xs
xsm
sm
md
lg

ต้นธารแห่งความมั่งคั่ง (1)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ระหว่างวันที่ 19-29 พ.ค. 2548 ผมได้รับเชิญพร้อมกับนักเขียนอีกเกือบ 30 คนจากสิบกว่าประเทศ ไปท่องมณฑลเจ้อเจียง

สำหรับผมแล้ว การเดินทางไปจีนครั้งนี้ กินเวลานานที่สุด และเจาะลงลึกที่สุด โปรแกรมที่เจ้าภาพจัดไว้ เป็นเส้นวงกลม เริ่มต้นที่เมืองหังโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง วกลงไปยังเมืองจินหัว ที่ตั้งของเมืองภาพยนตร์เหิงเตี้ยน และเมืองอี้อู ศูนย์การค้าส่งผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของจีน และกำลังอยู่ในระหว่างการขยายให้ใหญ่ที่สุดของโลก

จากนั้น ก็วกลงใต้ไปยังเมืองเวินโจว ศูนย์รวมของสุดยอดนักการค้าจีน ที่ได้ชื่อว่า “ยิวแห่งจีน” (และเป็นที่มาของ “โมเดลเวินโจว” แบบฉบับของการดำเนินพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีน) ซึ่งที่นั่นเราได้กระทบไหล่นักธุรกิจเจ้าของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรมชั้นนำของจีน หูเฉิงจง ผู้ผันตัวเองจากลูกช่างตัดเสื้อมาเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรม เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์ส่งยานอวกาศเสินโจวที่เมืองจิ่วเฉวียนเลือกใช้ อันเป็นเครื่อง “การันตี” ชั้นยอดถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์แบรนด์เนม “เต๋อลี่ซี”

“เต๋อ” ที่หมายถึงคุณธรรมในจิตใจที่มุ่งรับใช้สังคม สนองตอบสังคม

“ลี่” ที่หมายถึงพลังศักยภาพแห่งการคิดค้น และสร้างสรรค์

“ซี” ที่หมายถึงเป้าหมายระยะยาว ต้องเอาชนะตะวันตกให้ได้

ออกจากเต๋อลี่ซี คณะของเราได้แวะชมความงามของสายน้ำหนันซีเจียง และหมู่บ้านโบราณแห่งลุ่มน้ำ สัมผัสชีวิตอันสงบสนิทของชนบทจีน และชมอุปรากรจีนโบราณ “คุนจวี้” อายุพันปี บนเวทีเก่าแก่แต่แข็งแรงที่มีอายุไล่เลี่ยกัน

จากการแนะนำ “คุนจวี้” คือรูปแบบแรกเริ่มของอุปรากรจีนเมืองหลวงหรืองิ้วปักกิ่งในปัจจุบัน

ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองไทโจวหรือไถโจว คณะของเราได้เข้าพักในหุบเขา “เอี้ยนตั้งซัน” อุทยานธรณีวิทยาแห่งชาติของจีน ที่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว “AAAA” ซึ่งถือว่าสุดยอดของแหล่งท่องเที่ยว ที่รัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุน

ที่เมืองไทโจว คณะของเราได้พบปะกับนักเขียนและกวีท้องถิ่น ที่มีผลงานมาฝากเราเป็นตั้งๆ มีการเปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนแนวคิดของกันและกันเป็นการเฉพาะ บรรยากาศแห่งวรรณกรรม “ข้ามชาติ” เข้มข้น มีการขับขานกาพย์กลอนสลับกับเสียง “กันเปย” ชนจอกไวน์แดง ซึ่งกันและกันเป็นระยะๆ

ก่อนลาจากเมืองไทโจวกลับสู่หังโจว คณะของเราได้แวะเยี่ยมวัดกั๋วชิงเจี่ยงซื่อ ณ เชิงเขาเทียนไทซัน วัดเก่าแก่อายุเกือบ 1,500 ปี (สร้างขึ้นในราชวงศ์ซุย)

วัดนี้มีประวัติใกล้ชิดกับศาสนาพุทธของญี่ปุ่นมาก ชาวญี่ปุ่นถือว่า ที่นั่นคือแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนา(สายเทียนไท)ญี่ปุ่น ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นจำนวน 4-5 หมื่นคน เดินทางมาสักการะที่วัดนี้ทุกปี

ในบริเวณวัดมีหลักศิลาจารึกเป็นภาษาญี่ปุ่นตั้งอยู่ เป็นที่เก็บรักษาหลักฐานการติดต่อระหว่างพุทธศาสนิกญี่ปุ่นกับวัดนี้

11 วันในเจ้อเจียง คณะของเรา (1 ใน 3 คณะ) ได้ตระเวนตั้งแต่เหนือจดใต้ แล้ววกกลับขึ้นมายังหังโจวอีกที เป็นรูปวงกลม (อีก 2 คณะ ตระเวนไปตามเส้นทางอื่นที่ทางเจ้าภาพกำหนดให้ โดยแยกกันภายหลังการเยี่ยมชมเมืองภาพยนตร์เหิงเตี้ยนแล้ว) กินระยะทางยาวไกลที่สุด

เราเดินทางโดยรถยนต์ ตลอดเส้นทางส่วนใหญ่เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์หรือทางด่วน (ภาษาจีนว่า “เกาซู่กงลู่” มีจุดเก็บเงินค่าใช้ทางเป็นระยะๆ และมีอุโมงค์ให้รถวิ่งลอดภูเขาอยู่เป็นระยะๆ ถี่มาก

มีคณะเจ้าหน้าที่ของแต่ละเมืองมารับ-ส่งเราเป็นช่วงๆตลอดเส้นทาง ทำเหมือนกันการวิ่งผลัด มีการส่งต่อไม้กันเป็นทอดๆ เฉลี่ยแล้วพวกเขาจะอยู่คลุกคลีกับเราชุดละ 2-3 วัน ทำท่าจะสนิทสนมกันแล้วก็ต้องอำลาจากกันไป ด้วยเสียง “ไจ้เจี้ยน” (จากพวกเขา) และ “เซี่ยๆ” (จากพวกเรา)

รู้สึกใจหายเป็นห้วงๆ

ขณะที่บนรถก็มีเจ้าหน้าที่ระดับมณฑลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตลอดสาย รวมทั้งล่ามหนุ่มสาว ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทจากภาคภาษาต่างประเทศมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง มหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับ 3 ของจีน (ต่อจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและชิงหัว) พวกเขาอายุยังน้อย ยี่สิบต้นๆ บุคลิกร่าเริงแจ่มใส คล่องแคล่ว เอาจริงเอาจัง มีความสามารถในการแปลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สร้างสีสันให้แก่การเดินทางของเราอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งแน่ละ ในวันสุดท้ายที่หังโจว ที่เราจะต้องเดินทางกลับ(บางคนก็ยังท่องจีนต่อ แต่ส่วนใหญ่กลับบ้าน) การอำลา ระหว่างเรากับเพื่อนคนจีนเจ้าภาพ และระหว่างเราเพื่อนนักเขียนจากประเทศต่างๆ ก็เป็นไปอย่างอ้อยอิ่ง ไม่เพียงจับมือกันแน่น ก่อนจะโบกมือลา แต่บางครั้ง (กับบางคน) ถึงกับผวาเข้าสวมกอด พร้อมกับคำสั่งลาว่า “โชคดีนะ”

การติดต่อกันทางอีเมลไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะได้พบปะเจอะเจอกันอีก ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่

ธรรมชาติ วัฒนธรรม และ “ต้นธารแห่งความมั่งคั่ง”

ตั้งแต่เริ่มต้น ผู้เขียนตั้งใจไว้ว่า การเดินทางท่องมณฑลเจ้อเจียงคราวนี้ จะเน้นการ “รับรู้” ตรงกับสิ่งและเรื่องราวต่างๆตลอดเส้นทาง แล้วถ่ายทอดออกมา ทางความรู้สึก

สิ่งสัมผัสแรกของผู้เขียนเมื่อเดินทางถึงหังโจว ก็คือความรู้สึกเย็นสบายของอากาศปลายฤดูใบ้ไม้ผลิ

มันต่างจากความรู้สึกเย็นวูบๆของอากาศบ้านเรา ที่เป็นความเย็นยากลม เป็นเย็นในร้อน และเมื่อไม่มีลมเย็น อากาศก็ร้อนสนิท อบอ้าวอีกต่างหาก

แต่ที่นั่น มันเย็นในเย็น คือเย็นสนิท ไม่มีร้อนปะปนอยู่เลย ยกเว้นในตอนกลางวัน ขณะมีแดด ที่จะมีร้อนแทรกอยู่ในความเย็น

อากาศเย็นที่หังโจว จึงเป็นสิ่งดำรงอยู่ทางธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเมืองหังโจว ที่ใครได้สัมผัสก็จะรู้สึกดี

ผู้เขียนรู้สึกดีมากๆ ครั้งแรกในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 19 เมื่อผู้เขียนเดินออกจากประตูโรงแรม ด้านหน้าและด้านข้าง เป็นลานกว้าง แล้วจึงถึงทางเดินเท้า และถนนใหญ่

บริเวณโดยรอบ และสองฝั่งของทางเดินเท้า มีต้นไม้ใบเขียวขึ้นอยู่เต็ม สายลมพลิ้วพาอากาศเย็นพัดใบไหวเอนไปมา

อากาศและสายลมเย็นปะทะเข้ากับใบหน้าของผู้เขียนในทันทีที่ผลักพ้นประตูใหญ่ด้านหน้าของโรงแรมออกไป

สดชื่นดีจัง!

เมื่อเดินพ้นมุมตึก ก็พบว่า ทั่วบริเวณลานกว้างด้านหน้าและด้านข้างโรงแรม มีกลุ่มคนกำลังออกกำลังกายกันอยู่หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะรำมวยจีน (มวยไท่เก๊กหรือไท่จี๋เฉวียน) แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นสตรีวัยกลางคน ฝึกชี่กงตามเสียงจากเทปวิทยุ ที่วางอยู่บนพื้น

บางกลุ่มมีครูสอนด้วย

ผู้เขียนเกือบเข้าไปร่วมก๊วนด้วย (ปกติสนใจฝึกชี่กงอยู่แล้ว) แต่เพราะเวลาอาหารเช้าใกล้มาถึง และเราจะต้องเดินทางร่วมกันไปเที่ยวทะเลสาบซีหู การตรงต่อเวลา ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ดีเป็นเบื้องต้น

ความรู้สึกดีในอากาศเย็นของหังโจว ดำเนินไปเป็นระลอกๆ และประทับอยู่ในความทรงจำ จวบจนกระทั่งเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ก็ยังไม่อาจลืมเลือน

ออกอาการละเมอเพ้อถึงเป็นพักๆ อยู่หลายวัน

คล้ายๆ กับเมื่อปลายปี 2544 เมื่อไปธุระที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน (หยุนหนัน) กว่าจะลืมความเย็นใสของอากาศที่ราบสูงได้ก็กินเวลาเป็นเดือน

โดยทำเลที่ตั้ง มณฑลเจ้อเจียงตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี (ฉางเจียง) ติดกับทะเลจีนตะวันออก อยู่ในเขตอบอุ่น พื้นที่ 1.08 แสนตารางกิโลเมตร (ราว 1 ใน 5 ของประเทศไทย) ประชากร 48 ล้านคน (ราว 2 ใน 3 ของประเทศไทย)

ตามหลักฐานทางโบราณคดี เจ้อเจียงเป็นอู่อารยธรรมโบราณสำคัญแห่งหนึ่งของจีน สืบค้นย้อนกลับไปได้ถึงราวห้าหมื่นปี มีคนยุคหินโบราณที่เรียกว่า “คนเจี้ยนเต๋อ” (เจี้ยนเต๋อเหริน)ดำเนินชีวิตอยู่

คนเจ้อเจียงได้สร้างวัฒนธรรมเฉพาะของตนขึ้นมา บนฐานของการดำเนินชีวิตมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชื่อในด้านการผลิตผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา ทำกระดาษ และต่อเรือ เป็นแหล่งเกิดกวี นักเขียน นักปกครอง และบุคคลที่ทรงคุณค่ามากมาย ที่คนไทยเราได้ยินจนคุ้นหูก็เช่น หลู่ซวิ่น เหมาตุ้น (นักคิด นักเขียน นักประพันธ์) เฉียนเสวียเซิง (นักวิทยาศาสตร์ บิดาแห่งอวกาศจีน) เป็นต้น

“กิมย้ง” ผู้เขียนนวนิยายกำลังภายในสะท้านโลกเรื่อง “มังกรหยก” ก็เป็นคนเจ้อเจียง

ต้นธารแห่งความมั่งคั่ง

ปัจจุบันคนเจ้อเจียงกำลังสร้างชื่อทางด้านธุรกิจการค้า เป็นแบบอย่างของผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน

“โมเดลเวินโจว” รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการเป็น “กองหน้า” ที่คนเวินโจวราว 7 ล้านคน พากันสร้างขึ้นมา ได้กลายเป็นหนึ่งในแบบฉบับสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ และเป็นกรณีศึกษาทางวิชาการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนอันดับต้นๆ ที่นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจ

นักวิชาการไทยสนใจหรือเปล่า?

“เต๋อลี่ซี” คือหนึ่งในกรณีศึกษาที่มีลักษณะ “ต้นแบบ” ของ “โมเดลเวินโจว”

โดยภาพรวม “โมเดลเวินโจว” ก็คือแบบฉบับของการสร้างความมั่งคั่งให้แก่สังคมจีนในบริบทของการสร้างสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน ที่พรรคและรัฐบาลจีนกำลังขับเคลื่อนอยู่

สิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจคือ “ต้นธาร” ของการพัฒนาขึ้นมาเป็น “โมเดลเวินโจว” นั้นคืออะไร?

ผู้เขียนจะลองสืบค้นหา “ต้นธาร” ของ “โมเดลเวินโจว” โดยใช้เต๋อลี่ซีเป็นกรณีศึกษา

คาดว่าจะใช้เนื้อที่คอลัมน์ไม่เกิน 3 ตอน ก็จบ

ส่วนเรื่องราวรายละเอียดยิบ จะขอนำเสนอไว้ในเว็บไซต์ผู้จัดการ (www.manager.co.th) หน้า “มุมจีน” คอลัมน์ “ยีนส์แห่งความมั่งคั่ง” โดยจะเริ่มนำเสนอภายในเดือน มิ.ย.นี้ แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น