เพราะปี พ.ศ. 2546 เป็นปีครบศตวรรษแห่งการจากไปของ Paul Gauguin พิพิธภัณฑ์ Galeries Nationales du Grand Palais ที่กรุงปารีสจึงจัดงานแสดงภาพวาดของ Gauguin เป็นเวลานาน 14 สัปดาห์ และจุดสนใจของงานแสดงคือภาพวาดชื่อ D'o? sommes-nous (มนุษย์มาจากไหน) ซึ่งเป็นผลงานที่ Gauguin ภูมิใจที่สุด และปัจจุบันภาพนี้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์แห่งเมือง Boston ในสหรัฐอเมริกา
พอล โกแกง เกิดที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2391 บิดามารดามีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีฐานะปานกลาง เมื่อพระเจ้าหลุยส์นโปเลียน (ผู้เป็นพระราชนัดดาของจักรพรรดินโปเลียน) ขึ้นครองราชย์ บิดาของโกแกงได้อพยพครอบครัวหนีภัยการเมืองเพื่อไปประเทศเปรู แต่ขณะเดินทางบิดาได้เสียชีวิต เด็กชายโกแกงจึงใช้ชีวิตอยู่ที่กรุง Lima นานประมาณ 4 ปี แล้วอพยพกลับฝรั่งเศสอีก เพื่อเข้าศึกษาต่อที่เมือง Orllans กับ Paris เมื่ออายุได้ 17 ปี โกแกงได้สมัครเป็นทหารเรือ และใช้ชีวิตร่อนเร่ในทะเลนาน 6 ปี จึงได้กลับฝั่ง และมีอาชีพค้าหุ้น และเขาได้พบว่า เขาเริ่มสนใจศิลปะภาพวาด โดยเฉพาะภาพประเภท Impressionism ของ Pizzaro มาก และเมื่อเห็นว่าผู้คนสนใจซื้อภาพที่เขาวาด เขาจึงเลิกงานหุ้นมาดำรงชีวิตเป็นจิตรกรสมัครเล่นแทน
ในปี พ.ศ. 2426 ฝรั่งเศสประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ Gauguin จึงตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นจิตรกรเต็มตัว โดยได้ไปฝึกวาดเพิ่มเติมที่ห้องภาพของ Pizzaro แต่เมื่อเขานำภาพไปขายที่ Copenhagen ในเดนมาร์ก เขาขายภาพไม่ได้เลย จึงตัดสินใจเดินทางกลับฝรั่งเศส และในช่วงเวลานี้สไตล์การวาดภาพของ Paul Cezanne และ Edgar Degas ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อ Gauguin มากขึ้นๆ และเวลาอากาศในกรุงปารีสหนาว Gauguin มักคิดถึงอากาศที่อบอุ่นใน Lima ที่เขาเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก ด้วยเหตุนี้เขาจึงระบายภาพโดยใช้สีสด และวาดภาพต่างๆ โดยให้มีขอบภาพ แต่ไม่มีเงาใดๆ ซึ่งสไตล์การวาดภาพเช่นนี้เรียก Synthetism หรือ Piclorial Symbolism
ในวัยหนุ่ม Gauguin เคยเป็นเพื่อนกับ Vincent van Gogh แต่จิตรกรทั้งสองคนมีสไตล์การวาดภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีปากเสียงเกี่ยวกับวิธีวาดภาพบ่อย จนในที่สุด Gauguin ได้ทิ้ง van Gogh ไป ทำให้ van Gogh ตกอยู่ในสภาพเศร้าซึม จนต้องฆ่าตัวตายในที่สุด
เมื่อโกแกงมีอายุได้ 41 ปี ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่ยอมรับ โดยได้นำผลงานออกแสดงที่ Paris World Exhibition และเขาเริ่มสนใจชีวิตกับศิลปะของชาวตะวันออก จึงได้เดินทางไป Tahiti และได้สมรสกับสตรีชาวเกาะชื่อ Tehura เพราะชีวิตและวัฒนธรรมของชาว Tahiti ประทับใจเขามาก ดังนั้น ภาพที่วาดในช่วงเวลานี้ จึงมีสีสดใสและเกี่ยวกับชีวิตบนเกาะเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาได้ล้มป่วยหนักจึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อเข้ารับการรักษาตัว การได้รับมรดกจากลุงทำให้โกแกงมีฐานะดีขึ้น แต่เมื่อห้องภาพถูกอันธพาลบุกทำลาย เขาจึงได้หวนกลับ Tahiti อีก และได้เข้าพิธีสมรสกับสาวชาวเกาะคนใหม่
ในปี พ.ศ. 2440 Gauguin วาดภาพ "มนุษย์มาจากไหน" เสร็จ โดยได้รวบรวมความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และสภาพแวดล้อมอย่างลงตัว ภาพมีคนชาติต่างๆ เช่น คนเปอร์เซีย อียิปต์ กรีก และเอเชีย ที่มีรูปแบบง่ายเสมือนเป็นภาพวาดฝีมือเด็ก ทั้งนี้เพราะ Gauguin คิดว่าศิลปะเป็นนามธรรมที่ไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนธรรมชาติจริงๆ
หลังจากวาดภาพมนุษย์มาจากไหนเสร็จอีกหนึ่งปีต่อมา Gauguin ได้พยายามฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จ เขาจึงอพยพไปอาศัยบนเกาะ Marquesas และได้ยุยงชาวเกาะให้ต่อต้านการเข้ายึดครองของคนยุโรป ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่เกาะเพ่งเล็งมาก
ชีวิตในบั้นปลายของโกแกงลำบากมาก เพราะตาบอด และป่วยด้วยโรคซิฟิลิสจึงได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ขณะมีอายุ 54 ปี และศพของเขาได้ถูกนำไปฝังที่หมู่บ้าน Hiva Oa บนเกาะ Tahiti เพราะนั่นเป็นสถานที่ที่เขารักมากที่สุด
ณ วันนี้ โลกยอมรับแล้วว่า Gauguin เป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่ได้ทิ้งแสงสีและความศิวิไลซ์ไปวาดภาพชาวเกาะ ต้นมะพร้าวและคลื่นในทะเลใต้ เขาจึงเป็นคนที่ปฏิเสธ "อารยธรรม" ตามแนวคิดของคนทั่วไป
ในหนังสือ The Way to Paradise ที่ Mario Vargas Llosa นักประพันธ์ชาวเปรูได้เรียบเรียงนั้น Llosa ได้ชี้ให้เห็นว่า Gauguin เป็นคนที่มีคุณธรรมแต่ไม่ยึดติดศาสนาหนึ่งศาสนาใด และชอบใช้ศิลปะเป็นทางออกในการปลดทุกข์ และเหตุผลนี้เองที่ทำให้เขาหนีปารีสไปสู่เกาะ Tahiti แต่ชีวิตของโกแกงบนเกาะ ก็ใช่ว่าจะเป็นสุข 100% ทั้งนี้เพราะชาวเกาะได้รับวัฒนธรรมของฝรั่งเศสไปมาก Gauguin จึงหนีเกาะ Tahiti ไปอยู่ที่เกาะ Marquesas และเสียชีวิตที่นั่น โดยได้ทิ้งภาพวาดไว้มากมายให้เราทุกวันนี้ได้เห็น "สวรรค์" ที่ Gauguin ในขณะที่มีชีวิตอยู่ไม่เคยเห็น
ไม่เพียงแต่ Gauguin เท่านั้นที่สนใจถามว่า "คนเรามาจากไหน?" เพราะนักวิทยาศาสตร์ก็สนใจใคร่รู้เช่นกัน
ซึ่งความรู้ปัจจุบันนั้นก็แน่ชัดแล้วว่า มนุษย์ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในแอฟริกา แต่นักมานุษยวิทยาก็ใคร่รู้เพิ่มเติมว่า จากแอฟริกามนุษย์ได้ใช้เส้นทางใดในการแพร่พันธุ์ทั่วโลก และคนในแต่ละชาติมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกันอย่างไร
Vincent Macaulay แห่งมหาวิทยาลัย Glasgow ในอังกฤษเชื่อว่า จาก Eritrea ในแอฟริกา มนุษย์ได้อพยพผ่านทะเลแดง อินเดีย มาเลเซียสู่ออสเตรเลีย เพราะทีมวิจัยของ Macaulay ได้วิเคราะห์ mitochondrial DNA (mt DNA) ของมนุษย์พื้นเมืองในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ใน Eurasia และ Australia จนพบว่า หากถือว่าปริมาณการกลายพันธุ์ของ DNA ขึ้นกับเวลา มนุษย์คนแรกได้เดินทางถึงมาเลเซียเมื่อ 65,000 ปีก่อนนี้ และการที่มนุษย์จากแอฟริกาเดินทางลงใต้โดยไม่ผ่านแหลม Sinai หรือข้าม Arabia นั้น ก็เพราะดินแดนแถบนั้นเป็นทะเลทราย และมนุษย์กลุ่มนี้ได้เดินทางถึงออสเตรเลียในอีก 2,000 ปีต่อมา ทั้งนี้เพราะได้มีการขุดพบกระดูกของมนุษย์อายุ 46,000-50,000 ปีที่ทะเลสาบ Mungo ในออสเตรเลีย
ส่วนมนุษย์ที่อพยพสู่ยุโรปนั้น ก็มีเช่นกัน เพราะได้มีการขุดพบกระดูกคนอายุ 31,000 ปี ที่ถ้ำ Mladec ในสาธารณรัฐเช็ก ดังรายงานที่ปรากฏในวารสาร Nature ฉบับที่ 435 หน้า 332 เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมานี้
และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้ องค์การ National Geographic Society กับบริษัท IBM ของสหรัฐฯ ได้อนุมัติโครงการ Genographic Project มูลค่า 1,600 ล้านบาท เพื่อแสวงหาคำตอบว่ามนุษย์กระจายเผ่าพันธุ์อย่างไร และเกี่ยวพันกันเช่นไร
โครงการนี้คาดหวังจะค้นหาตัวอย่าง DNA จากชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลก เพื่อจะประกอบกันเข้าให้รู้ลำดับความเป็นมาของชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลกด้วย
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน