xs
xsm
sm
md
lg

WBแนะรัฐจับมือเอกชนเลี่ยงวิกฤตบำนาญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ – เวิลด์แบงก์เตือนภัยวิกฤตระบบบำนาญทั่วโลก แนะภาครัฐยกเครื่องระบบที่มีอยู่ โดยผสมผสานโครงการอดออมเพื่อวัยเกษียณของรัฐ เข้ากับระบบที่อิงกับแนวทางตลาดของภาคเอกชน

ในรายงานฉบับใหม่ที่มุ่งวิเคราะห์วิกฤตการณ์บำนาญที่ประเทศพัฒนาแล้วมากมายกำลังเผชิญอยู่นั้น ธนาคารโลกกล่าวว่า โครงสร้างด้านบำนาญที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ล้าสมัย และตึงเกินไปจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย และความกดดันทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน การเข้าสู่วัยชราภาพของคนรุ่น “เบบี้บูม” หรือคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเป็นปัญหาท้าทายที่ชัดเจนที่สุดสำหรับกระทรวงการคลังของประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น

รายงานที่ธนาคารโลกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันอังคาร (24) ระบุว่า สถานการณ์บำนาญมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น จากการที่ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากอัตราการหย่าร้างสูง การเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานหญิง และการจ้างงานชั่วคราว

โรเบิร์ต ฮอลซ์มานน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปกป้องสังคมของเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า บ่อยครั้งการสนับสนุนระบบบำนาญปัจจุบัน นำไปสู่ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และเพื่อให้ระบบดังกล่าวอยู่รอดต่อไป ในที่สุดรัฐบาลจึงต้องลดการใช้จ่าย หรือลดเงินบำนาญก้อนใหญ่สำหรับคนรุ่นต่อไป ซึ่งไม่ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว

รายงานของธนาคารโลกย้ำว่า การยกเครื่องระบบบำนาญควรเป็นไปด้วยความโปร่งใส และมีการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน

ริชาร์ด ฮินซ์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า หลายประเทศในโลกกำลังพัฒนา ตั้งแต่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงละตินอเมริกา และเอเชียเริ่มตระหนักถึงเค้าลางของปัญหาด้านประชากรและสังคม และลงมือปฏิรูปด้านบำนาญไปสู่ระบบที่มีการปูพื้นฐานแข็งแรงสำหรับความมั่นคงและการเติบโตในอนาคต

“รัฐบาลในภูมิภาคอื่นๆ จำเป็นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์นี้ เพื่อลงมือปฏิรูปก่อนประสบปัญหาจากต้นทุนทางการคลังและสังคมเพราะไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็วและครอบคลุมพอ”

ธนาคารโลก ซึ่งให้คำแนะนำกว่า 80 ประเทศ เพิ่มเติมว่า แผนปลดเกษียณที่ประสบความสำเร็จที่ภาครัฐพัฒนาขึ้นมา มีบางองค์ประกอบที่เหมือนกัน อาทิ รัฐมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ เพื่อที่ว่าผู้ปลดเกษียณที่ยากจนที่สุดจะมีเงินจุนเจือชีวิตในวัยชรา

อย่างไรก็ตาม ลำพังรัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถรับมือต้นทุนการปลดเกษียณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ รายงานของเวิลด์แบงก์ชี้ว่า การสมทบล่วงหน้าของแรงงานเอง บวกกับการลงทุนในแนวทางตลาด เป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนการปฏิรูปส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับการช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการของครอบครัว ซึ่งรวมถึงด้านสุขอนามัย และที่อยู่อาศัย

เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน จึงทำให้เกิดระบบบำนาญแบบผสมหลายเสาหลัก ที่นำเสนอความยืดหยุ่นและการบริหารความเสี่ยงอยู่ในตัว

รายงานแนะนำให้ประเทศต่างๆ นำกองทุนบำนาญไปกระจายลงทุนในด้านต่างๆ โดยที่มีทั้งภาครัฐ เอกชน และบริษัทจัดการกองทุน แยกกันบริหารการลงทุน

ริชาร์ด ฮินซ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายบำนาญของธนาคารโลก เสริมว่า การปฏิรูประบบบำนาญหมายถึงทางเลือกที่ยากลำบากและการแลกเปลี่ยน พร้อมยกย่องสหรัฐฯเรื่องความโปร่งใสและเปิดกว้างของกระบวนการยกเครื่องระบบบำนาญ โดยเฉพาะข้อเสนอของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในการจัดตั้งบัญชีการลงทุนส่วนบุคคลสำหรับแรงงานหนุ่มสาว ซึ่งหัวใจหลักของการเปิดอภิปรายประเด็นนี้ทางการเมืองคือ การปรับปรุงระบบบำนาญแบบผสมหลายเสาหลักที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งๆ ขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น