xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐไม่มีสิทธิปิดวิทยุชุมชนแนะใช้‘แผนพัฒนาสื่อฯ’แก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปส.ชี้รัฐมีวาระซ่อนเร้นสั่งปิดวิทยุชุมชนทั้งที่ไม่มีอำนาจ เพราะกลัวการตรวจสอบ ระบุคลื่นสัญญาณรบกวนการบินสามารถแก้ได้ด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม แฉรัฐบาลใช้ 2 มาตรฐานดำเนินการกับวิทยุชุมชนที่โจมตีรัฐบาล แนะใช้แผนพัฒนาสื่อฯ แก้ปัญหา พร้อมเรียกร้องตั้งกรรมการอิสระที่มีตัวแทนภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนเข้ามาร่วม พร้อมให้ยกเลิกการมีโฆษณา และควรปฎิรูปคลื่นความถี่ของรัฐเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับธุรกิจสื่อขนาดกลางและขนาดเล็ก

วานนี้ ( 22 พ.ค.) น.ส.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณงค์ เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) พร้อมด้วย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส.ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “ผ่าทางตันวิทยุชมชน คลื่นความถี่ต้องกระจายอย่างเป็นธรรม”

โดยนางอุบลรัตน์ กล่าวว่า หลังปี 2547 รัฐบาลก็เริ่มการปิดกั้นสื่อจึงทำให้เกิด การยกเลิกรายการ การขอให้ผู้จัดรายการบางคนอยู่หลังไมค์ ซึ่งเป็นการควบคุม ที่ไม่ถูกต้อง ทั้งคลื่นวิทยุเดิม และคลื่นวิทยุใหม่ ในเรื่องของกำลังส่งที่เกินกำหนด โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะกรรมการกิจการวิทยุกระเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)ไม่ได้รับผิดชอบทุกส่วนจึงถูกละเมิดมานาน หากจะจัดการแก้ไขปัญหาคลื่นวิทยุทั้งเดิมและใหม่ควรใช้การดำเนินการในส่วนของเทคโนโลยีและการจัดการอย่างเท่าเทียมตามแผนพัฒนาสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม เพื่อการพัฒนาคนและสังคม พ.ศ.2542-2551

โดยเฉพาะในบทที่ 4 ของแผนที่พูดถึงวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคม เพื่อการพัฒนาคนและสังคม ด้วยการจัดสรรคลื่นวิทยุ โดยใช้หลัก ภาครัฐ 40 % ภาคธุรกิจ 40 % และวิทยุชุมชน 20 % ดังนั้นควรมีการนำแผนดังกล่าวมาจัดสรรกันใหม่โดยกสช.ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้มีการผูกขาด

“ควรพูดจากันอย่างจริงจังโดยทุกฝ่ายในขณะนี้ที่มีปัญหาเพราะรู้สึกว่าจะเกิดสถานการณ์สูญเสีย ดังนั้นถ้ามีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ยึดหลักรัฐธรรมนูญก็จะบรรลุเป้าหมาย สิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านระบบสื่อ ไม่ได้เป็นการหวงไว้ ในแบบเดิม” น.ส.อุบลรัตน์กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า กรณีคลื่นวิทยุชุมชนจะไปรบกวนกันเอง หรืออาจ ไปกระทบต่อคลื่นการบินเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่เรื่องนี้สามารถจัดการได้ด้วยการกำกับดูแลทางเทคนิควิศวกรรม ที่คณะกรรมการ กสช. สามารถเข้ามาจัดการ แต่ไม่ใช่ การแก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดสถานี ซึ่งไม่สร้างสรรค์และคปส.เห็นว่าการที่รัฐบาล ยกเหตุผลนี้มาอ้างเป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว สะท้อนให้เห็นวาระซ่อนเร้น ในเรื่องการเมืองและการเลือกปฏิบัติ

“ดูได้จากกรณีคลื่น 92.25 ที่ประกาศตัวเป็นคลื่นที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลเมื่อเป็นสถานีวิทยุอิสระที่ท้าทายรัฐบาล รัฐบาลไม่อาจทนรับสภาพที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องหาทางจัดการคลื่นวิทยุดังกล่าว โดยให้เหตุผลในการสั่งปิดสถานีด้วยเหตุผลว่า คลื่นวิทยุไปรบกวนคลื่นวิทยุการบินเพราะสถานีตั้งอยู่ใกล้วิทยุการบิน รวมทั้งกรณีอีก 7 คลื่นที่ถูกปิดก็คาดว่าคงจะเป็นการสังเวยเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างในการสร้างความ ชอบธรรมของรัฐที่จะจัดการวิทยุที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล”

เลขาธิการ คปส. กล่าวอีกว่า การดูแลวิทยุชุมชนในขณะนี้ที่ยังไม่มีคณะกรรมการ กสช.อยากให้รัฐตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาวิทยุชุมชน โดยเป็นคณะกรรมการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการวางกติกาและกำหนดมาตรฐาน คุณสมบัติของวิทยุชุมชนและวิทยุทั่วไปเพราะรัฐไม่มีอำนาจสั่งปิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ซึ่งวิธีการที่รัฐทำแบบนี้ถือเป็นวิธีการที่ย้อนยุค

“การที่กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลเพียงลำพังไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเพราะจะเข้าข่ายใช้แนวคิดอำนาจนิยม และการเลือกปฏิบัติกลั่นแกล้งกลุ่มอื่น แต่ปกป้องเครือญาติตนเองและพวกพ้อง ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาล รัฐควรแก้ปัญหาด้วยการเปิดเวทีให้คณะกรรมการอิสระสมานฉันท์ ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมี กสช. เพราะเชื่อว่ารัฐเลือกปฏิบัติ เช่นคลื่น 102.25 ที่มี ข้อครหาว่าเป็นสถานีของเครือข่ายญาตินายกรัฐมนตรี และคลื่นของนักการเมือง ท้องถิ่นในต่างจังหวัดจำนวนมาก กลับไม่ถูกตรวจสอบแต่รัฐดำเนินคดีจับแกนนำ วิทยุชุมชนอ่างทอง คือ นายเสถียร จันทรที่ถูกจับดำเนินคดีอาญาด้วยข้อหา การมีเครื่องส่งและวิทยุชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต”

เลขาธิการ คปส. กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติ2 มาตรฐาน เช่นนี้จะทำให้เกิดความระส่ำระสายท้ายที่สุดกลุ่มธุรกิจการเมืองที่มีเส้นหนาจะได้เปรียบผู้อื่นในขณะที่สื่ออิสระที่เห็นต่างกับรัฐบาลจะถูกกลั่นแกล้งและประชาชนจะถูกปิดหูปิดตาสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและการเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจซึ่งในสัปดาห์หน้าจะยื่นหนังสือขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอนฟ้องนายเสถียร

น.ส.สุภิญญา ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาวิทยุชุมชนด้วยว่ารัฐต้องยุติ การคุกคามเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ตรวจสอบรัฐบาลยกเลิกประกาศกรมประชาสัมพันธ์ ที่อนุญาตให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้เพราะเหตุดังกล่าวเป็นต้นตอของปัญหา และผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และรัฐต้องปฏิรูปคลื่นความถี่ของรัฐเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับธุรกิจสื่อขนาดกลางและขนาดเล็ก รัฐต้องยุติการใช้ 2 มาตรฐานในการเลือกปฏิบัติ และขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีตัวแทนจากภาครัฐเอกชนและประชาชน แก้ปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่
กำลังโหลดความคิดเห็น