xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางดอลลาร์ไม่น่า‘ขึ้น’ยาว ปัจจัยสนับสนุนใกล้ขาดแคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Agencies - ดอลลาร์ระยะนี้แข็งค่าสุดขีดในรอบกว่าครึ่งปี ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวห้าวหาญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระนั้น นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังไม่ปักใจเชื่อว่า ค่าเงินอเมริกันจะแข็งแกร่งยืนยาว โดยปัจจัยที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้คือ การรายงานอัตราเติบโตไตรมาสแรกของอเมริกา

หลังจากหัวหกก้นขวิดมาตลอดฤดูใบไม้ร่วง ขนาดตกไปทำสถิติต่ำสุดเมื่อเทียบยูโรที่ระดับ 1.36 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว แต่ตั้งแต่ต้นเดือนนี้ เงินตราสหรัฐฯกลับตีตื้นขึ้นมาเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ ส่งให้ยูโรเป็นฝ่ายหล่นไปทำสถิติต่ำสุดในรอบ 7 เดือนบ้างที่ระดับ 1.2581 ดอลลาร์ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (16) เช่นเดียวกับเยนที่ตกไปอยู่ที่ 106.90 เยนต่อดอลลาร์

กระทั่งวันศุกร์ (20) สกุลเงินอเมริกันยังยืนจังก้าอยู่ที่ 1.2558 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 108.16 เยน หลังจากทางการฝรั่งเศสรายงานว่า อัตราขยายตัวไตรมาสแรกขยับขึ้นเบาหวิวแค่ 0.2% ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตรุดหน้าประเทศอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ไปมาก

อย่างไรก็ดี ไบรอัน โดลัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยค่าเงินของเกน แคปิตอล มองว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ไม่น่ายืนยาว เพราะดูเหมือนอัตราแลกเปลี่ยนสหรัฐฯจะมาไกลเกือบสุดทางแล้ว

ฮันส์ เรเดเกอร์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์การปริวรรตเงินตราของบีเอ็นพี ปาริบาส์ในลอนดอน เห็นด้วยว่า ดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินที่มีปัญหาเรื่องความสมดุลทางโครงสร้าง

นักเศรษฐศาสตร์แจงว่า การแข็งค่าของดอลลาร์ระยะนี้ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจแดนอินทรีที่ดูดีเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การค้า หรือการบริโภค ตลอดจนถึงการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะสานต่อนโยบายขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ไม่มีทีท่าว่าจะปรับนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด อันทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของสองฝ่ายยิ่งเพิ่มขึ้น เงินทุนจึงหลั่งไหลมาลงที่สินทรัพย์สกุลดอลลาร์

นอกจากนั้น เงินตราอเมริกันยังถูกกระตุ้นจากปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะการคาดเดาเรื่องการปรับค่าเงินหยวน ที่ช่วยผ่อนเพลาความกังวลเรื่องปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯไปได้ชั่วระยะ

แต่นักเศรษฐศาสตร์และเทรดเดอร์ตลาดเงินเตือนว่า ดอลลาร์อาจปักหัวลงดื้อๆ หากปัจจัยบวกไม่หลั่งไหลมาสนับสนุนเหมือนเคย โดยเฉพาะจีนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชพักนี้ชักจะกดดันพญามังกรหนักข้อและถี่ขึ้นทุกที

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงคลังเสนอรายงานต่อรัฐสภาระบุว่า จีนบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลด้านการส่งออก แต่ขณะเดียวกัน การกระทำดังกล่าวกลับสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่เอง ตลอดจนถึงประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก

ตอนหนึ่งของรายงานยังขู่ว่า ถ้าจีนไม่ยอมปรับเปลี่ยนกลไกอัตราแลกเปลี่ยนภายใน 6 เดือน จะถือว่าเข้าข่ายประเทศที่แทรกแซงค่าเงินตามข้อกำหนดของสหรัฐฯ ซึ่งเปิดทางให้มีการดำเนินมาตรการตอบโต้

ถัดมาอีกวัน วอชิงตันขย่มซ้ำ ด้วยการประกาศกำหนดโควตานำเข้าสิ่งทอจากจีนเพิ่มอีก 4 รายการ เพื่อเป็นการกดดันเรื่องค่าเงินทางอ้อม

กระนั้นก็ตาม ถึงปักกิ่งยอมให้หยวนแข็งค่าขึ้น ก็หาช่วยให้สหรัฐฯรอดพ้นจากความเสี่ยงทั้งมวลได้ไม่ เพราะเมื่อนั้น ธนาคารกลางเอเชียจะคลายความเสน่หาพันธบัตรคลังสหรัฐฯลง ส่งผลให้ดอกเบี้ยของอเมริกาดีดขึ้น และการเติบโตชะลอลง

ที่สำคัญ ปัญหากดดันดอลลาร์ที่แท้จริงยังเป็นเรื่องของการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯเอง

วันศุกร์ที่ผ่านมา (20) อลัน กรีนสแปน ประธานผู้ว่าการเฟด ตอกย้ำเรื่องนี้อีกคำรบระหว่างการไปร่วมงานประชุมของอิโคโนมิก คลับในนิวยอร์ก โดยบอกว่าที่สุดแล้ว จีนต้องยอมให้เงินหยวนแข็งขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์ จากที่ตรึงไว้ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์มานานปี เพราะถูกแรงบีบคั้นจากภายในประเทศด้วยเช่นกัน แต่นั่นจะไม่ช่วยให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าประเทศอื่นลดลง

กรีนสแปนอธิบายว่า เพราะหากจีนทำเช่นนั้น ซัปพลายเออร์จะหันไปหาสิ่งทอราคาถูกและสินค้าอื่นๆ ที่ขณะนี้จีนเป็นแหล่งผลิตจากประเทศอื่นแทน เช่น มาเลเซีย หรือไทย เท่ากับว่า สหรัฐฯก็ยังต้องนำเข้าสินค้าเดิมๆ แต่เปลี่ยนแหล่งที่มา ผลลัพธ์คือ คนอเมริกันต้องจ่ายแพงขึ้น

สำหรับสัปดาห์นี้ คาดว่าตลาดเงินจะจับตาการทบทวนอัตราเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯประจำไตรมาสแรก โดยเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เงินตราอเมริกันวูบลง หลังจากตัวเลขเบื้องต้นระบุว่า เศรษฐกิจเมืองลุงแซมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ชะลอลงอยู่ที่ 3.1% จาก 3.8% ในไตรมาสสุดท้ายปี 2004
กำลังโหลดความคิดเห็น