xs
xsm
sm
md
lg

โครงการสาธารณูปโภคเอเชียบูม รัฐผุดเมกะโปรเจ็กต์เร่งอัตราศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิสเนสวีก – ชี้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บีบให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย และไทย ต้องระดมเปิดตัวเมกะโปรเจ็กท์ เพื่อใช้โครงการสาธารณูปโภคเหล่านี้กระตุ้นการใช้จ่าย และรักษาอัตราการเติบโต

ภายหลังวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 ฟรานซิส เหยียวซกปิง ประธานบริหารวายทีแอล บริษัทก่อสร้างของมาเลเซีย เบนเข็มทิศธุรกิจออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน เขาบริหารและดำเนินการเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้าในออสเตรเลีย บริการน้ำประปาในอังกฤษ ตลอดจนก่อสร้างโครงการต่างๆ ในหลายประเทศ

แต่วันนี้ เหยียวคืนถิ่นอีกครั้ง เพราะเล็งเห็นโอกาสทองในการสร้างทางด่วน สะพาน และโรงไฟฟ้า “อินโดนีเซียจะเป็นโอกาสทองด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคอันดับต่อไป”

เดือนมกราคมปีนี้ อินโดนีเซียเปิดแผนระยะ 5 ปีมูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์ ในการปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภค โดยกลุ่มแรกประกอบด้วย 91 โครงการมูลค่า 22,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มต้นปลายปีนี้ ครอบคลุมโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน 2 แห่ง การขยายสนามบินจาการ์ตา และท่อส่งแก๊ซมูลค่า 1,470 ล้านดอลลาร์

มาถึงเดือนเมษายน มาเลเซียประกาศทุ่มงบประมาณ 4,400 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงทางรถไฟ พร้อมเปิดโครงการย่อยอีก 625 โครงการ ขณะที่ไทยอนุมัติงบประมาณ 59,000 ล้านดอลลาร์สำหรับนำไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟใต้ดินสายใหม่ รถไฟลอยฟ้า และการสร้างถนนเลียบอ่าวไทย เครดิต สวิส เฟิร์สต์ บอสตัน วาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ระบุว่า ทั้งหมดนี้จะทำให้เฉพาะปีนี้ปีเดียว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องใช้เงินเฉียด 30,000 ล้านดอลลาร์

กระแสนี้เกิดจากการที่รัฐบาลทั่วภูมิภาคชะลอการปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคมาหลายปี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งถูกกระตุ้นภายหลังวิกฤตการณ์ เริ่มแผ่วลง เจ้าหน้าที่จึงเชื่อว่า การใช้จ่ายภาคสาธารณะจะช่วยประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้

ขณะเดียวกัน โครงการเหล่านี้จะช่วยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศ ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว และรายได้ที่ไหลบ่าเข้ามา ทำให้ทางการจาการ์ตากล้าออกปากว่า 20% ของค่าใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคอาจมาจากส่วนอื่นนอกเหนือจากงบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ การก่อสร้างส่วนใหญ่ ทั้งในอินโดนีเซียและที่อื่นๆ จะได้รับการอัดฉีดจากการออกพันธบัตร และจากสถาบันการเงิน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก

อินโดนีเซียและมาเลเซียนั้น มีแผนนำกองทุนบำนาญไปลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภค แดนอิเหนายังกำลังพิจารณาร่างกฎหมายเพื่ออนุญาตให้บริษัทเอกชนสร้างและดำเนินการทางด่วนและโรงไฟฟ้าเพื่อผลกำไร โดยกฎหมายเดียวกันนี้บังคับใช้แล้วในมาเลเซียและไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางส่วนยังสงสัยว่า นักลงทุนต่างชาติจะอยากเข้าร่วมโครงการเหล่านี้หรือไม่ หากบรรยากาศการลงทุนยังไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งคอร์รัปชั่น ระบบตุลาการที่เลื่อนลอยไร้หลัก และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพต่ำ ที่ร่วมกันทำร้ายชื่อเสียงของอินโดนีเซียมานาน

“เป็นสถานการณ์แบบเดียวกับไก่กับไข่ ยากที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพต่ำ แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องการนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้โครงการใหม่ๆ เดินหน้า” โฟซี อิชซาน นักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ในจาการ์ตา วิจารณ์

กระนั้น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ภูมิภาคนี้จะไม่ขาดแคลนโครงการขนาดยักษ์ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (ไม่รวมจีน) จำเป็นต้องใช้เงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ใน 5 ปี สำหรับถนน ไฟฟ้า ประปา และการสื่อสาร

“ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ไทยและมาเลเซียจึงจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยโครงการสาธารณูปโภคเหล่านี้” มนู ภาสการ นักเศรษฐศาสตร์ในสิงคโปร์และที่ปรึกษาของเซนเนนเทียล กรุ๊ป ปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น