัดเจน แต่ทุกวันนี้ ผลการส่งสารข้อความสั้นๆ นี้กลายเป็นเครื่องชี้นำสังคมได้อย่างน่าตกใจ

หากเราไม่ทำความเข้าใจลักษณะของภาพเหมารวมต่อสื่อแต่ละชนิด จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อรอบตัว เนื่องจากผู้ผลิตสื่อเหล่านั้น มีบทบาทและหน้าที่ที่ต้อง “รับผิดชอบ” ต่อสังคมแตกต่างกัน

ในทางสังคม หากเรามีภาพเหมารวมเป็นอคติในการสื่อสารกับผู้อื่น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความแตกต่างจากเราในด้านต่างๆ ทั้งทางความรู้ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ กำลังถูกแบ่งแยกให้เป็น 2 ขั้ว เช่น พรรคการเมือง และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝืนหลักธรรมชาติ ที่มีความหนึ่งเดียวและมีความหลากหลาย (มากกว่าหนึ่ง) ไปพร้อมๆ กัน หากคนในสังคมยังมีภาพเหมารวมแยกเป็น 2 ขั้วก็ไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ สันติสุขของคนในสังคมจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ตามอุดมการณ์สมานฉันท์

อะไรคือภาพเหมารวม

“ภาพเหมารวม” มาจากคำว่า “stereotypes” ใช้ในความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงการตัดสินบุคคล และเหตุการณ์ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยการตัดสินนั้นอาศัยการประเมินผิวเผินจากกลุ่มที่สังกัดอยู่ หรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเท่านั้น

อีกคำที่คล้ายคลึงและเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันกับคำว่าภาพเหมารวม คือคำว่า “อคติ” (prejudice) ที่เป็นการตัดสินเอาจากความระแวงสงสัย โดยมิได้ใช้สติสัมปชัญญะมากนัก เช่น ตัดสินเอาจากเชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศ จากอคติที่มีทำให้เกิดภาพเหมารวมขึ้นได้ง่ายๆ

ทั้งสองคำใช้ในการอ้างอิงแสดงถึงผลจากการตัดสินบุคคล และเหตุการณ์ โดยตัดสินเอาจากกลุ่มที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ หรือสิ่งที่มักปรากฏซ้ำๆ แต่กล่าวได้ว่า ภาพเหมารวมเป็นที่มาของ “การรับรู้ที่ผิดพลาดทางสังคม”

จากการศึกษาพบว่ามีการใช้คำว่า ภาพเหมารวมครั้งแรกราว 80 กว่าปีก่อน คือในปี ค.ศ. 1922 โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันชื่อ “วอลเตอร์ ลิปป์แมน” (Walter Lippman) เพื่ออธิบายการตัดสินบุคคลโดยอาศัยความเป็นชาติพันธุ์ (ethnic) ของผู้นั้น แต่ปัจจุบันนี้ นำคำว่าภาพเหมารวมไปใช้กว้างขวางถึงการอธิบายตัดสินบุคคลอื่นโดยอาศัยจากความเป็นกลุ่มเดียวกันของคน 1

นักจิตวิทยา (Nisbett, 1980) พยายามอธิบายภาพเหมารวมว่าเป็นความเข้าใจผิดพลาดของสมองคนเราในการรับรู้บุคคลอื่น เหมือนกับความผิดพลาดของสมองคนเราในการรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เป็นผลจาก “ภาพลวงตา” (visual illusion)

ภาพเหมารวมก็มีนัยที่คล้ายคลึงกับคำว่า “อคติ” ทั้งสองสิ่งนี้เป็น “กำแพงขีดขวาง” ในการสื่อสารของคนเรา เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหรือรับรู้ “ความจริงแท้” (truth) และทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ขึ้น

สังคมทุกวันนี้ ให้ “ความหมาย” ต่อ “ความสวยงาม” ที่แตกต่างกันไป และนับวันจะหลากหลายและแตกต่างกันยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับการที่คนในสังคมที่มีความเชื่อต่อพระเจ้าแตกต่างกัน บางสังคมเชื่อว่าพระเจ้ามีหนึ่งเดียว แต่บางสังคมเชื่อว่าพระเจ้ามีมากกว่าหนึ่ง ขณะที่สังคมอื่นอาจจะเชื่อว่าไม่มีพระเจ้า หลักการของความแตกต่างนี้ ปรากฏและได้รับการยอมรับในสังคมและรัฐธรรมนูญที่ว่าคนไทยมีอิสระเสรีภาพในการนับถือศาสนา

บางคนรวย บางคนไม่รวย (แต่เขาเองอาจถือว่าตนรวย เพราะนิยามคำว่ารวยต่างกัน) และบางทีก็เข้าขั้นจนอย่างหนัก เราเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรม แต่เหตุใดคนเราจึงมีแนวโน้มให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว เช่นอย่างการให้ภาพเหมารวมต่อสื่อมวลชน และจะเกิดอันตรายในการรับรู้หรือการเรียนรู้ของเราได้อย่างไร

Media Stereotypes ภาพเหมารวมในสื่อ

การพิจารณาถึงลักษณะของ “ภาพเหมารวมในสื่อมวลชน” (media stereotypes) อาจแบ่งได้ 2 ประเด็น คือ ประการแรก ภาพเหมารวมของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น แหล่งข่าว ผู้ที่ตกเป็นข่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

สื่อมวลชนที่ไม่ตระหนักในจริยธรรมวิชาชีพมีภาพเหมารวมต่อบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าว ตอกย้ำซ้ำๆ กัน บางกรณี “สื่อมีการวาดภาพ” (media portrayal) ผู้ที่ตกเป็นข่าวออกมาให้ปรากฏในข่าวเหมือนๆ กันไป เช่น เด็กเร่ร่อนมีนิสัยชอบขโมย นักศึกษาขายตัวหาค่าเทอม ผู้หญิงถูกเอาเปรียบเสมอ เกย์มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ ผู้ชายเป็นใหญ่ ตำรวจรังแกประชาชนและชอบรีดไถ แม่ค้าขายของชั่งน้ำหนักไม่เต็ม นักข่าวไม่น่าไว้ใจ เป็นต้น

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละกรณีข่าว แต่ละเหตุการณ์ย่อมแตกต่างกัน เพราะมีปัจจัยและสภาพแวดล้อมในเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ในเรื่องนี้ เป็นที่มาให้สื่อถูกสังคมตัดสินว่าด่วนชิงตัดสินเป็นศาล

แม้สื่อจะแย้งว่าภาพเหมารวมเหล่านี้เป็นการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมก็ตาม แต่คนทำสื่อจะต้องมองข้ามไปอีกขั้นและตระหนักให้ดีว่า สื่อมีสามารถแสดงบทบาทได้ทั้งช่วยแก้ไข หรือช่วยซ้ำเติม ที่คนทำสื่อเลือกได้เพื่อให้สังคมดีขึ้น ประเด็นนี้ผู้อ่านต้องสามารถแยกแยะและรู้เท่าทัน

อีกประการคือ ผู้รับสื่อเหมารวมสื่อทุกชนิดเป็นสื่อมวลชน และให้ภาพเหมารวมว่าสื่อมวลชนทำร้ายสังคม โดยมิได้นึกถึงว่าสื่อมวลชนอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ มีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจมิชอบ การเอาเปรียบ และผดุงความยุติธรรมในสังคม

ความเข้าใจภาพเหมารวมในสื่อ ทั้งสองประเด็นนี้ช่วยให้ผู้เปิดรับสื่อรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งกลับเป็นผลดีต่อผู้เปิดรับสื่อเองทั้งสิ้น

ต้องแยกแยะมิใช่เหมารวม

คนในสังคมต้องแยกแยะสื่อ ก็เพราะกิจกรรมเกี่ยวกับกับสื่อมีวัตถุประสงค์ที่คาดหวังและต้องการจากผู้รับสื่อที่แตกต่างกัน

สังคมที่รู้เท่าทันและใช้สื่อเป็น ต้องสามารถแยกแยะสื่อมวลชน โดยไม่เหมารวมว่าหากเป็นกิจกรรมที่ปรากฏในสื่อมวลชนแล้ว ต้องมีวัตถุประสงค์หรือต้องทำหน้าที่อย่างเดียวกันเสมอไป

หลักวิชาชีพของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสื่อ แม้มีเป้าหมายเพื่อการสื่อสารกับมวลชนเช่นเดียวกัน แต่มีกระบวนการและเทคนิควิธีที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาจะเน้นสร้างจุดเด่นโดยความจริงบางส่วน แต่ขณะที่ความจริงอีกส่วนหนึ่งจัดวางไว้ไม่เด่น หากไม่สังเกตก็แทบจะไม่เห็นเลย จึงมีหลายๆ ครั้งที่เรารู้สึกเหมือนว่าถูกโฆษณาหลอกลวง พบได้บ่อยในรายการส่งเสริมการขายต่างๆ

ประเภทหลักๆ ของสื่อสารมวลชน (Mass Communication) คือ หนังสือพิมพ์ และวิทยุและโทรทัศน์ ส่วนสื่ออื่นๆ จัดเป็นสื่อสารเฉพาะกิจ (Specialized Communication) ใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง คือการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาด การรณรงค์ เป็นต้น

สื่อสารเฉพาะกิจอาจส่งสารผ่านสื่อสารมวลชนหรือไม่ก็ได้ เช่น แผ่นพับ โปสเตอร์ป้ายคัตเอาต์ แต่ส่วนใหญ่สื่อสารเฉพาะกิจส่งสารผ่านสื่อสารมวลชน เช่น โฆษณาในหนังสือพิมพ์ โฆษณาในวิทยุกระจายเสียง โฆษณาในโทรทัศน์ สื่อสารเฉพาะกิจเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างจุดเด่นให้ผู้รับสื่อเกิดความสนใจในสินค้าและบริการ ที่สำคัญให้เกิดพฤติกรรม หรือทัศนคติตามที่ต้องการ

มีผู้ตั้งคำถามว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยคณะที่เปิดสอนวิชาเหล่านี้อยู่ในคณะเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันได้อย่างไร ความเหมือนกันประการหนึ่งของการสื่อสารมวลชน และการใช้สื่อเฉพาะกิจ อย่างการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารการตลาด การสื่อสารธุรกิจ การสื่อสารรณรงค์ก็ตามที คือเป็น “ศาสตร์และศิลป์แห่งการสื่อสาร” ที่สามารถนำไปใช้ในเป้าหมายที่ต่างกัน

ในขณะที่หนังสือพิมพ์มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เรื่องบันเทิง โฆษณา เป็นส่วนผสม ขณะที่โทรทัศน์นำเสนอความบันเทิงเป็นหลักเมื่อคิดเป็นสัดส่วนข้อมูลข่าวสารและความรู้

ที่สำคัญ สื่อแต่ละชนิดนำเสนอเนื้อหาสาระปนเปกันไป เช่น ข้อเท็จจริง (fact) ความคิดเห็น (opinion) ความจริงแท้ (truth) โฆษณา (advertising) ความบันเทิง (entertainment) เป็นต้น ย่อมแน่นอนว่าหากผู้รับสื่อไม่แยกแยะก็จะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ที่คนทั่วไปเหมารวมว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ทุกเวทีสัมมนาถกเถียงปัญหาใดก็ตาม จึงมักปรากฏว่าสื่อเข้าไปมีส่วนกับปัญหานั้นๆ แทบทุกเวที

ผู้อ่านควบคุมคุณภาพสื่อได้เอง

การรับสื่ออย่างรู้เท่าทันมิใช่เป็นเรื่องไกลเกินฝัน หรือไกลตัว หากเราเลือกที่จะอยู่ในสังคม ก็ต้องฝึกให้มีทักษะสามารถอ่านหนังสือพิมพ์หรือรับสื่อมวลชนอื่นๆ อย่างรู้ทัน แนวทางหนึ่ง คือการร้องเรียนไปยังผู้ผลิตสื่อ และการต่อต้านโดยไม่ซื้อสื่อ รวมทั้งสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อเหล่านั้น

สำหรับผู้อ่านหนังสือพิมพ์สามารถร้องเรียนให้ตรวจสอบจริยธรรมวิชาชีพ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายเอง ได้ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (www.presscouncil.or.th)

ท้ายสุด เมื่อสังคมสื่อสารกันโดยรู้จักแยกแยะ ไม่มีภาพเหมารวม และปราศจากอคติ เชื่อว่าปัญหาสังคมหลายปัญหาจะบรรเทา เช่น การเมืองไร้สาระ ค่านิยมคนรุ่นใหม่ไร้คุณธรรม หรือแม้สถานการณ์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติกำลังดำเนินการแก้ไขก็จะลุล่วง สันติสุขและสมานฉันท์จะบังเกิดในสังคมไทย

*************
1 Jandt, Fred E. (2003). An Introduction to Intercultural Communication : Identities in a
Global Community. (4 th edition), USA : Sage Publications
กำลังโหลดความคิดเห็น