xs
xsm
sm
md
lg

ความอดทนอดกลั้นเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ชีวิต

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
www.dhiravegin.com
e-mail: likhit@dhiravegin.com

ชีวิตคือการต่อสู้ เป็นคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากตั้งแต่แรกเริ่มในการกำเนิดมาในสภาพของทารก มนุษย์ต้องต่อสู้กับการอยู่รอด ต่อสู้กับความหนาว ความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ ในแง่หนึ่งมนุษย์เป็นสัตว์ที่อ่อนแอที่สุด จะเห็นได้ว่ามนุษย์เกิดมาไม่มีเขี้ยวเล็บ ฟันของมนุษย์ไม่สามารถจะออกล่าเหยื่อได้เช่น เสือ หรือสิงโต หรือจระเข้ มือไม้ของมนุษย์ไม่มีเล็บที่แข็งแกร่งเหมือนเสือ สิงโต หมี หรือสัตว์อื่น กำลังของมนุษย์มีไม่เท่างูเหลือมที่จะรัดสัตว์ให้ตาย มนุษย์ไม่มีเขาอันแหลมคมเหมือนแรดหรือกระทิงที่จะป้องกันตัว และมนุษย์จะต้องถูกเลี้ยงดูประคบประหงมโดยแม่และโดยครอบครัวอย่างน้อย 15 ปี จึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการหากิน ด้วยการล่าสัตว์ในป่า ระหว่างทางที่จะถึง 15 ปีนั้นโอกาสของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมีอยู่มาก

แต่โชคดีที่มนุษย์มีมันสมองคิดได้อย่างมีเหตุมีผลได้มากกว่าสัตว์ มนุษย์จึงรู้จักการทำเครื่องมือ เครื่องทุ่นแรง ทำอาวุธ และเครื่องจับสัตว์เพื่อเก็บไว้กินเป็นอาหาร ทำที่พักอาศัยบนที่สูงเพื่อความปลอดภัย รู้จักใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้มนุษย์จะต้องต่อสู้ด้วยความมานะอดทน รักษาการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ จนสามารถพัฒนาจากความเป็นอยู่แบบล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวมาเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม จนมาในปัจจุบันกลายเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลตามที่ทราบกันอยู่แล้ว

ความสำเร็จของมนุษย์ในการคงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ก็ดี ความสำเร็จในการต่อสู้กับอุปสรรคในการดำรงชีวิตก็ดี ความสำเร็จในชีวิตการงาน ในสังคมที่มีการพัฒนามาตามลำดับก็ดี นอกจากต้องอาศัยสติปัญญา ข่าวสารข้อมูลและความรู้แล้ว สิ่งซึ่งขาดไม่ได้ก็คือความอดทนอดกลั้น หรือความมุ่งมานะบากบั่นเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เช่น เครื่องไม้เครื่องมือในการจับปลาบึก การสร้างศาสนสถานหลุมฝังศพที่ยิ่งใหญ่เช่น พีระมิด กำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันภัยสงคราม การสร้างเขื่อนเพื่อการทดน้ำ เพื่อการชลประทานในสมัยโบราณ ตลอดทั้งการขุดคลองเพื่อการคมนาคมและการขนส่ง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความบากบั่นมานะ มุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีความอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบาก ประเด็นก็คือมนุษย์แม้จะมีความรู้ความสามารถ มีความเก่งกาจ มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล แต่ถ้าขาดความมุมานะ ขาดความอดทนอดกลั้น ย่อท้อเมื่อเผชิญความลำบาก ขาดพลังความมุ่งมั่นในความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ด้วยการอุทิศทั้งพลังความคิด พลังทรัพย์ และจิตวิญญาณ งานใหญ่ก็ยากจะสำเร็จลงได้

ข้อสังเกตก็คือ ในขณะที่ศาสนาพุทธมีคำว่า “ขันติ” ซึ่งหมายถึงความอดทน ภาษาจีนก็มีตัวอักษรที่เขียนเป็นรูปมีดปักบนหัวใจ อ่านเป็นภาษาจีนกลางว่า “เหริ่น” ซึ่งญี่ปุ่นนำคำดังกล่าวมาใช้ว่า นินจา แสดงถึงแนวความคิดเรื่องการอดทน เปรียบเสมือนความปวดร้าวที่มีดปักบนหัวใจ ต้องทนต่อความเจ็บปวดทั้งทางใจ ทนต่อความรู้สึกที่ไม่ชอบ ทนต่อความเหนื่อยยาก และทางคติของจีนเชื่อว่าบุคคลที่สามารถทนต่อความทุกข์ยากลำบากที่สุดของชีวิตจนสามารถผ่านวิกฤตดังกล่าวได้ จะกลายเป็นคนเหนือคน

จากการศึกษาของ วิลเลียม สกินเนอร์ เรื่องสังคมคนจีนในประเทศไทยได้พบว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีนในสังคมไทยนั้น ส่วนใหญ่จะทำงานวันละ 14-16 ชั่วโมง และทุกคนต้องผ่านความล้มเหลวมาในด้านต่างๆ แต่ก็สามารถจะต่อสู้เอาชนะอุปสรรคได้ด้วยความอดทนอดกลั้น ไม่กลัวความยากลำบาก

ความอดทนอดกลั้นนอกจากจะหมายถึงการยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรค ต่อสู้กับความทุกข์ยากที่ต้องตรากตรำทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ที่ต้องทำใจกับความผิดหวัง ความปวดร้าวและความขมขื่นแล้ว ยังมีความหมายที่สำคัญคือ จะต้องมีความหวังและมีศรัทธาว่าจะมีความสำเร็จในวันหนึ่งข้างหน้า ไม่ยอมแพ้หรือยกเลิกกลางคัน ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นก็คือ กษัตริย์องค์หนึ่งแพ้สงครามนอนทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำ ทรงทอดพระเนตรเห็นแมงมุมตัวหนึ่งกำลังชักใยเพื่อทำกับดักสัตว์ที่ต้องการให้ติดใยเพื่อตนจะได้กินเป็นอาหาร แมงมุมตัวดังกล่าวนั้นพยายามชักใยอยู่หลายครั้ง ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง แต่ก็ไม่ท้อถอยพยายามชักใยต่อไปจนประสบความสำเร็จในที่สุด ภาพที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นนั้นได้กระตุ้นให้เกิดความมุมานะ พระองค์จึงทรงลุกขึ้นและรวบรวมกองทัพต่อสู้จนเอาชนะข้าศึก นี่คือตัวอย่างของการไม่ยอมแพ้หรือยกเลิกกิจการใดๆ กลางคันจนกว่าจะได้พิสูจน์จนถึงที่สุดด้วยความมานะบากบั่น และมุ่งมั่น

ความอดทนอดกลั้นยังหมายถึงการยอมรับสภาวะที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อผลที่ใหญ่กว่าในวันข้างหน้า และนี่คือกุญแจสำคัญของผู้ที่ต้องการทำงานใหญ่ มีเรื่องในประวัติศาสตร์จีนเรื่องหนึ่ง โดยมีเนื้อหาสั้นๆ ว่าเจ้าครองนครรัฐหนึ่งแพ้สงครามและถูกจับไปเป็นเชลยอีกเมืองหนึ่ง เจ้าเมืองผู้แพ้ศึกต้องทนต่อความอัปยศ ถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี ถูกดูถูกดูแคลน จนผลสุดท้ายถูกบังคับให้ทรงม้าเพื่อเป็นม้านำให้กษัตริย์ผู้ครองนครนั้นขับขี่ไล่ตามเป็นกระบวน ซึ่งถือเป็นความอัปยศอย่างยิ่งคล้ายๆ เป็นลูกไล่ปลากัด แต่พระองค์ก็กลืนความขมขื่นเอาไว้และคิดว่าวันหนึ่งจะต้องกอบกู้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ได้ เนื่องจากเจ้าครองนครผู้เป็นเชลยนั้นมีความรู้เรื่องทางแพทย์ จึงได้รับอาสาที่จะสั่งยาให้ผู้ครองนครที่จับตนมาเป็นเชลย เนื่องในโอกาสที่ผู้ครองนครนั้นประชวร การจะสั่งยาต้องตรวจอาการและตรวจปัสสาวะและอุจจาระด้วยการใช้ลิ้นแตะอุจจาระเพื่ออ่านอาการไข้จากนั้นจึงสั่งยา ผู้ครองนครเห็นใจจึงได้ปล่อยตัวเชลยซึ่งเป็นผู้ครองนครที่แพ้ศึกกลับเมือง เมื่อผู้ครองนครที่แพ้ศึกกลับเมืองไปนั้นไม่เคยลืมความขมขื่นและความอัปยศที่ได้รับ แทนที่จะบรรทมในพระราชวังกลับบรรทมในคอกม้าที่ปูด้วยฟาง ให้ทหารแขวนดีหมูเอาไว้หนึ่งชิ้น และก็จะอมดีหมูนั้นเพื่อให้ไม่ลืมถึงความขมขื่นเป็นระยะๆ โดยจะมีทหารคอยเตือนว่าจำความขมขื่นได้หรือไม่ ดีหมูมีรสชาติขม เป็นการเตือนให้จำความทุกข์ยาก ความลำบาก ความอัปยศแต่หนหลัง ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เพื่อไม่ให้ลืมความหลัง จากนั้นก็ซุ่มฝึกกำลังทหาร ซ่องสุมอาวุธ รวมทั้งซุ่มฝึกกองทัพ และเมื่อโอกาสเหมาะก็ยกกองทัพออกไปโจมตีเมืองที่เคยชนะตนจนประสบความสำเร็จ นี่คือตัวอย่างของความมานะบากบั่น อดทนอดกลั้น ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

ตัวอย่างเป็นที่ทราบกันในปัจจุบันก็คือ ตัวอย่างของคนไทยเชื้อสายจีนที่จากมาตุภูมิด้วยเสื่อผืนหมอนใบ ทำงานหนักขยันขันแข็ง เก็บหอมรอมริบ ใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างฐานะ กินข้าวพร้อมกับข้าวราคาถูกๆ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สามารถทำงานด้วยความขยันขันแข็ง จัดการเรื่องการเงินจนสามารถเซ้งร้าน เซ้งห้องแถว ขยายกิจการเล็กๆ กลายเป็นกิจการใหญ่ๆ ได้ การไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหาความสุข แต่เพื่อหวังผลความเจริญรุ่งเรืองและความสุขได้เมื่อถึงเวลาอันควรนั้น ก็คือการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า to delay immediate gratification ความอดทนอดกลั้นจึงมีความหมายทั้งความขยันหมั่นเพียร ความมานะบากบั่น การอดออม การรอคอยเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่ต้องการจะทำงานใหญ่ไม่ว่าจะด้านใด ผู้ที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องมีความอดทนอดกลั้น มีความมานะบากบั่น และมีความมุ่งมั่นเป็นฐานสำคัญของต่อสู้ชีวิตและการทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น