xs
xsm
sm
md
lg

TDIAดันแก้11มาตราพ.ร.บ.ขายตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทยเดินหน้าเสนอแก้ 11 มาตราพ.ร.บ.ขายตรงต่อ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    หวังยกระดับธุรกิจขายตรงให้ดีขึ้น   จับมือ “ประพันธ์ คูณมี” ตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายและธุรกิจขายตรงขึ้น คาดเปิดบริการต้นเดือนหน้า

นางสาวเบญวรรรณ สุขประพฤติ นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA)  เปิดเผยว่า   ขณะนี้ทางสมาคมฯได้เสนอแก้พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 จำนวนทั้งหมด 11 มาตรา เพื่อต้องการยกระดับธุรกิจขายตรงและกฎหมายขายตรงให้ดีขึ้นและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น  อาทิ มาตราที่ 3 จากเดิมที่ความหมายของผู้จำหน่ายอิสระหมายถึงบุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายต่อผู้บริโภค  โดยให้แก้ไขใหม่เป็นบุคคลผู้บริโภคสินค้าหรือบริการหรือสมัครเป็นสมาชิกของธุรกิจขายตรงสามารถนำสินค้าหรือบริการนั้นไปเสนอตรงต่อผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หมายความรวมถึงการเป็นผู้แนะนำหรือชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมแผนธุรกิจของผู้ประกอบการขายตรงด้วย  

ส่วนมาตราอื่นๆที่สำคัญที่ทางสมาคมเสนอให้ยกเลิก  อาทิ  มาตรา19  ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวนจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น    ซึ่งมาตราดังกล่าวนี้ทางคณะกรรมการสมาคมฯได้พิจารณาว่าควรให้ยกเลิกไป  เนื่องจากไม่สอดคล้องกับลักษณะของการดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง  อีกทั้งหากเป็นความผิดจริงก็มีบทกฎหมายอื่นๆบังคับใช้อยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญาหรือพรบ.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2522

สำหรับมาตรา 21  ที่ว่าด้วยเรื่องผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนของตนที่ยื่นต่อนายทะเบียนตามมาตรา 38  หัวข้อย่อยที่ 3 ที่บอกว่าต้องไม่บังคับให้ผู้แทนจำหน่ายอิสระซื้อสินค้า  และหัวข้อย่อย 4 ที่ว่าต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างมาสมเหตุสมผล  เนื่องจากต้องการให้แผนการตลาดมีการเปิดกว้าง และมีการแข่งขันโดยเสรีทางการค้า  การซื้อขายสินค้าควรให้เป็นเสรีภาพของผู้จำหน่าย และการบังคับย่อมเป็นความผิดทางอาญาอยู่แล้ว  โดยทั่วๆไปลักษณะของธุรกิจขายตรงเป็นเรื่องของความพอใจในผลประโยชน์แลกเปลี่ยนและผลตอบแทนระหว่างผู้ประกอบการกับผู้จำหน่ายอิสระและผู้บริโภค ซึ่งไม่มีใครบังคับกันได้      ส่วนมาตราอื่นๆ ที่สำคัญในพรบ.นี้ อาทิ มาตรา 8 ,มาตรา 9 ,มาตรา 21 ,มาตรา 41 , มาตรา 42 และมาตรา 43  เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอต่อ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยเสนอต่อ ฯพณฯ พินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี  ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา    จากนั้นในวันนี้( 26 พ.ค.)ทางสมาคมเตรียมยื่นข้อเสนอไปให้อีก 2 หน่วยงาน ได้แก่  เสนอต่อนางสาวรัศมี วิศทเวทย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)   และเสนอต่อนายวิโรจน์ ณ บางช้าง  คณะกรรมการพิจารณาและแก้ไขกฎหมาย  เพื่อพิจารณาข้อเสนอต่อไป  ซึ่งแนวโน้มการแก้ไขพรบ.ในบางหัวข้อมีความเป็นไปได้สูง

นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานกฏหมาย จัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายและธุรกิจขายตรงขึ้น เพื่อให้บริการด้านกฎหมายและธุรกิจขายตรงแก่สมาชิกขายตรงหรือบุคคลทั่วไป  โดยจะมีนายประพันธ์ คูณมี ทนายความของสำนักงานกฎหมายจะเข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปรึกษาฯ   ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นเดือนหน้านี้    

นางสาวเบญวรรรณ กล่าวด้วยว่า หน้าที่หลักของสมาคมTDIA คือ คอยเฝ้าดูแลความเสียหายของธุรกิจขายตรง  ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้เข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ อาทิ  การที่บอร์ดของคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงมีเอกชนนั่งแท่นเป็นคณะกรรมการ ซึ่งบอร์ดชุดปัจจุบันนี้กำลังจะหมดวาระในเดือนสิงหาคมนี้      หรือการทำสัมมนาประชาพิจารณ์หัวข้อ “โปร่งใสหรือไม่ถ้ายังมีพ่อค้านั่งในบอร์ดขายตรง” ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน1,821ราย กว่า93% ไม่เห็นด้วยกับการมีพ่อค้านั่งในบอร์ดขายตรง   
กำลังโหลดความคิดเห็น