xs
xsm
sm
md
lg

นายธนาคารเชื่อน้ำมันแพงอีกนาน รักษาระดับที่ 60 ดอลล์ต่อบาร์เรล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – ที่ประชุมบีไอเอสคาด ราคาน้ำมันดิบจะยังคงอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไปอีกหลายปี และจะยิ่งบั่นทอนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก

บรรดาธนาคารกลางจากหลายชาติที่เข้าร่วมในการประชุมนัดพิเศษระหว่างการประชุมประจำปีของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังอ่อนแอลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งทะยานขึ้นถึง 60% ในปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงแข็งแกร่งและสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ก็ตาม

ทว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและความผันผวนของตลาดพลังงานกำลังเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับบรรดาผู้เข้าประชุมครั้งนี้อย่างชัดเจน

เอ็ม.เจ. โมจาร์รัด รองผู้ว่าธนาคารกลางอิหร่านกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ในระยะสั้นนั้น เราคาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ที่ราว 60 ดอลลาร์ แต่หากปัจจัยต่างๆ ด้านซัปพลาย ดีมานด์ และสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์เอื้ออำนวย ตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันอาจดิ่งลงอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

เขาเสริมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนต้องการให้บรรดาผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และผู้บริโภคหันมาพูดคุยกันเกี่ยวกับการขจัดอุปสรรคทางการเมืองเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำมันในอิหร่านและอิรัก พร้อมทั้งควบคุมดีมานด์ในประเทศที่มีการขยายตัวร้อนแรงอย่างจีนและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ลงความเห็นว่า ยังไม่มีทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในปัจจุบัน

“เราต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ราคาน้ำมันจะมีราคาสูงต่อไปอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า” มาร์ติน เรดราโด ผู้ว่าธนาคารกลางอาร์เจนตินากล่าว

ปัญหานี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดกันว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4% ในปีนี้ หลังเติบโตสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษเมื่อปี 2004

คลอส ลิบเชอร์ ผู้ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แจงว่า “ปัญหานี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและต่อแนวโน้มเรื่องภาวะเงินเฟ้อ”

ด้านวอลเตอร์ แคนเซลลา ผู้ว่าการธนาคารกลางอุรุกวัยชี้ว่า “สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ความไร้สมดุลต่างๆในระดับโลก ราคาน้ำมัน และท่าทีของสหรัฐฯในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณ รวมถึงอนาคตข้างหน้าของอัตราดอกเบี้ย”

ทั้งนี้สหรัฐฯ และจีนกลายเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงทางเศรษฐกิจระดับโลก เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงเงินกู้จากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล โดยยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นถึง 670,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 5.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2004 นั้น ได้รับการอุดหนุนส่วนใหญ่จากการที่เอเชียเข้าซื้อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัวหรือแบบจัดการเอาไว้

การซื้อสินทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาลนี้เอง ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นถึง 3.4% อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่สิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม โดยมีจีนเป็นผู้นำแถวหน้าในการเพิ่มทุนสำรองเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไว้ที่ราว 8.28 หยวนต่อดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมจากธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลังจากหลายประเทศจึงวิตกว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของกระแสการเงินเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพของตลาดการเงิน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการให้จีนปรับค่าเงินเพื่อบรรเทาความตึงเครียดนี้

ด้านโจวเสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวยอมรับต่อที่ประชุมบีไอเอสว่า จีนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจีนหันมาเน้นเศรษฐกิจที่พึ่งพาตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่จีนจะปรับค่าเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น