xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มภาคการเงินอิสลามสดใส แนะสร้างสินค้าใหม่-พัฒนาบุคคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – การบริการด้านการเงินอิสลามกำลังเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วทั่วโลก ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุ ต้องเอาชนะความท้าทายหลายประการในอุตสาหกรรมนี้ ก่อนที่จะแข่งขันกับการบริการด้านการเงินที่มีอยู่

เป็นที่คาดกันว่า ธุรกิจโลกซึ่งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับกฎหมายทางศาสนาของมุสลิม จะมีมูลค่าระหว่าง 200,000-300,000 ล้านดอลลาร์ และจะเติบโตในอัตราเลขสองหลักต่อปี

ขณะที่คาดกันว่า บรรดารัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากโลกมุสลิม ซึ่งจะหารือร่วมกันในวันพฤหัสฯ (23) และวันศุกร์ (24) จะอนุมัติแผนการหลักระยะ 10 ปี เพื่อช่วยให้ประเทศมุสลิมมีการพัฒนาภาคการธนาคารอิสลามของตน

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์มองว่า บรรดาอุปสรรคของอุตสาหกรรมการธนาคารประกอบด้วย การขาดแคลนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมในหลายๆอุตสาหกรรม การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะ และต้นทุนผลิตภัณฑ์สูง

ตัวอย่างหนึ่งคือ สายการบินโลว์คอสต์แอร์เอเชีย ซึ่งกำลังเจรจากับแบงก์ต่างชาติและท้องถิ่นทั้งที่เป็นแบงก์อิสลามและแบงก์ทั่วไป เพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ320 ราว 60 ลำ มูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์

กามารุดิน เมรานัม ผู้อำนวยการบริหารของแอร์เอเชียกล่าวว่า “แบงก์ทั่วไปส่วนใหญ่ให้ข้อเสนอเป็นการกู้ระยะยาว เพื่อสอดคล้องกับช่วงการใช้งานของเครื่องบิน ขณะที่เครื่องมือทางการเงินอิสลามปัจจุบันเป็นเพียงการจัดหาเงินในระยะสั้นถึงระยะกลางเท่านั้น”

ด้านเซติ อัคห์ตาร์ อาซิซ ผู้ว่าการธนาคารกลางแดนเสือเหลืองกล่าววานนี้ (21) ในงานประชุมธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลามว่า สถาบันการเงินอิสลามต้องตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นของลูกค้า

เซติกล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอิสลามส่วนใหญ่เป็นการลอกแบบจากเครื่องมือทางการเงินแบบเดิมที่มีอยู่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม พร้อมเสริมว่า ภาคการธนาคารต้องดึงดูดแรงงานที่มีการศึกษา และสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ตลอดจนช่วยกระตุ้นแผนการก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศด้านการเงินอิสลาม

อนึ่ง บริการทางการเงินอิสลามครอบคลุมตั้งแต่การลงทุนทั่วไป กองทุนหุ้น พันธบัตร และเฮดจ์ฟันด์อิสลาม การทำสวอป ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆก็กำลังจะตามออกมา

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกำลังการเป็นที่ชื่นชอบของอุตสาหกรรมการธนาคารโลก อีกทั้งแบงก์ต่างชาติชั้นนำอย่าง ซิตี้แบงก์ และเอชเอสบีซี ต่างกำลังมุ่งเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมนี้ เพื่อเสนอเครื่องมือทางการเงินอิสลามเป็นทางเลือกในธุรกิจหลักของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น