xs
xsm
sm
md
lg

เพลงชาติ : บทเพลงสดุดีความเป็นชาติ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

โดยปกติเมื่อพูดถึงเพลง ผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องการประพันธ์ และดนตรีเป็นพื้นฐานอยู่บ้าง ไม่ถึงกับต้องเป็นปราชญ์ทางกวี และดนตรี ก็จะเข้าใจตรงกันว่ามีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 ประการคือ

1. คำร้องหรือเนื้อหาสาระของเพลงที่ผู้ประพันธ์ได้นำมาร้อยกรอง โดยใช้ฉันทลักษณ์ตามรูปแบบของคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดนั้นๆ

แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกรูปแบบของกลอน 8 กลอน 6 หรือกลอน 4 แล้วแต่ความเหมาะสม

2. ทำนอง อันได้แก่ การกำหนดจังหวะในการร้อง และการบรรเลงดนตรีให้กลมกลืนกับเนื้อร้อง เพื่อให้เกิดความไพเราะและเร้าใจควรค่าแก่การฟังยิ่งขึ้น

3. เสียงร้อง หรือการขับร้องของศิลปิน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังนอกเหนือจาก 2 ประการดังกล่าวข้างต้น

เมื่อพูดถึงส่วนประกอบสำคัญของบทเพลงแล้ว ก็ควรจะได้พูดถึงประเภทของกวีหรือผู้ประพันธ์บทร้อยกรอง ตามที่นักประพันธ์ทางบทกวีได้กล่าวไว้มีอยู่ 4 ประเภท คือ

1. จินตกวี อันได้แก่ ผู้ประพันธ์โดยอาศัยจินตนาการเป็นหลัก เช่น สุนทรภู่ในเรื่องพระอภัยมณี ที่แต่งโดยอาศัยจินตนาการของตนเองมิได้ถูกจำกัดด้วยอดีต และปัจจุบันแต่ประการใด แต่บทประพันธ์ของจินตกวีมีอยู่ไม่น้อยที่เหตุการณ์ได้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น บทประพันธ์ประเภทนวนิยายเรื่องจากโลกสู่ดวงจันทร์ (From Earth To Moon) เป็นต้น

2. ปฏิภาณกวี อันได้แก่ นักกวีหรือผู้ประพันธ์บทร้อยกรองที่อาศัยไหวพริบปฏิภาณเฉพาะหน้า เช่น ศรีปราชญ์ในบทโคลงสี่สุภาพที่โต้ตอบคนรักษาประตูวัง หรือนายทวารบาล เป็นต้น

3. สุตกวี อันได้แก่ ผู้ที่นำเรื่องเล่าหรือเรื่องที่ได้ฟังมาประพันธ์ในรูปของกวี เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน และเรื่องอิเหนา เป็นต้น

4. อรรถกวี คือผู้ที่นำเอาเรื่องเก่าหรือสุภาษิตโบราณมาขยายความให้กว้างขวาง และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บทประพันธ์เรื่องโคลงโลกนิติ เป็นต้น

อีกประการหนึ่งที่ควรจะได้นำมาพูดถึงต่อเนื่องกับนักกวีก็คือ ประเภทของเนื้อหาในบทกวี อันเป็นผลงานของนักกวี 4 ประเภทดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

โดยเนื้อหาของบทกวี ท่านได้แบ่งลักษณะของเนื้อหาออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. เสาวรจนี ได้แก่ คำประพันธ์ที่บรรยายถึงความสวย ความงาม และความดีของสรรพสิ่ง รวมทั้งของคนด้วย

2. นารีปราโมทย์ ได้แก่ คำประพันธ์ที่พูดถึงการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวเป็นหลัก

3. พิโรธวาทัง อันได้แก่ บทประพันธ์ที่พูดถึง การตัดพ้อต่อว่า หรือการแสดงอาการขึ้งโกรธ

4. สัลลาปังคพิสัย ได้แก่ บทประพันธ์ที่พูดถึงความเศร้าโศกเสียใจ และความผิดหวัง เป็นต้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ลองย้อนไปดูงานเขียนประเภทนี้ก็จะพบว่ายังคงดำเนินไปตามครรลองแห่งกวีที่ระบุไว้ ทั้งในส่วนของเนื้อหา และประเภทของกวี เพียงแต่ว่าในงานประพันธ์ชิ้นหนึ่งอาจปรากฏว่าเป็นหลายลักษณะผสมกันเท่านั้น

ส่วนว่าสัดส่วนของการผสมอันใดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรังสรรค์งานประพันธ์แต่ละชิ้น และวัตถุประสงค์ในการประพันธ์เมื่อมองดูจากงานประพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในวงวรรณกรรมไทยในขณะนี้ น่าจะสรุปเป็นประเด็นใหญ่ได้ดังต่อไปนี้

1. เพื่อสดุดีบุคคลหรือสถาบันที่มีความสำคัญต่อบุคคลโดยรวมในสังคมนั้น เช่น เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกรักชาติ และจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันถือว่าเป็นสถาบันหลักที่ชนในชาติยกย่อง และเทิดทูนเหนือสิ่งใดควบคู่ไปกับสถาบันทางศาสนา

2. เพื่อปลุกเร้าจิตใจให้เกิดความกล้าหาญ และลุกขึ้นต่อสู้กับศัตรูหรือคู่แข่งขัน เช่น เพลงมาร์ช และเพลงเชียร์กีฬา เป็นต้น

3. เพื่อให้เกิดความสุขสนุกสนาน เป็นการคลายทุกข์คลายความกังวล และยังเป็นสื่อสัมพันธ์ในกลุ่มบุคคลที่ชอบเพลงประเภทเดียวกันด้วย

จากการอธิบายขยายความในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ประพันธ์ และลักษณะงานประพันธ์ประเภทร้อยกรอง หรือที่เรียกว่า บทกวี มาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นกวีประเภทไหน แต่งบทเพลงอะไร และเพื่อวัตถุประสงค์ใด ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในตัวเอง และถ้างานประพันธ์ที่ว่านี้คงได้รับความเชื่อถือ และนำมาร้องอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขโดยอ้างเหตุอันควรแก่การยอมรับของสังคมโดยรวม ก็ถือได้ว่าบทเพลงที่ว่านี้ยังทรงคุณค่าแห่งความเป็นบทกวีตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ จึงไม่ควรที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะได้หยิบยกขึ้นมาแก้ไขให้เป็นอย่างอื่น ทั้งในส่วนเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงร้อง

แต่ถ้าจะปรารภเหตุเดียวกันนี้แล้วแต่งเพลงขึ้นใหม่ ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงร้องก็สามารถทำได้ ส่วนว่าทำแล้วจะได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวมหรือไม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง และใครๆ ผู้ไม่เห็นด้วยไม่ควรออกมาคัดค้าน เพราะถือว่ามิได้ทำให้มีผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเสียงคัดค้านการนำเพลงชาติไทยมาปรับปรุงทำนอง และจัดให้มีการร้องใหม่ในหลายๆ รูปแบบ จนทำให้ผู้ที่ยังนิยมในรูปแบบเดิมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ด้วยอ้างว่า ของเดิมดีอยู่แล้วบ้าง ไม่มีความจำเป็นต้องทำ และมีสิ่งอื่นควรทำมากกว่านี้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรจะได้นำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลตามแนวทางแห่งตรรกศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อหาข้อยุติที่คนไทยจะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

เริ่มด้วยประเด็นว่าอะไรเป็นเหตุให้มีผู้คิดว่าเพลงชาติไทยควรจะได้รับการปรับปรุง และโดยนัยแห่งคำถามนี้ ดูเหมือนจะมีข่าวออกมาว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความสนใจเพลงชาติ รวมไปถึงแนวคิดว่าเนื้อร้องในบางตอนควรจะได้รับการแก้ไขให้เหมาะสม เช่น คำว่า ประชารัฐ เป็นต้น

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีเหตุอันควรนำไปเป็นข้ออ้างแก่การยอมรับของคนไทยโดยส่วนรวมได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เพลงชาติ หรือเพลงประจำชาตินั้น เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสดุดีความเป็นคนไทย จะเห็นได้จากเนื้อเพลง เป็นต้นว่า "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า ประเทศไทยคือแหล่งรวมหรือศูนย์รวมของชนชาติไทย มิควรที่จะให้ใครมาแบ่งแยกหรือถือความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนแห่งนี้ได้ และอีกวลีที่ว่า "ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด" บ่งบอกถึงอุปนิสัยชัดเจนว่า ปกติแล้วคนไทยไม่รุกรานใคร แต่ถ้าใครมารุกรานคนไทยก็สู้ด้วยความกล้าหาญ เป็นต้น

ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นเพลงที่ใครได้ยินได้ฟัง และเข้าใจความหมายแล้ว ต้องยอมรับว่าให้ความรู้สึกรักชาติ รักแผ่นดินได้อย่างสมบูรณ์

2. จากอดีตที่ได้นำเพลงนี้มาร้องเป็นเพลงชาติ ก็ยังไม่มีใครหรือกลุ่มใดออกมาเรียกร้องให้แก้ไขเพลงนี้
ดังนั้นจึงทำให้เกิดข้ออ้างว่า เหตุใดจึงมีการคิดจะแก้ไขเกิดขึ้น และไม่มีการให้เหตุผลต่อประชาชนมาก่อนในลักษณะทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด แล้วค่อยแก้ไขเมื่อผลปรากฏว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย

3. นอกจากไม่ถามความเห็นประชาชนก่อนตามข้อที่สองแล้ว การมอบหมายให้บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเพลงเข้ามารับผิดชอบนั้น ทำให้มองเห็นเป็นประหนึ่งว่าเป็นการนำเอามาตรฐานทางการตลาดมาใช้กับการรังสรรค์บทเพลงชาติที่มิได้มุ่งเพื่อการขาย เป็นต้น ซึ่งเท่ากับลดคุณค่าทางศิลปะของเพลงชาติที่น่าจะเป็นศิลปะบริสุทธิ์เพื่อความจงรักภักดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าในรูปของเงินตราไม่ได้ลงมาเทียบเท่ากับพาณิชย์ศิลป์ที่ใช้จำนวนขายเป็นตัววัด ซึ่งทำให้คุณค่าของเพลงชาติด้อยลงไป

ทางที่ถูกที่ควร ถ้าจะแก้ไขก็ควรที่รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สาขาวรรณกรรม และสังคีตศิลป์ เป็นต้น เข้ามาร่วมกันจัดทำขึ้นแล้วเสนอเพื่อพิจารณา และถ้าเป็นไปได้ควรจะได้นำเพลงที่ว่านี้ขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย และหากทรงเห็นชอบจึงจะนำมาใช้แทนเพลงเก่าต่อไป ก็น่าจะดีกว่าที่ดำเนินการไปเอง ดังที่เป็นอยู่และก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมโดยไม่จำเป็น

แต่อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่ปรากฏออกมาล่าสุดเป็นที่น่ายินดีว่า ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ยืนยันจะใช้เพลงชาติเดิมต่อไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ถึงกระนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลติดลบโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าคิดให้รอบคอบแต่ต้น เรื่องทำนองนี้ก็จะไม่เกิด หรือถ้าเกิดมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจริง แต่ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง ปัญหาขัดแย้งดังที่เกิดขึ้นก็ไม่เกิด

ดังนั้นเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในความเห็นของผู้เขียนแล้วถือว่าเป็นเรื่องของเจตนาดีแต่วิธีการไม่ดี จึงทำให้ต้องรับผลในทางลบในลักษณะได้ไม่คุ้มเสียอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น