xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องเป็น"เริงชัย" คนเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำพิพากษาของศาลแพ่ง ที่ตัดสินให้ "เริงชัย มะระกานนท์" ชดใช้เงินให้แก่ประเทศไทย 1.86 แสนล้านบาท เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) ยังมีประเด็นที่สังคมแปลกใจไม่แพ้ตัวเลขที่เริงชัยต้องชดใช้ก็คือ เพราะเหตุใดอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติคนนี้ จึงถูกลงโทษเพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่การปกป้องค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 มีผู้บริหารแบงก์ชาติและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ทว่าวันนี้บุคคลเหล่านั้นยังคงมีหน้ามีตาในสังคมปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแบบไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เพราะแบงก์ชาติที่มีเริงชัยเป็นผู้ว่าการ ได้นำทุนสำรองของประเทศไปต่อสู้กับนักเก็งกำไรจนเกิดความเสียหายรวมทั้งสิ้น 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่รู้ทั่วกันว่าการกระทำจนเกิดความเสียดังกล่าว เริงชัยไม่อาจดำเนินการเพียงลำพัง...

ขณะนั้นแบงก์ชาติ มีผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท ได้แก่ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นรองผู้ว่าการ ดูแลสายงานวิชาการและผู้จัดการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน อีกคนคือ ศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ดูแลฝ่ายการธนาคาร และผู้ช่วยผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ เป็น 2 ผู้บริหาร ระดับสูงที่มีหน้าที่โดยตรง

นอกจากแบงก์ชาติ นักการเมืองทั้งรมว.คลังและนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจ ก็น่าจะรับผิดชอบกับความเสียหายในครั้งนั้น โดยรมว.คลังในขณะนั้นคือ อำนาย วีรวรรณ แต่ว่ากันว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและรับทราบข้อมูลภายในดีที่สุดคนหนึ่งคือ ทนง พิทยะ รมว.คลัง ที่มาทำหน้าที่แทน อำนวย ที่ลาออก ขณะที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ซึ่งออกหนังสือมาชี้แจงว่าถูกหลอก

ปัจจุบัน ทนง เป็นรมว.พาณิชย์ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน อำนวย กลับไปสู่อาณาจักเดิมที่สหยูเนี่ยนพร้อมกับเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก ส่วนพลเอกชวลิตเพิ่งเกษียณทางการเมือง คนเหล่านี้มิต้องชดใช้เหมือนกับที่เริงชัยกำลังประสบ

แม้แต่ วิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติรุ่นพี่ ซึ่งเกี่ยวพันกับการโอบอุ้มธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) ต้นเหตุแห่งหายนะทางเศรษฐกิจปี 2540 วันนี้ยังมีตำแหน่งใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์...

แวดวงนักธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่า "การเมือง" เป็นปัจจัยหลัก ทว่า "บุคลิกส่วนตัว" ก็มีส่วนไม่น้อย เริงชัยเคยได้ชื่อว่าเป็นเด็กของพรรคชาติไทย เขาถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และ บรรหาร เป็นผู้เลือก เริงชัย ด้วยตัวเอง และแคนดิเดตผู้ว่าการแบงก์ชาติขณะนั้นคือ ชัยวัฒน์ เป็นชัยวัฒน์ที่มีบทบาทสูงในการต่อสู้กับนักเก็งกำไรบาท

แม้บรรหารจะเคยแต่งตั้งเริงชัยเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ แต่บรรหารเลือกที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอีก ส่วนหนึ่งเกรงว่าจะได้ชื่อว่า เป็นคนแต่งตั้งมากับมือ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเริงชัยที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่คิดจะสานความสัมพันธ์กับนักการเมือง จึงถูกโดดเดี่ยวในที่สุด

ซึ่งหลังจากวิกฤตครั้งนั้น ทั้งชัยวัฒน์และศิริ ยังคงทำงานในแบงก์ชาติ และต่อมาชัยวัฒน์ยังได้เป็นรมว.คลังช่วงหนึ่ง

ปัจจุบันชัยวัฒน์ได้ดิบได้ดีเป็นที่ปรึกษารมว.คลังและเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย โดยชัยวัฒน์มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลไทยรักไทย เพราะเขารู้ทิศทางลม เช่นเดียวกับวิจิตร เพราะคนเหล่านี้คอยเอื้ออาทรนักการเมืองตั้งแต่นั่งบริหารในแบงก์ชาติ...

ขณะที่ ศิริ ปัจจุบันเป็นบอร์ดบริษัทเอกชนหลังจากออกจากแบงก์ชาติด้วยการเข้าโครงการเกษียณ ก่อนจะไปเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยโดยการสนับสนุนของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสังคมยังข้องใจว่ามีผลประโยชน์จากการอินไซด์การลอยตัวค่าเงินบาท โดยมีทนงเป็นกุญแจสำคัญ...

ส่วนเริงชัย ซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งเป็นอะไรเลย ต้องเป็น "จำเลย" ในยุคที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชื่อ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ทั้งๆที่เคยมีมติครม.สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ให้ฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องค่าเงินบาท เพราะถือว่าทำตามหน้าที่ หากจะฟ้องต้องให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเข้าไปขอคำวินิจฉัยจากพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อดำเนินการกับเริงชัยเพียงคนเดียว

ทว่าเริงชัยไม่ยอมถูกกระทำข้างเดียว เขาปกป้องตัวเอง โดยขอสู้คดีในศาลปกครอง โดยเริงชัยฟ้องกลับม.ร.ว.ปรีดิยาธรในข้อหาละเว้นใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ไม่ดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งชี้คำฟ้องของเริงชัย ส่วนคดีศาลแพ่ง ยังต้องต่อสุ้กันต่อในชั้นอุทธรณ์ ต้องติดตามกันต่อไปว่าเริงชัยผู้โดดเดี่ยวคนนี้ จะฝ่าขวากหนามชีวิตครั้งสำคัญไปได้ไหม และ คดีประวัติศาสตร์นี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น