xs
xsm
sm
md
lg

พี่ๆ น้องๆ ในมหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์


ไม่เข้าใจว่าทำไมในมหาวิทยาลัยบ้านเราจึงต้องมีการนับกันเป็นพี่เป็นน้องด้วย?

ผู้ที่เข้ามหาวิทยาลัยก่อนหนึ่งปีหรือสองปีถือว่าเป็น "รุ่นพี่" ส่วนผู้ที่เข้ามหาวิทยาลัยภายหลังเรียกว่า "รุ่นน้อง" อย่างนั้นหรือ?

เรื่องนับกันอย่างนี้ไม่ได้เป็นความจริงตลอดไป! คนที่เข้าเรียนทีหลังที่ถือว่าเป็น "รุ่นน้อง" อาจก้าวหน้าในชีวิตการงานต่อมา ล้ำหน้าผู้ที่ถือตัวว่าเป็น "รุ่นพี่" ก็ได้!

ได้เคยพบคนผู้หนึ่งซึ่งพูดอย่างขมขื่นว่า "ผมเคยเป็นรุ่นพี่เขา ผมอยู่ปีสามแล้ว เขาจึงได้เข้ามาเป็นเฟรชชี่ แต่เดี๋ยวนี้ได้กลายเป็นเจ้านายผมไปเสียแล้ว!"

ในชีวิตจริงๆ ความเป็นพี่เป็นน้องในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้มีความหมายจริงจังอะไรเลย! แล้วทำไมมหาวิทยาลัยของเราจึงปล่อยให้มีการเรียกขานกันอยู่เช่นนี้!

แสดงว่ามหาวิทยาลัยของเรา ไม่ได้สอนความจริงของชีวิตให้นิสิตนักศึกษาเลย ใช่ไหม?

อีกประการหนึ่งช่วยอธิบายให้กระจ่างว่า การต้อนรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยมีคุณประโยชน์อันใดจึงเลิกไม่ได้ นอกจากมีความเกรงกลัวนักศึกษาลูกศิษย์เท่านั้นเอง

ต้องบอกเสียก่อนว่า ผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ม.ธ.ก. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะว่าใครเป็นรุ่นพี่ใครเป็นรุ่นน้อง และใน ม.ธ.ก. ไม่เคยมีการต้อนรับ "น้องใหม่!"

ขอให้สังเกตว่าผมไม่ได้อ้างว่าผมเคยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์! เพราะไม่แน่ใจเสียแล้วว่า ธรรมศาสตร์กับธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่สืบเนื่องต่อกันมา!

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่า มีนักศึกษาธรรมศาสตร์คณะหนึ่ง มีงานต้อนรับน้องใหม่ ซึ่งก็อุจาดเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เหมือนกัน!

นี่แสดงว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ มธ.ทุกวันนี้ได้ตัดขาดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ม.ธ.ก.โดยสิ้นเชิงแล้ว!

กลับมาที่คำถามเดิมที่ว่า การต้อนรับ "น้องใหม่" ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกวันนี้ มีประโยชน์แก่การศึกษาอะไรบ้าง?

ตรงกันข้ามการต้อนรับน้องใหม่ ทำให้ผู้ที่เพิ่งก้าวเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ต้องเผชิญกับความบ้าอำนาจ การกดขี่ข่มเหง การบังคับขู่เข็ญ การกดขี่ทางเพศ ความลามกและอนาจาร และความเลวร้ายต่างๆ นานา

พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ควรคู่กับสถาบันทางปัญญาของสังคมเลย!

ยิ่งไปกว่านั้นความประพฤติเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับค่านิยมของสังคมปัจจุบัน! เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรับรองในรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั่นเอง!

ขอให้ดูภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพการรับน้องใหม่แบบ "ปั่นกล้วย" ซึ่งจะเห็นแจ้งชัดว่าลามกอุจาดสักเพียงไหน!

ถึงขนาดนี้แล้ว อาจารย์ซึ่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ยังช่วยแก้ตัวแทนนักศึกษาว่า เป็นภาพเก่าถ่ายเมื่อปีที่แล้ว เป็นภาพที่ถ่ายจากด้านหลัง จึงทำให้ดูเหมือนนักศึกษาชายหญิงใกล้ชิดกัน!

อาจารย์ระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนั้นยังกล่าวต่อไปว่า นักศึกษาที่แสดงท่าทางเช่นนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะส่อไปในทางลามกอนาจาร!

อาจารย์ผู้นั้นคงหลับตาพูดเสียแล้ว! เพราะถ้าลืมตามอง ก็คงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องลามกอนาจารแท้ๆ ทีเดียว!

ภาพนักศึกษาชายยืนแอ่นตัว! เอามือกดหัวนักศึกษาหญิงไว้! อย่างนี้ไม่เห็นว่าเป็นการลามกอนาจาร ก็เกินไปแล้ว!

มีอาจารย์สตรีผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้สอนวิชาสตรีศึกษาในมหาวิทยาลัย เห็นภาพนี้แล้ว ก็ส่ายหน้าบอกว่า "ที่ไม่เข้าใจก็ตรงที่ว่า ทำไมนักศึกษาหญิงเหล่านี้จึงยอมแสดงท่าอย่างนั้นด้วย? เป็นการแสดงว่าผู้หญิงบ้านเรา ขนาดเป็นถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยกันแล้ว กลับยอมรับการดขี่ทางเพศ และพร้อมที่จะแสดงท่าทางเช่นนั้นในที่สาธารณะ!"

โลกปัจจุบันเขากำลังต่อต้านการคุกคามทางเพศ หรือที่เรียกว่า Sexsual Harassment แต่การต้อนรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยบ้านเรากลับแสดงว่า นักศึกษาหญิงถูกบังคับให้แสดงท่าทางยอมรับการคุกคามทางเพศอย่างเปิดเผย!

นี่แสดงถึงความด้อยพัฒนาของมหาวิทยาลัยของเรา! ซึ่งหลุดจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ดีๆ อย่างเรื่องสิทธิสตรีทีเดียว!

มหาวิทยาลัยเมืองไทยมีความประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือมีความคลั่งผูกพันกับ "คณะ" ซึ่งเป็นเรื่องพิสดารกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วโลก ที่เขาไม่ได้ให้ความสำคัญแก่คณะหรือสาขาวิชาหรือภาควิชาเท่าใดเลย

อันที่จริงคำว่า "คณะ" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Faculty ซึ่งมีความหมายถึงคณาจารย์ ฉะนั้นคำว่า "คณะ" จึงควรเป็นสำนักหรือที่รวมของคณาจารย์สาขาวิชานั้นมากกว่า

แต่คำว่า "คณะ" ในมหาวิทยาลัยเมืองไทย กลับมีความหมายไปอีกทางหนึ่ง เป็นความผูกพันของนิสิตนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชานั้น

คณะได้กลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตนิสิตนักศึกษาตลอดจนศิษย์เก่า ซึ่งมีความผูกพันอย่างรุนแรงในฐานะเป็นหมู่คณะ ถึงขนาดว่าเมื่อเป็นคณะ "ของเรา" จึงต้องวิเศษหรือดีกว่า คณะ "ของเขา" ทีเดียว

นี่ก็คงสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์แคบๆ แบบไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งชอบอ้างอิงตัวเองให้เข้ากับกลุ่มของตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นในชีวิต

นักศึกษามหาวิทยาลัยไทย ถ้าปราศจากความผูกพันกับคณะเสียแล้ว ก็คงรู้สึกอ้างว่างเปล่าเปลี่ยวเป็นอย่างยิ่ง!

สมัยไปเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศ เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ครั้งหนึ่งมีผู้เพิ่งไปจากเมืองไทยคนหนึ่ง ได้ปริญญาตรีจากเมืองไทยแล้ว และจะไปเรียนต่อระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในสหรัฐฯ

เมื่อผู้นั้นมาถึงใหม่ๆ ได้เป็นผู้พาผู้นั้นเดินชมบริเวณมหาวิทยาลัย ผ่านตึกเรียนสาขาวิชาที่เขาเคยเรียนมาในชั้นปริญญาตรีและจะมาต่อปริญญาโทในสาขาวิชานั้นด้วย เมื่อมองเห็นชื่อตึกเรียนซึ่งมีชื่อของสาขาวิชานั้น ก็เอ่ยปากบอกว่าเป็นตึกเรียน ของ "คณะ" ของเขา!

ฟังดูแล้วรู้สึกขัดหู! เพราะมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขาไม่มีเรื่อง "คณะ" แต่คนไทยเรียนจนจบปริญญาตรีแล้ว กำลังจะเรียนต่อที่เมืองนอกเมืองนา ก็ยังบ้าเรื่อง "คณะ" ไม่ยอมเลิก!

ความประหลาดของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเมืองไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องร้องเพลงเชียร์!

ทำไมต้องซ้อมร้องเพลงเชียร์หนักหนาสาหัสกันถึงปานนั้นด้วย? หรือเป็นโอกาสที่รุ่นพี่จะได้ "ว้าก" ซึ่งเป็นการแสดงกิริยากักขฬะต่อรุ่นน้องได้เท่านั้นเอง!

อันที่จริงการเชียร์เป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบการแข่งขันกีฬาเท่านั้นเอง แล้วทำไมจึงต้องไปให้ความสำคัญกับการเชียร์มากมายนักด้วย?

สมัยที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่ ม.ธ.ก. นั้น ถึงคราวจะมีการแข่งขันฟุตบอล จุฬาฯ- ธรรมศาสตร์ ก็มีการซ้อมเพลงเชียร์เหมือนกัน ซ้อมกันในห้องประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ซึ่งอยู่ที่ชั้นบนตึกโดมด้านทิศเหนือ

จำได้ว่า ไปยืนมองดูเขาซ้อมร้องเพลงกัน รับแจกเนื้อเพลง "มอญดูดาว" แล้วก็กลับออกมา ไม่มีการบังคับให้ซ้อมร้องเพลงเชียร์ใน ม.ธ.ก.หรอก!

ถึงเวลาก็ใส่เสื้อสีมหาวิทยาลัย ไปเชียร์ฟุตบอลประเพณี ที่สนามศุภชลาศัย ก็ร้องเพลงเชียร์กับเขาได้เหมือนกัน!

ทุกวันนี้เวลาผ่านไปร่วม 40 กว่าปีมาแล้ว ก็ยังฮัมเพลง "มอญดูดาว" ได้อยู่!

เมื่อมีเรื่องอื้อฉาวเรื่องรับน้องใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ผู้หนึ่ง ซึ่งต่อต้านเรื่องรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย

อาจารย์ผู้นั้นบอกว่า นักศึกษาที่บ้าเรื่องการรับน้องใหม่มักเป็นพวกปีสอง เพราะเพิ่งผ่านพ้นการถูกกดขี่ทารุณของรุ่นพี่มา จึงคิดหาทางรับน้องใหม่ให้พิสดารและอุจาดหนักยิ่งขึ้น เมื่อได้โอกาสขึ้นปีสอง จึงระบายออกมาในการต้อนรับน้องใหม่รุ่นต่อไป

แสดงว่าการต้อนรับน้องใหม่ซึ่งทารุณอุจาดขึ้นมาเรื่อยๆ นั้น เพราะเป็นการระบายความเก็บกดที่เคยถูกรุ่นพี่ทำกับพวกตนมาก่อน จึงคิดทำกับนักศึกษารุ่นต่อไปนั่นเอง!

การที่กระทรวงศึกษาธิการจะออกกฎข้อบังคับอะไรนั้น จริงๆแล้วก็คงทำไม่ได้ผลเท่าใดนัก คงเหมือนไฟไหม้ฟางเสียมากกว่า

ส่วนครูอาจารย์นั้น จริงๆ แล้วก็คงเห็นดีเห็นงามไปด้วย เวลาเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาก็ออกมาพูดปกป้องแก้ตัวให้! หรือมิฉะนั้นก็ได้แต่เพียงมาหลั่งน้ำตาด้วยความอัปยศแทนลูกศิษย์เท่านั้นเอง!

ทางที่ดีเราต้องช่วยกันปลุกระดมนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นต่อไป ไม่ให้ยอมรับการกดขี่ของพวกรุ่นพี่เมื่อก้าวเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย

เราต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่ เป็น "กบฏ" เสียเลยดีกว่า! สอนให้เขาเหล่านั้นเป็นตัวของตัวเอง! ไม่ยอมรับการกดขี่ของผู้ที่สำคัญตัวผิดคิดว่ามีอำนาจเพราะเป็นเพียงรุ่นพี่!

ถ้ารุ่นพี่ใช้ "กฎหมู่" กับพวกกบฏเหล่านี้ เราจะได้เห็นกันสักทีว่าครูบาอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีปัญญาปกป้องผู้ถูกรังแกได้หรือไม่!

มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งที่สอนให้คนเราได้ตระหนักในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์! ไม่ใช่เป็นแหล่งที่สอนให้คนยอมตัวเป็นทาส ที่ต้องก้มหัวยอมรับความไม่ถูกต้องและความหยาบโลนต่างๆ

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องชี้นำให้เด็กเป็น "กบฏ" ไม่ยอมรับความไม่ถูกต้องและความป่าเถื่อนกันบ้างแล้ว!

ความเป็นพี่เป็นน้องและการต้อนรับน้องใหม่ในสถานอุดมศึกษาของเราทุกวันนี้ ได้ทำลายปัจเจกลักษณะ หรือ individuality ของนิสิตนักศึกษาของเรา เพียงเพื่อให้เกิดความกลมกลืน หรือ conformity ของหมู่คณะเท่านั้นเอง!

แต่นั่นคงไม่ใช่เป้าหมายอันแท้จริงของอุดมศึกษาของเรา ใช่ไหม?
กำลังโหลดความคิดเห็น