xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเกินดุลการค้าญี่ปุ่นลดฮวบ 68.3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ยอดเกินดุลการค้าแดนซามูไรเดือนพฤษภาคมดิ่งต่ำใหญ่สุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวสร้างความหวั่นวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อีกทั้งราคาน้ำมันที่ทะยานสูงยังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายการนำเข้าสินค้า

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยวานนี้ (22) ว่า ยอดเกินดุลการค้าเดือนพฤษภาคมอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้ อยู่ที่ 296,990 ล้านเยน (2,700 ล้านดอลลาร์) ดิ่งลง 68.3% จากปีที่แล้ว ถือเป็นการลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2001 ซึ่งช่วงนั้นยอดเกินดุลดิ่งลง 86.8%

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านเยน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1.4% โดยการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตกลง 10.1% และการส่งออกชิปลดลง 34.6%

ขณะที่ยอดการนำเข้าสินค้าถีบตัวสูงขึ้น 18.6% อยู่ที่ 4.5 ล้านล้านเยน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสูงขึ้นถึง 64.9% และ 72.6% ตามลำดับ

โทชิโอะ สุมิทานิ นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยโทไค โตเกียวชี้ว่า “อัตราการขยายตัวของภาคการส่งออกกำลังชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกในเอเชีย” พร้อมเสริมว่า “ดีมานด์จากจีนหรือสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ดียังไม่มีความเสี่ยงใดที่บ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง”

เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้หลังจากเข้าสู่ภาวะหดตัวในช่วงกลางปี 2004 โดยมีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งที่ 1.2% ในช่วงไตรมาสแรก และมีอัตราการขยายตัวต่อปี 4.9%

สุมิทานิอธิบายว่า เป็นเพราะความแข็งแกร่งของดีมานด์ในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ช่วยส่งเสริมการเติบโตโดยรวม แม้ภาคการส่งออกสูญเสียตำแหน่งตัวขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดก็ตาม

เขาเสริมต่อว่า “ญี่ปุ่นไม่เหมือนกับสหรัฐฯ ที่ประชากรกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เราหวังพึ่งเพียงแค่ดีมานด์ภายในประเทศซึ่งมีการขยายตัวจำกัดได้ แต่ดีมานด์จากต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น”

รายงานระบุอีกว่า ตัวเลขเกินดุลการค้ากับเอเชียตกลงถึง 40.2% อยู่ที่ 354,700 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 15.8%

นอกจากนี้ ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นกับจีนเพียงประเทศเดียว ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 265,200 ล้านเยน โดยการส่งออกดิ่งลง 0.1% นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สวนทางกับการนำเข้าที่ไต่ขึ้น 18.9%

อย่างไรก็ดี สุมิทานิชี้ว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในตอนนี้ว่า ความรู้สึกต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในจีนส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมหรือไม่

ด้านการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่นเสียเปรียบดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน โดยอยู่ที่ 31,900 ล้านเยน เมื่อเทียบกับยอดเกินดุลในปีที่ผ่านมาที่ 37,100 ล้านเยน ถือเป็นการขาดดุลครั้งแรกนับแต่เดือนมกราคม

ส่วนยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.5% อยู่ที่ 511,900 ล้านเยน เนื่องจากการส่งออกสูงขึ้น 3.4% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.4% ขณะที่ยอดเกินดุลกับสหภาพยุโรปร่วงลง 27% อยู่ที่ 174,600 ล้านเยน โดยการส่งออกลดลง 3.2% ขณะที่การนำเข้าพุ่งขึ้น 8.3%

อาคิโอะ โยชิโนะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากโซซิเอเต้ เจเนราล แอสเส็ต แมเนจเมนต์ชี้ว่า ขณะที่การส่งออกสินค้าต่างๆอาทิ รถยนต์ ไปยังสหรัฐฯค่อนข้างมั่นคง แต่การส่งออกไปเอเชียที่ชะลอตัวยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น