xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผยภาคธุรกิจแดนตากาล็อก ยอมควักกระเป๋าต้านคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – โพลเผย นักธุรกิจฟิลิปปินส์เต็มใจบริจาคเงินในโครงการต่อสู้กับการคอร์รัปชันมากขึ้น พร้อมระบุ การเรียกเก็บสินบนทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น 15%

ผลสำรวจของ “โซเชียล เวตเธอร์ สเตชันส์” หรือ SWS ซึ่งทำการสำรวจตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ถึง 15 มีนาคมในบริเวณเมืองหลักๆของฟิลิปปินส์ เปิดเผยวานนี้ (1) ว่า นักธุรกิจในปัจจุบันเต็มใจจะบริจาคเงินเฉลี่ย 5% ของผลกำไรสุทธิ เพื่อใช้ในโครงการกวาดล้างการคอร์รัปชันของประเทศ ขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยของมะนิลาอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นจาก 1% ในการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2000

SWS ระบุในแถลงการณ์ว่า “ข่าวร้ายคือ การคอร์รัปชันภาครัฐแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ข่าวดีคือ ความกระตือรือร้นในการต่อสู้กับคอร์รัปชันของภาคเอกชนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

หน่วยงานดังกล่าวเพิ่มเติมว่า “บรรดาผู้บริหารชาวฟิลิปปินส์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เต็มใจบริจาคเงินเท่านั้น ยังพร้อมที่จะตรวจสอบโครงการต่างๆของรัฐ และร่วมในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ทั้งโดยส่วนตัวและผ่านเจ้าหน้าที่อาวุโส พร้อมทั้งยอมเสียค่าใช้จ่ายเองเพื่อเข้าอบรมการต่อต้านคอร์รัปชัน

ผลสำรวจเปิดเผยอีกว่า 66% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามมองว่า มีการคอร์รัปชัน “อย่างมาก” ในภาครัฐ ขณะที่ 54% บอกว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของบริษัทในธุรกิจเดียวกับตนจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ช่วยชนะการประมูล

บริษัทเหล่านี้ถูกเรียกเก็บค่าสินบนเพื่อแลกกับใบอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นและระดับประเทศ แลกกับการจ่ายภาษี แลกกับการปฏิบัติตามกฎการนำเข้า แลกกับการเก็บเงินจากรัฐ แลกกับข้อตกลงจัดซื้อสินค้าและบริการของรัฐ รวมถึงแลกกับการใช้ประโยชน์จากสิ่งจูงใจของรัฐ

ทั้งนี้มีเพียง 8% ของบรรดาบริษัทที่ถูกเรียกค่าสินบน ยอมรายงานเรื่องดังกล่าวต่อหน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชันของรัฐหรือเอกชน และมีเพียง 2 จาก 26 องค์กรที่ได้รับการจัดอันดับว่า มีความจริงใจในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน นั่นคือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี) และตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์

อนึ่ง การสำรวจนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากเอเชีย ฟาวน์เดชัน และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ โดยการสำรวจครั้งนี้ไม่ได้ระบุขนาดของกลุ่มตัวอย่าง บอกแต่เพียงว่า 2 ใน 3 เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น