xs
xsm
sm
md
lg

ยุคทองของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้นว่า ยานยนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์อยู่ในขั้นดีมาก ทำให้มีการลงทุนขยายกำลังผลิตจำนวนมาก

จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อุปสงค์ต่อปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เป็นต้นว่า กรณีของประเทศไทย ในระยะที่ผ่านมาอุปสงค์ต่อปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.5 เท่า ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้นว่า หากเศรษฐกิจโต 4% อุปสงค์ของปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น 6%

ปัจจุบันอุปสงค์ของประเทศจีนต่อปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นในอัตราสูงมาก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 17% ของอุปสงค์ของทั่วโลก โดยจีนสามารถผลิตได้เพียงครึ่งเดียวของปริมาณความต้องการทั้งหมด ดังนั้น ต้องนำเข้าอีกครึ่งหนึ่ง โดยในปี 2547 นำเข้าเป็นมูลค่าสูงถึง 1,600,000 ล้านบาท จึงนับเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก

จากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้มีการใช้กำลังผลิตในระดับสูง โดยในปี 2547 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกใช้กำลังผลิตโดยเฉลี่ยมากถึง 91% ขณะเดียวกันราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้นว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ราคาเอทิลีนและ HDPE ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกมีกำไรมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2547 รวมถึงบริษัทปิโตรเคมีของไทยด้วยที่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ

เดิมมีการพยากรณ์ว่าในปี 2548 จะเป็นช่วงขาลง เนื่องจากการเปิดดำเนินการของโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่ง น่าจะทำให้ราคาปิโตรเคมีอ่อนตัวลง เป็นต้นว่า โรงงานโอเลฟินส์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี ของบริษัท Jubail United ในซาอุดิอาระเบีย เปิดดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2548, โรงงานโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ของบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) ขนาดกำลังผลิตเอทิลีน 300,000 ตัน/ปี เปิดดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2548, โรงงานปิโตรเคมีขนาด 900,000 ตัน/ปี ของบริษัท BP Secco ในประเทศจีน เปิดดำเนินการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานขนาดยักษ์มูลค่า 120,000 ล้านบาท ของบริษัท BASF-Yanzhi PC ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของบริษัท BAFS แห่งเยอรมนีกับบริษัท Sinpec ของจีน ที่นครนานกิงในประเทศจีน กำหนดเปิดดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 โดยโครงการประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทิลีนขนาด 600,000 ตัน/ปี รวมถึงโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำอีก 9 โรงงาน เป็นต้นว่า LDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี, Ethylene Glycols ขนาด 300,000 ตัน/ปี

แม้ในช่วงที่ผ่านมามีหลายโรงงานเปิดดำเนินการ แต่ราคาปิโตรเคมีอ่อนตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นับว่าดีกว่าที่คาดหมายเอาไว้มาก เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ประการแรก การก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ยังคงไม่ทันกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องใช้เวลาก่อสร้างค่อนข้างนาน เป็นต้นว่า การก่อสร้างโรงงานโอเลฟินส์ต้องใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 3 ปี

การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า คือ โรงงานโอเลฟินส์ที่มีอยู่แล้วขยายกำลังผลิตในรูปแบบแบบ Debottleneck เป็นการปรับเครื่องจักรบางส่วนของโรงงานเดิม แม้การขยายกำลังผลิตในลักษณะเช่นนี้ลงทุนค่อนข้างน้อย แต่สามารถขยายกำลังผลิตได้ค่อนข้างจำกัด เป็นต้นว่าไม่เกิน 8%

ประการที่สอง การก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในตะวันออกกลางล่าช้ากว่ากำหนด แม้โรงงานในตะวันออกกลางจะมีข้อได้เปรียบสำคัญ คือ สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาถูก แต่ปัญหาการก่อการร้ายทำให้ต้นทุนการก่อสร้างโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านรักษาความปลอดภัย ทำให้สถาบันการเงินลังเลที่จะปล่อยสินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการเจรจาเกี่ยวกับราคาซื้อขายวัตถุดิบ

ประการที่สาม บริษัทเกาหลีใต้เผชิญปัญหาต้องปรับโครงสร้างทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถลงทุนจำนวนมากเพื่อก่อสร้างโรงงานไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับอุปสงค์เหมือนกับในระยะที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญจึงปรับการพยากรณ์ว่าขาลงของปิโตรเคมีน่าจะยืดออกไปถึงปี 2551 อันเป็นช่วงที่การก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่หลายแห่งในภูมิภาคตะวันออกกลางกำหนดจะแล้วเสร็จ เป็นต้นว่า การก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีที่ Yanbu ของบริษัท SABIC ซึ่งมีกำลังผลิตเอทิลีน, EG, PE, และ PP รวม 3.8 ล้านตัน/ปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2551, โครงการขยายโรงงานผลิตเอทิลีน, EG, และ PE อีก 2.9 ล้านตัน/ปี ของบริษัท Eastern Petrochemical ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท SABIC และบริษัทมิตชูบิชิ กำหนดแล้วเสร็จปี 2551

แม้สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในขั้นดีมาก แต่ก็มีความท้าทายหลายประการสำหรับประเทศไทย ประการแรก จีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ได้ขยายกำลังผลิตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นประเทศผลิตปิโตรเคมีใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

เดิมจุดอ่อนสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของจีน คือ โรงงานมีขนาดเล็ก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่โครงการลงทุนของจีนในระยะหลังจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ในระดับ World Scale เพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ซึ่งจะส่งผลดีทำให้มีต้นทุนการผลิตลดต่ำลงมาก โดยปัจจุบันจีนมีโรงงานโอเลฟินส์ขนาดใหญ่มากจำนวน 3 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม จีนจะยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างน้อยในช่วง 4 – 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศจีนซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ทันกับความต้องการ เป็นต้นว่า อุปสงค์ต่อเอทิลีนของจีนได้เพิ่มขึ้นมากถึงเท่าตัวในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จากเดิม 5 ล้านตัน ในปี 2541 เพิ่มเป็น 10 ล้านตัน ในปี 2547

นอกจากขยายกำลังผลิตแล้ว จีนยังมีความพยายามพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี โดยปัจจุบันบริษัทท้องถิ่นของจีนได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรมสำหรับโรงงานปิโตรเคมีภายในประเทศแล้ว และในอนาคตมีศักยภาพสูงในการหาตลาดต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนการออกแบบทางวิศวกรรมในประเทศจีนอยู่ในระดับต่ำมาก

ประการที่สอง กลุ่มตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ประเทศอื่นๆ ไม่มี คือ มีก๊าซธรรมชาติในราคาถูก ดังนั้น โรงงานปิโตรเคมีของตะวันออกกลางจึงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ นับว่าแตกต่างจากกรณีของโรงงานในประเทศจีนที่ใช้แนพทาเป็นวัตถุดิบ

ประเทศเหล่านี้ต้องการลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน จึงได้ขยายกำลังผลิตปิโตรเคมีอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศมีจำกัด เนื่องจากมีพลเมืองน้อย ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมมีขนาดเล็ก

ตัวอย่างหนึ่ง คือ เอทิลีน กำลังผลิตของภูมิภาคตะวันออกกลางคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 12 – 13 ล้านตัน/ปี ในปี 2548 เป็น 18 ล้านตัน/ปี ในปี 2553 โดยเป็นกำลังผลิตของซาอุดิอาระเบียประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด รองลงมา คือ อิหร่าน กาตาร์ และคูเวต

อย่างไรก็ตาม แม้ภูมิภาคตะวันออกกลางจะเพิ่มกำลังผลิตเอทิลีน แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะส่งออกในรูปเอทิลีนลดน้อยลง โดยหันไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยเปลี่ยนมาส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้นว่า โพลิเอทิลีน โดยมีการคาดหมายว่ายอดส่งออกโพลีเอทิลีนของภูมิภาตตะวันออกกลางจะเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านตัน ในปี 2548 เป็นเกือบ 13 ล้านตัน ในปี 2553

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทในตะวันออกกลางยังพยายามสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพยายามพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นเดียวกันกับกรณีของบริษัทในประเทศจีน โดยเฉพาะบริษัท Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) รัฐวิสาหกิจของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งนับเป็นบริษัทปิโตรเคมีใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก โดยนอกจากจะมีศูนย์วิจัยในซาอุดิอาระเบียแล้ว ยังมีศูนย์วิจัยในต่างประเทศ 3 แห่ง คือ ที่นครฮุสตันในสหรัฐฯ ที่เมือง Vadadora ในอินเดีย และที่เมือง Geleen ในเนเธอร์แลนด์

สุดท้ายนี้ จากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมีของไทยต่างมีกำไรจำนวนมาก เป็นต้นว่า บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิเพิ่มจาก 1,407 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 6,482 ล้านบาท ในปี 2547 บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิเพิ่มจาก 2,317 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 4,358 ล้านบาท ในปี 2547

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีของเครือซีเมนต์ไทยมีกำไรจากการดำเนินการเพิ่มขึ้นจาก 7,705 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 17,973 ล้านบาทในปี 2547 ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิเพิ่มจาก 4,004 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 10,342 ล้านบาท ในปี 2547

จากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ผู้ประกอบการปิโตรเคมีไทยหลายรายมีแผนขยายกำลังผลิตในอนาคต นอกจากนี้ บางรายก็กำลังศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขปัญหาบริษัททีพีไอซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ปัจจุบันการดำเนินการคืบหน้าไปมากแล้ว หากสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นผลสำเร็จ น่าจะเป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น