xs
xsm
sm
md
lg

“อับดุลเลาะห์”เตือนชาติมุสลิม มุ่งพัฒนาศก.สู่การรวมกลุ่มสมาชิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียชี้ ชาติมุสลิมต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกัน พร้อมระบุความท้าทายสำคัญคือความไร้สมดุลระหว่างประเทศสมาชิก

นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวีแห่งแดนเสือเหลืองยังให้คำมั่นในที่ประชุมการค้าอิสลามระหว่างประเทศขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) วานนี้ (20) ที่เมืองปุตราจายาอีกว่า จะมีการลงนามในข้อตกลงระบบการค้าสิทธิพิเศษแบบใหม่ระหว่างประเทศสมาชิกโอไอซี 14 ประเทศจากทั้งหมด 57 ประเทศภายในปีนี้ด้วย อันเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างชาติสมาชิกโอไอซี

“การรวมกลุ่มเช่นนี้จะทำให้โอไอซีมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและมีอิทธิพลมากขึ้นในกิจการระหว่างประเทศ” เขากล่าว

อับดุลเลาะห์ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวขึ้นอยู่กับชาติสมาชิกเองว่า ระบบการค้าสิทธิพิเศษแบบใหม่นี้จะถูกนำไปใช้ได้ประสบผลสำเร็จหรือไม่

“ผมหวังว่า ระบบนี้จะถูกนำไปปรับใช้หรือแทนที่ระบบเดิมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมระหว่างประเทศสมาชิกกำลังพัฒนา” พร้อมเสริมว่า วิธีนี้เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่งคั่ง

ด้านราฟิดาห์ อาซิซ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซียเสริมว่า เมื่อมีการนำระบบการค้าสิทธิพิเศษมาใช้ในปลายปีนี้ จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างชาติสมาชิกที่เหลืออีก 43 ประเทศ

พร้อมเผยว่า ประเทศที่มีการลงนามและให้สัตยาบันในข้อตกลงกรอบโครงดังกล่าวไปแล้ว คือ มาเลเซีย อิหร่าน ตุรกี บังกลาเทศ ตูนิเซีย เลบานอน ลิเบีย อียิปต์ ปากีสถาน แคเมอรูน อินโดนีเซีย กินี จอร์แดน และยูกันดา

ภายใต้ระบบใหม่นี้ ประเทศต่างๆ จะลดกำแพงภาษีตามกระบวนการ 3 ขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันก็จะมีกลไกสำหรับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนควบคู่กันไป

เธอแจงว่า “ด้วยวิธีนี้ เราจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดและการเข้าถึงแบบปลอดภาษีระหว่างกันในระยะยาวได้มากขึ้น”

ราฟิดาห์เผยต่อว่า การเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกันยายนนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีในการลดภาษี และช่วงเวลาในการบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าว พร้อมเสริมว่า ร่างสัญญาขั้นต้นจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน

นอกเหนือจากเรื่องระบบการค้าแล้ว นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ยังกล่าวว่า รัฐบาลและชุมชนธุรกิจจะต้องพัฒนาสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่เดิมอาทิ ธนาคารอิสลาม และหอการค้าเพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมการให้บริการด้านการเงินอิสลามต่างๆ อาทิ พันธบัตรและกองทุนรวม รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนผลิตภัณฑ์และการบริการฮาลาลด้วย

ผู้นำมาเลเซียย้ำต่อว่า ความท้าทายครั้งใหญ่ประการหนึ่งที่โอไอซีกำลังเผชิญคือ ความไร้สมดุลอย่างมากทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ควรมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อคนระหว่างชาติสมาชิก เป็นภาวะจำเป็นสำหรับการร่วมมือกันมากกว่าเป็นอุปสรรค

เขาอธิบายว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อคนในชาติสมาชิกร่ำรวย 6 ประเทศนั้นมีมากกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ประเทศสมาชิกอีก 45 ประเทศกลับมีรายได้ต่อปีโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์ พร้อมชี้ว่า อัตราการว่างงานของสมาชิกโอไอซีอยู่ในช่วงตั้งแต่ 3%ไปจนถึงราว 20%

อับดุลเลาะห์ยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงด้านการศึกษา โดยชี้ว่า ในอดีตนักวิชาการอิสลามเคยได้รับเงินอุดหนุนเป็นจำนวนมหาศาล แต่ปัจจุบันกลับลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้เขายกตัวอย่างว่า จากประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคนของชาติสมาชิกกลับมีนักวิทยาศาสตร์น้อยกว่า 300,000 คน เมื่อเทียบกับสหรัฐฯที่มีถึง 1.1 ล้านคน และญี่ปุ่น 700,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น