xs
xsm
sm
md
lg

"แพะ" ในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วศาลสถิตยุติธรรมได้ตัดสินคดีสำคัญ 2 คดี ทั้งสองเรื่องล้วนมีข้อคิดคนละแง่ แต่มีมุมมองร่วมกัน

เรื่องแรก คือเรื่องศาลอาญา ยกฟ้องกรณีจำเลย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานวางแผนก่อการร้ายร่วมกับกลุ่มเจไอนอกประเทศ และในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้ให้ทั้ง 4 คนได้ ประกันตัว และได้รับอิสรภาพไปแล้ว

เรื่องที่สอง เป็นคดีที่ศาลแพ่งได้ตัดสินให้คุณเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าฯการแบงก์ชาติชดใช้ความเสียหายนับแสนล้านบาท ฐานเอาทุนสำรองของประเทศไปใช้ปกป้องค่าเงินบาท ในวิกฤตค่าเงินบาทถูกโจมตี เมื่อพ.ศ. 2539-2540

ทั้งสองเรื่องล้วนมีประเด็นที่พิจารณาได้มากมาย แต่ทั้งสองคดีนี้มีมุมมองที่ร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งจะได้เห็นในตอนท้ายของบทความนี้ แต่ชั้นต้นนี่ขอพูดทีละเรื่องเสียก่อน

เรื่องแรก คือกรณีศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่าไปร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้ายเจไอ ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ

นานมาแล้ว เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ผมเคยพบคุณหมอ แวมาหะดี แวดาโอะ จำเลยคนหนึ่งในคดีนี้ ครั้งนั้นคุณหมอได้เข้ามารับการอบรมการจัดรายการวิทยุชุมชน ของมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคมซึ่งผมเป็นประธาน

ต่อมาผมได้ทราบว่า หลังจบการอบรมแล้วคุณหมอได้กลับไปทำงานด้านวิทยุชุมชนที่จังหวัดนราธิวาส และได้ประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมของประชาชนเป็นอย่างมาก

เมื่อปีที่แล้ว จู่ๆ ก็ได้ข่าวว่าคุณหมอถูกจับในข้อหาว่าไปร่วมมือกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศเจไอ ผมก็แปลกใจและไม่เชื่อมาแต่ต้น

ต่อมาได้ข่าวจากคุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ของมูลนิธิฯ ว่าได้ไปเยี่ยมคุณหมอแวมาหะดี แวดาโอะ ในเรือนจำมาแล้ว

คุณชัยวัฒน์เล่าว่า คุณหมอบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง ในที่สุดเรื่องก็จะกระจ่างเอง เพราะไม่ได้ทำผิดอย่างที่ถูกกล่าวหา ตัวคุณหมอเองก็สบายดีตามฐานะของผู้ถูกคุมขัง แต่ก็เพียงปรารภว่ามีความเป็นห่วงเรื่องครอบครัว และร้านขายยาที่ไม่มีผู้ดูแลเท่านั้น

มีข้อสังเกตว่าการจับกุมจำเลยทั้งสี่คนนี้ เป็นวันเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กำลังอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเข้าพบประธานาธิบดีบุช จึงมีการมองว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นการเอาใจสหรัฐฯ แสดงว่าไทยได้ให้ความร่วมมือในการปราบปรามการก่อการร้ายระหว่างประเทศแล้ว

ในคำพิพากษาในคดีนี้ ศาลอาญาได้กล่าวถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ได้พูดในรายการวิทยุ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2546 ว่าผู้ต้องหาชาวสิงคโปร์ซึ่งถูกทางการสิงคโปร์จับกุมได้นั้น ได้ซัดทอดว่าได้มาชักชวนจำเลยทั้งสี่คนนี้ในไทย

แต่ในการพิจารณาคดี ปรากฏแต่ว่าจำเลยเหล่านี้ไม่ได้ตกลงร่วมมืออย่างที่ผู้ซัดทอดกล่าวอ้างแต่อย่างใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

มีข้อสังเกตว่า ระยะเวลาที่มีการจับกุมบุคคลทั้งสี่นี้ เป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะมีการประชุมเอเปกในประเทศไทย ทำให้บรรดาผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมีอาการ "ประสาทกิน" กันไปทั้งนั้น!

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกในภาคใต้ ที่ศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลย เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว มีการวางเพลิงเผาโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 30 กว่าแห่งในเวลาใกล้เคียงกัน กระจายกันตั้งแต่นราธิวาสถึงสงขลา

มีการจับกุมโต๊ะครูหลายคนในอำเภอจะนะ สงขลา และมีการดำเนินคดีในศาลสถิตยุติธรรมในข้อหาว่ามีส่วนในการวางเพลิงเผาโรงเรียนครั้งนั้น แต่ในที่สุดศาลพิพากษาว่า ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดเช่นนั้นจริง จึงพิพากษายกฟ้องให้ปล่อยตัวจำเลยทุกคน

ที่น่าประหลาดก็คือเมื่อศาลพิพากษาปล่อยตัวจำเลยไปแล้ว ก็ควรที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองจะได้สืบหาตัวผู้กระทำความผิดเผาโรงเรียนเหล่านี้มาดำเนินคดีให้ได้ แต่ก็กลับปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องคลื่นกระทบฝั่งเงียบหายไป

ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.ส่วนหน้า) ได้เปิดเผยว่าสามารถจับกุมแนวร่วมที่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนถึง 140 คน และพร้อมที่จะส่งให้ศาลพิจารณาคดีได้แล้ว

ถ้าปรากฏว่าศาลได้ยกฟ้องคดีเหล่านี้อีก บางส่วนก็ดีหรือทั้งหมดก็ได้ ก็จะเป็นเรื่องงามหน้า และจะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ "สมานฉันท์" ในบริเวณชายแดนภาคใต้อย่างหนักทีเดียว!

ตราบใดที่เรายังมีการจับผิดจับถูก! หรือจับเอาไว้ก่อน! เมื่อไม่มีหลักฐานเพียงพอศาลก็ปล่อยตัวเอง! ตราบนั้นความสมานฉันท์ก็บังเกิดขึ้นไม่ได้เท่านั้นเอง!

กรณีเช่นนี้นี่เแหละที่เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความฝังใจว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

อันที่จริงกรณีจับผิดๆ ถูกๆ เช่นนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในทุกส่วนของประเทศ แต่ในบริเวณชายแดนภาคใต้นั้น ต้องยอมรับว่ามีช่องว่างทางเชื้อชาติวัฒนธรรมและศาสนา ความรู้สึกขมขื่นจึงรุนแรงกว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศ

นี่แหละเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการก่อการร้ายในอาณาบริเวณเหล่านี้ ซึ่งยังมีลักษณะเรื้อรัง และไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้อย่างที่เป็นอยู่เป็นรายวันในขณะนี้ได้!

การจับผิดจับถูกจับเอาไว้ก่อนก็ดี! หรือการ "อุ้มหาย" ก็ดี! โดยคิดว่าเป็นทางลัดในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ได้นั้น! แท้ที่จริงกลับเป็นเรื่องที่เติมเชื้อเพลิงให้ลุกโพลงขึ้นเท่านั้นเอง! นี่เป็นมูลเหตุประการหนึ่งของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถระงับดับลงได้!

กรณีที่สองคือคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คุณเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่นำเงินทุนสำรองของประเทศมาใช้เพื่อปกป้องค่าเงินบาท

ศาลแพ่งได้พิพากษาให้คุณเริงชัย ชดใช้ความเสียหายดังกล่าว เป็นจำนวนเงินนับแสนล้านบาททีเดียว

นับได้ว่าคดีนี้ได้มีการสั่งให้ชดใช้ความเสียหาย เป็นจำนวนเงินที่คงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้!

อันที่จริงเดือนหน้าก็จะครบรอบแปดปีของวิกฤตการเงินของประเทศ ซึ่งต้องมีการลอยตัวค่าเงินบาท ก็พอดีที่คุณเริงชัย อดีตผู้ว่าการฯ แบงก์ชาติต้องมารับบาปในวิกฤตครั้งนั้น

ที่น่าสังเกตก็คือ โจทก์ในคดีนี้ คือธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงว่าธนาคารชาติถึงคราวที่จะ "กินเนื้อ" พวกเดียวกันเองแล้วหรือ? อย่าลืมว่าคุณเริงชัยเป็นลูกหม้อซึ่งเติบโตมาภายในแวดวงของธนาคารชาตินั่นเอง!

ความสูญเสียอย่างมหาศาล อันเกิดขึ้นจากการใช้ทุนสำรองของประเทศ เพื่อปกป้องค่าเงินบาท ซึ่งถูกโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีกในตลาดการเงินระหว่างประเทศครั้งนั้น เป็นความผิดพลาดของคุณเริงชัย ซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติในขณะนั้น คนเดียวละหรือ?

ไม่มีผู้ร่วมงานคนอื่นในธนาคารชาติสมัยนั้น ร่วมกระทำการอันมีส่วนในการสูญเสียครั้งนั้นเลยทีเดียวหรือ?

นอกจากนี้ฝ่ายการเมืองในขณะนั้น ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรืออย่างไร?

ที่กล่าวอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า เป็นธรรมแล้วหรือที่จะให้คุณเริงชัย ต้องกลายเป็นผู้ต้องรับผิดอยู่แต่ผู้เดียวเท่านั้น?

อันที่จริงความสูญเสียเงินทุนสำรองจำนวนมหาศาลในการปกป้องค่าเงินบาทในครั้งนั้น เป็นความผิดพลาดหรือบกพร่องในเชิงนโยบายที่สะสมมานานแล้ว

ปัญหาเรื่องดุลการค้า ดุลการชำระเงิน และดุลบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนความขึงตึงของระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนั้นเราใช้ระบบการแลกเปลี่ยนแบบ "ตะกร้า" และผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์ เรื่องเหล่านี้ล้วนนำเราไปสู่ความหายนะทั้งนั้น

ที่สำคัญที่สุดคือการเปิดเสรีให้สามารถนำเงินกู้จากต่างประเทศให้ได้หลั่งไหลเข้ามาท่วมทับบ้านเราได้ ฉะนั้นเมื่อเราถูกโจมตีค่าเงินบาทจากเฮดจ์ฟันด์ เราจึงต้องสูญเสียอย่างมหาศาล

อันที่จริงองค์การการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้เคยส่งคำเตือนในเรื่องเหล่านี้มาก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่เราก็มิได้เคลื่อนไหวแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้กันเลย!

แล้วจะเป็นธรรมละหรือที่จะให้คุณเริงชัยต้องรับหน้าชดใช้ความเสียหายครั้งนั้นอยู่คนเดียว?

อันที่จริงคงจำกันได้ว่า ภายหลังจากเกิดวิกฤตครั้งนั้น ได้มีกระแสเรียกร้องให้หาตัวผู้รับผิดชอบในความสูญเสียทุนสำรองครั้งนั้นมาให้ได้

มีการตั้งคณะกรรมการหาตัวผู้รับผิดชอบในเรื่องราวครั้งนั้น รู้จักกันในนามว่า ศปร. เมื่อคณะกรรมชุดแรกไม่ได้ระบุตัวผู้รับผิดชอบให้แน่ชัด กระแสสังคมก็เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการ ศปร.ชุดที่สอง ทำหน้าที่ควานหาตัวผู้มารับผิดมาให้จนได้

คดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องคุณเริงชัย ชดใช้ความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งศาลพิพากษาให้คุณเริงชัยแพ้คดีคราวนี้ ก็คงเป็นผลงานของคณะกรรมการ ศปร.ชุดที่ 2 นั่นเอง!

เอาตัวคนอื่นไม่ได้! เจอคุณเริงชัยยืนเก้ๆ กังๆ โดดเดี่ยวอยู่คนเดียว เลยจับเอาตัวมาบูชายัญ สังเวยกระแสสังคมที่ต้องการล้างแค้นความผิดพลาดครั้งนั้นให้ได้!

ทั้งสองกรณี ทั้งเรื่องคุณหมอแวมะหาดี แวดาโอะและพวก ได้ถูกศาลยกฟ้องในเรื่องถูกกล่าวหาว่าไปร่วมมือกับกลุ่มเจไอ ก็ดี และเรื่องคุณเริงชัยถูกศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาลในกรณีปกป้องค่าเงินบาทเมื่อ 8 ปีก่อนก็ดี ทั้งสองกรณีมีจุดร่วมเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง

แสดงว่าสังคมไทยชอบหา "แพะ" มารับ "บาป" ไว้ก่อน! จริงหรือไม่จริง! เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม! เอาไว้ว่ากันทีหลัง!

คนบริสุทธิ์และคนซื่อในบ้านเรา มักตกเป็นเหยื่อ ถูกจับไปเป็น "แพะ" โดน "บูชายัญ" มานักต่อนักแล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น