xs
xsm
sm
md
lg

UNหวั่นดบ.สูง-ยอดขาดดุลมะกัน คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – ยูเอ็นเผย อัตราดอกเบี้ยสูงและยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่โป่งพองของสหรัฐฯกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

รายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของฝ่ายกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยวานนี้ (29) ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวแผ่วลงอยู่ที่ 3% จาก 4.1% ในปี 2004

กระนั้นก็ดี รายงานเรื่อง “สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2005” ระบุอีกว่า บรรดาแบงก์ชาติ ซึ่งเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อยับยั้งภาวะเงินเฟ้อ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่านี้

รายงานกล่าวต่อว่า ส่วนต่างดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯ ซึ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 195,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อาจก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก หากภาวะขาดดุลนั้นไปถึงจุดที่นักลงทุนไม่ต้องการหนี้สินสกุลดอลลาร์อีกต่อไป พร้อมเสริมว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์ยังไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่โป่งพอง

นอกจากนี้ รายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจส่วนใหญ่จะชะลอตัวในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในทางตรงกันข้ามมีแนวโน้มว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เฟื่องฟู

ทั้งนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวราว 5% ในปีนี้และปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจแดนมังกรจะเติบโตในอัตรา 9% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกอันแข็งแกร่งและการลงทุนจำนวนมหาศาล

ยูเอ็นยังคาดการณ์อีกว่า การขยายตัวของแอฟริกาจะสูงกว่า 5% ในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกน้ำมันและดีมานด์อันร้อนแรงของสินค้าโภคภัณฑ์อื่น

กล่าวได้ว่า ราคาน้ำมันแพงกลายเป็นผลดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ทว่าต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอาจทำลายการเติบโตของโลกและทำให้ดีมานด์อ่อนตัวลง ทั้งนี้รายงานแนะว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันควรใช้เงินที่หามาได้ เพื่อป้องกันเศรษฐกิจของตนจากภาวะผันผวนของราคาพลังงาน

รายงานยังระบุว่า อัตราดอกเบี้ยสูงอาจทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวลง “แต่ละประเทศควรรักษานโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะอ่อนตัวของเศรษฐกิจในอนาคต”

อนึ่ง รายงานช่วงครึ่งปีฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นพร้อมๆกับการเริ่มประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปีของสภาเศรษฐกิจและสังคมของยูเอ็นวานนี้ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจและผลกระทบที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น