xs
xsm
sm
md
lg

ภาพลักษณ์นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

น่าแปลกใจไหมครับที่อยู่ๆ ภาพลักษณ์ และความนิยมของสังคมที่มีต่อคุณเสนาะ เทียนทอง ดูดีขึ้น

ขณะที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เคยมีภาพลักษณ์ของผู้นำที่คิดใหม่-ทำใหม่เพื่อประเทศชาติมีความโดดเด่นถึงขนาดรู้สึกว่ามีความเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของประเทศในระดับภูมิภาคด้วยซ้ำไป

แต่ตอนนี้กลับกำลังเผชิญกับข้อสงสัยในการทำจริงในสิ่งที่ประกาศเป็นนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต และโกงกินในวงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

มีตัวอย่างที่พิสูจน์กันมาแล้วหลายยุคหลายสมัยว่า ความนิยมทางการเมือง และภาพของนักการเมืองในใจของผู้คนในสังคมหรือ "จินตภาพ" ซึ่งเรียกกันในภาษาการสื่อสารการตลาดว่า "ภาพลักษณ์" นั้น ไม่คงที่เสมอไป

บทบาทและพฤติกรรมที่ผู้คนได้รับรู้จะสั่งสมเกิดเป็นความรู้สึก และเกิดภาพในใจ

แต่การแสดงออกแม้มีการเผยแพร่ข่าว หากปราศจากความจริงใจ หรือไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อใจ มันก็เป็นแค่การ "สร้างภาพ" ซึ่งไม่จิรังยั่งยืน

ต่างกับการมี "ภาพลักษณ์" เชิงบวกซึ่งเกิดจากการสั่งสมการรับรู้ในสิ่งที่ดี และความรู้สึกเชื่อใจว่าดี

หลักการตลาดแม้ทุกพรรคการเมืองพยายามเอามาใช้ โดยเฉพาะตอนรณรงค์หาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยม แต่การสื่อสารประกาศตัวเป็นผู้รักชาติ รักประชาชนขนาดไหนก็ตาม เวลาและผลงานจะเป็นสิ่งยืนยันว่า "ของจริง" หรือ "ของปลอม"

แต่กระนั้นก็ตาม สังคมไทยก็ได้เรียนรู้ว่า "นักการเมือง" ก็ยังคงเอาแน่อะไรไม่ได้อย่างแท้จริง

ความนิยมจึงอาจเป็นสภาพชั่วคราว ที่พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

การยื่นหนังสือทักท้วงให้ประธานวุฒิสภาระงับการทูลเกล้าฯ ถวายชื่อ คุณวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ทั้งๆ ที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งยังอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งเห็นว่าเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จึงมีกระแสสังคมสนับสนุนการกระทำของคุณเสนาะ เพราะเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณ มีความเหมาะสม และกล้าตรวจสอบความทุจริตฉ้อฉลในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ต้องการของสังคมยุคนี้

นายกรัฐมนตรีทักษิณ แม้จะอ้างว่าการกระทำของคุณเสนาะ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นการก้าวก่ายข้ามสภา ซึ่งพรรคไทยรักไทยไม่สนับสนุน

แต่สังคมกลับเห็นว่าเป็นความเห็นที่เบากว่า เมื่อคำนึงถึงความจำเป็นในการได้ผู้นำองค์กรที่มีความตั้งใจจริงต่อการตรวจสอบความไม่ถูกต้อง

ทำไมผู้นำรัฐบาลไม่สนับสนุนแนวทางของคุณเสนาะ ทั้งๆ ที่รู้กันทั่วไปว่า วุฒิสภายุคนี้ส่วนใหญ่โน้มเอียงมาทางสนับสนุนรัฐบาล

อีกทั้งผลงานของคุณหญิงจารุวรรณ ที่เคยชี้ความไม่ชอบมาพากลในหลายโครงการ ทั้งสนามบินหนองงูเห่า การซื้อที่ดิน ธ.ก.ส. และการทุจริตต้นกล้ายาง ซึ่งล้วนกำลังถูกกระแสสังคมถามหาการจัดการจากรัฐบาล

การเคลื่อนไหวของคุณเสนาะ ได้รับการสนับสนุนจากสังคมถึงขนาดมีคนยกขบวนไปมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจ

นับว่าพลิกโฉมภาพลักษณ์เก่าๆ ที่คุณเสนาะเคยถูกหาว่าเป็นนักการเมืองแบบเก่า ถึงขนาดถูกเปรียบเป็นไดโนเสาร์ก็เคย

ขณะเดียวกัน ตอนแรกที่มีข่าวก็ยังมีคนสงสัยว่าเป็นการเกาะกระแสสร้างความสำคัญเพื่อการต่อรองหรือเปล่า

ถึงตอนนี้คุณเสนาะได้ประกาศเด็ดเดี่ยวว่า แม้จะมี ส.ส.ในกลุ่มวังน้ำเย็นที่ร่วมลงนามพากันถอนชื่อ เพราะกลัวเกรงหัวหน้าพรรคมากกว่า

แต่คุณเสนาะจะไม่ยอมถอยถึงขนาดเดิมพันว่าไม่ยอม "ขาดจากความเป็นมนุษย์" กันทีเดียว

นี่ก็คงตัดสินใจแล้วว่าเป็นโอกาสในการประกาศความเป็นอิสระ เพราะไหนๆ ก็ถูกลดความสำคัญ และถูกบั่นทอนขุมกำลังลงไปมากแล้ว

นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่นักการเมืองใช้จังหวะที่โดดเข้ากับฝ่ายที่มีประเด็นความถูกต้องที่กระแสสังคมสนับสนุน และสามารถอธิบายความด้วยเหตุผลที่ดูดีมีอุดมการณ์

ได้ฟังรายการ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการจำแนกกลุ่มคนที่ทำให้มีเรื่องราวที่กระทบรัฐบาลขณะนี้ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ พวกพ้องที่เกิดจากตัวแสดง 3 กลุ่ม คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาล (ซึ่งอาจไม่ชอบฝ่ายค้านก็ได้) แล้วมีสื่อมวลชนคอยนำเสนอเรื่องราวออกไป

สื่อมวลชนนั้นก็ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร หรือสืบค้นนำข้อเท็จจริงมาตีแผ่เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ถ้าฝ่ายการเมืองผู้คุมอำนาจรัฐ และคุมหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจยึดหลักธรรมาภิบาลที่มีความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้

ก็ไม่น่าจะมีเรื่องวุ่นๆ ที่ถูกสงสัยว่ามีการฉ้อฉลในกระบวนการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดของสนามบินสุวรรณภูมิ หรือซีทีเอ็กซ์ ที่ถูกเปิดประเด็นมาจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐฯ ที่ฉาวโฉ่ข้ามประเทศว่ามีการจ่ายสินบนแก่นักการเมือง และข้าราชการ

สังคมย่อมอยากให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังว่า ราคาแพงเกินไปและสั่งซื้อจำนวนมากเกินเหตุหรือไม่ ใครได้ผลประโยชน์โดยมิชอบบ้าง

มันก็เลยเชื่อมโยงมาถึงกระบวนการพยายามเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ สตง. ทั้งๆ ที่คนปัจจุบันมีผลงานเป็นที่เชื่อถือดีอยู่แล้ว ตลอด 2 ปีเศษที่รับตำแหน่งนี้ซึ่งกระบวนการของวุฒิสภาก็เคยให้การยอมรับ

ยิ่งคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า "ตรงนี้คือ ละครการเมือง แต่ผมจะเล่นโดยมีเป้าหมายคือ ชาติบ้านเมือง ไม่เล่นเพื่อตัวเองแน่นอน ผมจะออกจากการเมืองเมื่อไหร่ รับรองว่าผมจะออกไปสภาพที่ดี จะไม่ออกไปในสภาพที่ไม่ดี"

นับเป็นความตั้งใจที่ดีที่ยังน่าเป็นห่วง
กำลังโหลดความคิดเห็น