xs
xsm
sm
md
lg

เกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคล ผลักคนกู้สู่นอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคล แจงมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ จะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนหันไปกู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงลิบ ส่งผลให้เป็นหนี้เสียที่รัฐบาลต้องตามแก้ในอนาคต แต่พร้อมปฏิบัติตามทางการ ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันแย่งชิงลูกค้ากันมากขึ้น ส่วนงาน Money Expo วันที่ 2 ยังคึกคัก ธุรกรรมการเงินรวมสองวันกว่า 2 หมื่นล้าน

หลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเป็นห่วงภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาระหนี้จากบัตรเครดิต จนต้องส่งสัญญาณให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปดูแล

รวมถึง กรณีที่ผู้ว่าการธปท.ระบุว่า สินเชื่อบุคคลของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์)มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และนอนแบงก์คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง คือ คิดอัตราดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ 35-58.60% ทำให้ ธปท. ต้องนำเรื่องเสนอต่อกระทรวงการคลัง เพื่ออนุมัติหลักเกณฑ์ออกมาควบคุม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อ และคุมเพดานดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 20-28% นั้น

นายขวัญชัย โหมดประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด กล่าวถึง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลในระดับ 20-28% ว่า หากทางการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ บริษัทพร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะทำให้กลุ่มคนที่มีความสี่ยงสูง มีรายได้ต่ำได้รับการปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปใช้เงินนอกระบบที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากขึ้น

"หากทางการประกาศใช้อย่างเป็นทางการที่จะคุมดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลให้อยู่ในช่วง 20-28% เรายินดีปฏิบัติตาม แต่ก็จะทำให้มีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณา เชื่อว่าในที่สุดตัวเลขที่ออกมาจะทำให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบการและลูกค้า"

นายขวัญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ที่มีรายได้ในช่วงระหว่าง 9,000-10,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

นางสาวอัญชลี เบสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อบุคคล ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่ามาตรการควบคุมสินเชื่อบุคคล ไม่น่าที่จะกระทบกับธนาคาร เนื่องจากธนาคารดำเนินธุรกิจตามกรอบที่ ธปท. กำหนดอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อและเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยปัจจุบันธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18% ต่อปี ขณะที่สินเชื่อมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดที่เอ็มอาร์อาร์ (อยู่ที่ 5-6%)

สำหรับสินเชื่อบุคคลของธนาคารที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีการนำเสนอให้กับลูกค้า 2 ประเภท คือ กลุ่มที่เป็นลูกค้าเก่า ที่ต้องการเงินกู้เพิ่มเติม ธนาคารจะเพิ่มวงเงินให้ทันที และกลุ่มที่เป็นลูกค้าใหม่ ที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้า โดยตั้งเป้าปีนี้ไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

นายธาดา จารุกิจไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า ธนาคารคงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มที่ธปท.กำลังจะประกาศใช้ เพราะปัจจุบันธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลจากลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 16-17% ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะที่กลุ่มลูกค้าจะเน้นระดับกลางที่มีรายได้ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน

"กลุ่มลูกค้าธนาคารไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินมากนัก และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบุคคลนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะใช้เงินจริงๆ และมีเครดิตที่ดี เชื่อว่าน่าจะใช้จ่ายอย่างเกินตัวหรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์"

นายธาดา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบมาตรการที่ชัดเจนของธปท. แต่หากมีการจำกัดรายได้อยู่ที่ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มดังกล่าวประมาณ 2.8 ล้านราย ขณะที่ผู้ประกอบการนอนแบงก์ จะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับล่างที่มีจำนวนสูงถึง 5-7 ล้านราย ดังนั้นหากมาตรการออกมาจะทำให้กลุ่มลูกค้าลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มาตรการคุมเข้มสินเชื่อบุคคล เป็นเรื่องที่ทางการควรจะพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะการจำกัดรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามาขอสินเชื่อเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน หากทางการมีเข้มงวดเงื่อนไข จะทำให้กลุ่มดังกล่าวหันไปกู้เงินนอกระบบ และย้อนมาเป็นปัญหาหนักสำหรับประเทศอีก

ส่วนประเด็นของการกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่มองว่านอนแบงก์ คิดอัตราดอกเบี้ยสูง และเอาเปรียบลูกค้านั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า การคิดดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า รวมทั้งวงเงินที่อนุมัติจะให้รายละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นวงเงินที่น้อยมาก หากมีปัญหาเป็นหนี้เสีย ความเสียหายน้อยกว่าเงินกู้ปกติที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้กับลูกค้า

สำหรับบรรยากาศงาน Money Expo วานนี้ (20 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดงาน ได้มีประชาชนเข้าร่วมงานและเข้ามาขอใช้บริการธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ กันอย่างหนาตา โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 80,000 คน และมีธุรกรรมทางการเงินรวม 12,000 ล้านบาท รวมกับวันแรกที่มีผู้เข้าร่วมงาน 60,000 คน และธุรกรรมทางการเงิน 8,000 ล้านบาท รวมทั้ง 2 วัน มีผู้เข้าร่วมงาน 140,000 คน ธุรกรรมการเงินกว่า 20,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น