xs
xsm
sm
md
lg

ภิกษุไม่มีศีล ทหารไม่มีวินัย ผู้ปกครองไม่มีจรรยา จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พระสองวัดในจังหวัดหนองคาย ชักมีดโบวีออกมาฟันกันหูขาด และยกพวกตีกันเหมือนวัยรุ่น สาเหตุเพราะออกบิณฑบาตทับเส้นทางกัน ทหารซึ่งเคยเป็นใหญ่ แต่กลับต้องสงบเสงี่ยมมานาน เพราะบ้านเมืองกำลังจะเป็นประชาธิปไตย ชักเป็นข่าวว่าจะทนไม่ไหว เพราะการเมืองกุมอำนาจมากอย่างเดียวไม่พอ กลับเหม็นหึ่งไปด้วยเรื่องคอร์รัปชัน แล้วพากันแก้ตัวอย่างบัดซบ จนประชาชนเลิกเชื่อถือ ฯลฯ

นี่หรือมิใช่ บ้านเมืองอาเพศ”


ชื่อบทความนี้เป็นคำถามหรือคำตอบ ถ้าเป็นคำตอบก็แปลว่าสิ้นหวัง แต่ถ้าเป็นคำถาม ก็น่าจะถามกันต่อๆ ไป เพื่อจะหาคำตอบ ส่วนจะให้ตอบอย่างมั่นใจว่า บ้านเมืองนี้รักษาไว้ได้แน่ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะถามกันอย่างจริงจังแค่ไหนและจะตอบกันอย่างจริงใจเพียงใด

ถ้าจะถามว่า บ้านเมืองของเรานี้มีมากไหม ภิกษุที่ไม่มีศีล ทหารที่ไม่มีวินัย ผู้ปกครองที่ไม่มีจรรยา ก็คงจะต้องตอบว่าไม่ทราบ แต่ก็คงจะไม่น้อย หาไม่คงจะไม่มีคนบ่นกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าบ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยบุคคลเช่นนี้หรือ คือภิกษุไม่มีศีล ทหารไม่มีวินัย และผู้ปกครองไม่มีจรรยา ตอบว่าไม่ใช่

เมืองไทยของเรานี้ ไม่เลวถึงขนาดนั้น ที่แท้ดีกว่าที่คิด ภิกษุที่มีศีลก็มีมากกว่าภิกษุที่ไม่มีศีล ทหารที่มีวินัยก็มีมากกว่าทหารที่ไม่มีวินัย ไม่ใช่มากเฉยๆ มากมากด้วย เสียแต่ว่าคนหมู่มากนั้นมีอำนาจน้อย คนหมู่น้อยกลับมีอำนาจมากมาก ส่วนผู้ปกครองที่มีจรรยานั้นจะมีมากกว่าผู้ปกครองที่ไม่มีจรรยาหรือไม่ หากจะจำกัดจำนวนผู้ปกครองลงเท่ากับครม. 44 คน ก็ชักจะไม่แน่ใจ เพราะจำนวนคนน้อยเกินไป จึงเป็นเป้าโจมตีได้ง่าย บุคคลใน ครม.ที่ถูกกล่าวหาอยู่ทุกวันนี้ ดูๆ ก็เกือบจะครบ 44 คนอยู่รอมร่อแล้ว รวมไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีด้วย

ถึงอย่างไร อนาคตของบ้านเมืองก็สำคัญเกินกว่าที่จะมอบหมายให้อยู่ในกำมือของบุคคลข้างต้นที่กล่าวมา คงจะต้องช่วยกันทุกฝ่ายทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์ ส.ส. นักการเมือง ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มพลังต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป

เพราะฉะนั้น ก็เห็นจะต้องเอาคนส่วนใหญ่ที่ดีกว่า มาแก้ปัญหาของคนส่วนน้อยที่เลวกว่า และมาแก้ปัญหารักษาบ้านเมืองเอาไว้ด้วย คือ เอาภิกษุที่มีศีล และทหารที่มีวินัยนี่แหละเข้าร่วมกับคนหมู่มาก พากันผ่อนคลายวิกฤต และสร้างสรรค์จรรโลงประเทศชาติ

ภิกษุที่มีศีลนั้น จะส่งเสริมให้ผู้คนเกิดศรัทธาปสาทะ เกิดปัญญาสมาธิและความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ผิดและแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งหลาย รวมทั้งความไร้จรรยาของผู้ปกครองด้วย ในภาคปฏิบัติ จะกระทำเช่นนั้นได้ ไม่เพียงแต่จะสั่งสอนอบรมชาวบ้านเท่านั้น พระสงฆ์จะต้องเลิกทำตัวเป็นหัวคะแนนหรือใช้วัดเป็นเครื่องมือหรือสถานที่ในการซี้อเสียง เพราะหวังเพียงแต่จะรับเงินบริจาคหรือถาวรวัตถุเพื่อจะปฏิสังขรณ์วัด โดยไม่ทันนึกว่านี่เป็นการทำลายชาติทางอ้อม

ทหารที่มีวินัยนั้นจะต้องทั้งเงียบคือไม่เอะอะ และทั้งสงบคือไม่เพ่นพ่าน แต่จะต้องเตรียมพร้อมที่จะเป็นหลักประกันในการรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้ามัวแต่ไปยุ่งเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมือง โดยลงมาเป็นทั้งผู้เล่น ทั้งยังแสดงบทบาทแบบเบ็ดเสร็จ คือเป็นอัยการ ศาล และราชทัณฑ์ทางการเมืองเสียเอง บ้านเมืองจะขาดหลักประกันทันที จะกู้เงินต่างประเทศก็ไม่มีใครเขาให้ จะชักชวนใครเขามาลงทุนเขาก็ไม่กล้าเข้ามา แม้แต่ในบ้านเมืองหุ้นก็ตกดังนี้ เป็นต้น

ทำไมศีลจึงเป็นของคู่กับภิกษุเหมือนวินัยเป็นของคู่กับทหาร ทั้งนี้ก็เพราะศีลนี่แหละที่ทำให้ภิกษุเป็นภิกษุ วินัยนี่แหละที่ทำให้ทหารเป็นทหาร เราคงเคยได้ยินคำพังเพยโบราณว่า ภิกษุที่ไม่มีศีลก็เปรียบเสมือนเปรต กองทัพที่ไม่มีวินัยก็เปรียบเสมือนกองโจร ผู้ปกครองไม่มีจรรยาก็เปรียบเสมือนห่าลง

ศีลของพระภิกษุคืออะไร หรือวินัยของทหารคืออะไร ไม่จำเป็นจะต้องสาธยาย ที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือจรรยาหรือจรรยาบรรณของผู้ปกครอง ผู้ปกครองในที่นี้ก็หมายถึงนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แก่ ส.ส. ส.ว.และครม.นั่นเอง

จรรยาบรรณของนักการเมืองก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความไม่ติดยึดอยู่กับลาภยศสักการะ และผลประโยชน์ส่วนตัวส่วนพรรคพวก การรับฟังเสียงประชาชน ความมีสัจจะและความรับผิดชอบ หิริโอตตัปปะ ความรับผิดชอบของนักการเมืองนั้นกว้างและลึกกว่าความรับผิดชอบของคนธรรมดาหรือข้าราชการทั่วไป ครอบคลุมไปถึงความประพฤติส่วนตัวและการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย กรอบของศีลธรรม และกรอบของจริยธรรม

ทำไมจึงหนักหนาสาหัสถึงเพียงนั้น ก็เพราะความสำคัญของนักการเมืองนั่นเอง ก็เพราะนักการเมืองสามารถทำลายบ้านเมืองได้ทั่วถึงเสมือนห่าลงนั่นเอง มาตรฐานที่จะใช้ตรวจสอบชี้วัดและตัดสินนักการเมืองจึงเฉียบขาดยิ่งกว่ามาตรฐานที่ใช้กับนักบุญเสียอีก สมกับที่มีคำพังเพยว่า สำหรับผู้ต้องหาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ว่าได้กระทำผิด สำหรับนักบุญให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำผิด จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สำหรับผู้ปกครองเพียงแต่ไม่วายสงสัย ก็ให้ถือได้แล้วว่าไม่น่าไว้วางใจ

คนไทยที่มีอายุเกินกึ่งศตวรรษ คงพอจะนึกได้ลางๆ ว่า เวลามีข่าวลือหรือสงสัยว่าห่าจะลงกิน บ้านเมืองเกิดความหวาดกลัวโกลาหลเพียงใด

เราลองมาดูจรรยาบรรณนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยประเทศอื่นๆ เขาดูบ้าง รวมทั้งของอิสราเอล ซึ่งอายุของประชาธิปไตยกับอายุของประเทศเท่ากันพอดีคือ 40 กว่าปี (ของไทยเราเก่าแก่กว่าเป็นไหนๆ ทีหลังจะได้เลิกอ้างกันเสียทีว่าประชาธิปไตยของเรายังไม่เข้ารูป เพราะเวลาทดลองยังน้อยไป) ขอยกตัวอย่างแต่เพียง 3 เรื่อง คือ เรื่องคำพูด เรื่องเงินทองหรือคอร์รัปชัน กับเรื่องชู้สาวซึ่งเป็นเรื่องของความประพฤติส่วนตัว โดยจะเปรียบเทียบกันปนๆ ไปกับของไทยเสียเลย เพื่อประหยัดเนื้อที่

ที่อิสราเอล นายระบินต้องเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป เพราะลืมปิดบัญชีธนาคารในอเมริกา (สมัยที่ไปเป็นทูต) จรรยาบรรณทางการเมืองเขาถือว่า ผู้นำไปมีเงินฝากอยู่ในต่างประเทศไม่ถูกต้อง ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายห้ามก็ตาม ถึงแม้ว่าจำนวนเงินในบัญชีจะคิดเป็นเงินไทยได้แค่ 2-3 พันบาทก็ตาม ของไทยเรารัฐมนตรีคุยทับกันว่า เอทีเอ็มใครจะใหญ่กว่ากัน ถ้าใครมีมากกว่ายอมให้อีกฝ่ายหนึ่งริบของตนเสีย พูดกันเป็นพันๆ ล้าน รัฐมนตรีคนหนึ่งบอกว่าต้องแจกราษฎรทุกเดือนๆ ละห้าแสนบาท

แกรี่ฮาร์ทแห่งสหรัฐฯ เสียโอกาสเป็นประธานาธิบดีไปเพราะไปมีเรื่องอื้อฉาวกับสาวสังคม จอนโปรฟูโมต้องลาออกจากรมว.กลาโหมอังกฤษเพราะไปติดนางในโทรศัพท์ หรืออดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องเสียตำแหน่งไปเพราะเคยมีความสัมพันธ์กับเกอิชา ของไทยเราไม่สู้จะถือ สังคมหรือผู้หญิงมักจะสมยอม ข่าวที่ว่าวุฒิสมาชิกผู้หนึ่ง หรือรัฐมนตรีอีกหนึ่งเป็นผู้คอยจัดคิวสาวให้รักษาความเป็นหนุ่มของผู้นำการเมืองเป็นเรื่องซุบซิบในทางที่น่าชื่นชมมากกว่าจะรังเกียจ

เรื่องของการพูดไม่อยู่กะร่องกะรอย หรือการพูดพล่อยๆ ก็ทำให้ผู้นำการเมืองในอเมริกา ในอังกฤษ ในญี่ปุ่นพลาดตำแหน่งหรือตกกระป๋องมานักต่อนักแล้ว เพียงแต่พูดว่าตนถูกล้างสมอง ตอนนั้นตนยังไม่ทันคิด หรือบอกว่าตำราของกระทรวงศึกษาญี่ปุ่นว่าด้วยความสัมพันธ์กับเกาหลีนั้นถูกต้องแล้วเท่านั้นเอง ของไทยเราเป็นอย่างไร นายกฯ เคยพูดอะไรมาบ้าง รัฐมนตรีมหาดไทยเคยประกาศหน้าตาเฉยกลางจอทีวีว่าเมืองไทยไม่เคยมีโสเภณี เมืองไทยไม่เคยมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง ผู้นำประกาศในสภาว่าตำแหน่งรัฐมนตรีคือสมบัติผลัดกันชม ตอนเป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้งเหลือเกิน พรรคที่เก่าที่สุดบอกว่าตอนนี้เสียเปรียบอีก 2 พรรคเพราะตำแหน่งรองนายกฯ ไม่ใช่ตำแหน่งหาเงินเหมือนคมนาคมกับมหาดไทย

เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดคือความไม่ซื่อสัตย์หรือการคอร์รัปชัน นายไคฟู นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบันได้รับตำแหน่ง ทั้งๆ ที่อยู่ในกลุ่มที่มีเสียงน้อยที่สุดในพรรครัฐบาล ก็ด้วยเหตุที่ว่า ผู้นำกลุ่มใหญ่ๆ พากันมัวหมองในเรื่องถูกกล่าวหาว่ารับเงินช่วยหาเสียงจากบริษัทรีครูท (ไม่ใช่แพทริออท) ทั้งนี้โดยมิพักต้องแสดงใบเสร็จหรือมาแฉโพยกันกลางสภา เพียงแต่สงสัยเท่านั้น ก็เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นแผงๆ ไม่รู้ปีละกี่หน ในสหรัฐอเมริกาเอง สภาคองเกรสก็หน้าดำคร่ำเครียด ตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม และความประพฤติของสมาชิกสภา ด้วยสาเหตุใหญ่แค่เพียง บรรดา ส.ส.ไปรับเงินค่าตอบแทนในการไปปาฐกถา ในการประชาสัมพันธ์เพื่อขายหนังสือที่ตนเองเป็นผู้แต่ง จนกระทั่งประธานสภาผู้แทน คือ นายจิม ไรท์ ซึ่งเป็นผู้นำการเมืองที่สำคัญที่สุด รองจากประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ถึงกับต้องอำลาสังเวียนการเมืองไป

ครับ..เพียงแต่สงสัยเท่านั้น กับหิริโอตตัปปะอีกนิดเดียวเท่านั้น

คำกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันของครม.ของเราเป็นอย่างไร ไม่ว่าในสภา ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าป.ป.ป.หรือตำรวจ ต่างก็อ้างว่ารู้ ต่างก็อ้างว่าหลายเรื่องมีมูล ต่างก็อ้างว่าบางเรื่องมีเงื่อนงำ แม้แต่ในหมู่ครม.ก็กล่าวหากันเอง เป็นต้น สรุปได้ความว่า ทำยังไงๆ ก็ไม่หายสงสัย แต่ละเรื่องก็เกี่ยวพันกับเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลิตเติลดั๊ก เรื่องโทรศัพท์เรื่องรถลอยฟ้า

รัฐบาลก็ไม่เคยให้ความกระจ่าง กลับใช้กลยุทธ์ทางการเมืองปิดปากฝ่ายค้านเสีย หรือไม่ก็ขอดูใบเสร็จหรือตอบโต้ว่า รัฐมนตรีโกง ฝ่ายค้านก็โกงเหมือนกัน

เห็นจะต้องช่วยกันถามว่า หิริโอตตัปปะ อยู่ที่ไหน

เห็นจะต้องช่วยกันประกาศว่า จรรยาบรรณทางการเมืองอยู่ที่ไหน

เห็นจะต้องช่วยกันใช้ปัญญาสมาธิ ระดมความคิด ความกล้า รักษาบ้านเมืองไว้ให้พ้นจากเงื้อมมือของผู้ปกครองที่ไม่มีจรรยา

ถามว่า วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมีไหม ตอบได้เลยว่า มีครับ มีเยอะด้วย ไม่จำเป็นต้องไปใช้วิธีของเผด็จการเลย

ในวิถีแห่งประชาธิปไตยเท่านั้น เราจึงจะหาผู้ปกครองที่มีจรรยาบรรณได้

ท่านผู้อ่านที่เคารพ นอกจากข้อความตัวเอนในเครื่องหมายคำพูด บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อ 1 ธันวาคม 2533

“จากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ วิญญาณและตัวตนของผู้ปกครองไม่มีจรรยายังฟูเฟื่องอยู่ แผ่นดินไทยไม่สูงขึ้นเลยหรือกระไรหนอ อนิจจา”
กำลังโหลดความคิดเห็น