xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์แห่งโลกภายใน (48)

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา


ได้พรรณนากัมมัฏฐานวิธีแบบกสิณ 10 วิธี และอสุภสัญญา 10 วิธีแล้ว ลำดับแต่นี้ไปจักแสดงกัมมัฏฐานวิธีแบบอนุสติอีก 10 วิธี ต่อไป

การฝึกฝนอบรมจิตแบบอนุสติ 10 วิธี ก็เช่นเดียวกันกับแบบกสิณ 10 วิธี และอสุภสัญญา 10 วิธี นั่นคือพระบรมศาสดาทรงแสดงอนุสติ 10 วิธี ไว้เป็นแม่บทหรือเป็นแม่แบบในการฝึกฝนอบรมเท่านั้น เพราะการฝึกฝนอบรมจิตแบบอนุสตินั้นยังมีอีกมากมายหลายวิธี ขอให้เป็นเพียงการผูกจิตซึ่งทำหน้าที่สติไว้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้น

เพราะอนุสติก็คือการผูกจิตหรือผูกสติไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่คือความหมายโดยอรรถะของคำว่าอนุสติ ในขณะที่ความหมายโดยพยัญชนะนั้นแปลว่าการตามระลึกถึงธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่กล่าวว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหมายถึงสิ่งที่เป็นรูป สิ่งที่ไม่เป็นรูป สิ่งที่เป็นคุณสมบัติ สิ่งที่เป็นคุณธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งอาจกล่าวรวมว่าทั้งหมดนั้นคือธรรม การผูกสติหรือผูกจิตไว้กับธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมีชื่อว่าอนุสติ

พระบรมศาสดาทรงวางแบบอย่างการฝึกฝนแบบอนุสติไว้ 10 วิธีคือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ อุปสมานุสติ มรณานุสติ กายคตาสติ และอานาปานสติ

พุทธานุสติคือการตามระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับพระคุณของพระพุทธเจ้า

ธัมมานุสติคือการตามระลึกถึงพระคุณของพระธรรม หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับพระคุณของพระธรรม

สังฆานุสติคือการตามระลึกถึงพระคุณของพระอริยสงฆ์ หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับพระคุณของพระสงฆ์

สีลานุสติคือการตามระลึกถึงคุณของศีล หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับคุณของศีล

จาคานุสติคือการตามระลึกถึงทาน หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับการให้ทาน

เทวตานุสติคือการตามระลึกถึงเทวดา หรือคุณความดีของเทวดา หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับเทวดาหรือคุณของเทวดา

อุปสมานุสติคือการตามระลึกถึงคุณแห่งพระนิพพาน หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับคุณของพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ดับทุกข์สิ้นเชิง

มรณานุสติคือการตามระลึกถึงความตาย ว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นสภาวะที่เป็นจริงอย่างหนึ่งที่ทุกชีวิตเกิดมาแล้วย่อมต้องตาย แม้ตัวเราก็มีความตายเป็นที่สุดในสักวันหนึ่ง หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับความตาย

กายคตาสติคือการตามระลึกถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งของร่างกาย อวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกาย หรือการผูกจิตไว้กับกายอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งลมหายใจเข้าออกด้วย

อานาปานสติคือการตามระลึกถึงลมหายใจเข้าออก หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับลมหายใจที่แล่นเข้าออกอยู่ในกายนี้

นั่นคือความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความหมายของอนุสติ 10 วิธี ที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสอน และเป็นความเข้าใจเบื้องต้นตามที่บรรดาครูบาอาจารย์ทุกสำนักต่างให้ความหมายในทางปริยัติที่ถูกตรงลงกัน และหากอธิบายอนุสติในลักษณะเช่นนี้ก็จะไม่มีข้อโต้แย้งโต้เถียงอะไรกัน

แต่เมื่อจำต้องกล่าวลึกลงไป พิสดารออกไป และไม่จำกัดดังที่ถูกจำกัดเอาไว้ว่ากัมมัฏฐานวิธีบางอย่างให้ผลหรืออานิสงส์แค่ภูมิธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ดังที่มักนิยมแสดงไว้ในบางคัมภีร์ บางตำรา บางสำนักแล้ว ก็อาจจะเป็นที่มาหรือเป็นบ่อเกิดของการโต้แย้งถกเถียงกันได้ง่าย

ดังนั้นจึงกราบขอความกรุณาและออกตัวไว้เสียแต่ในชั้นนี้ว่าหากจะได้แสดงความใดที่ไม่ต้องใจหรือไม่ตรงกับที่ได้รับรู้ได้ศึกษามาแต่ก่อนแล้ว ขออย่าได้เห็นเป็นเรื่องผิดเรื่องพลาดที่จะต้องมาโต้แย้งโต้เถียงกันเลย เพราะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งต่อตนเองและต่อท่านผู้อื่น ขออย่าได้เสียเวลาคิดอ่านหาเหตุหาผลมาโต้เถียงกันให้สูญเสียเวลาไปเปล่า ๆ ขอได้ใช้เวลาและความเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นไปทดลองปฏิบัติตามวิธีที่รู้มาแต่ก่อนก็ได้ ตามวิธีที่จะแสดงนี้ก็ได้ ผลของการปฏิบัติจริงนั่นแหละจะทำให้ได้รู้ว่าเป็นอย่างไร และทำให้มีโอกาสได้ลิ้มรสพระธรรมอย่างแท้จริงอีกโสตหนึ่งด้วย

หากได้ทำตามที่กล่าวนี้แล้ว อาณาประโยชน์ย่อมบังเกิดมีแก่ผู้ปฏิบัติเองโดยไม่ต้องเสียเวลาและเกิดปัญหาโต้เถียงกันและนั่นก็เป็นอานิสงส์อย่างหนึ่ง เป็นมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลกภายในที่สามารถเข้าไปสัมผัส ไปทดลองลิ้มชิมรสได้ด้วยตนเองโดยไม่ยากไม่ลำบากและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

ขอเพื่อนชาวพุทธได้โปรดมองความต่างและตัดสินความต่างด้วยการปฏิบัติตามวิถีทางที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนนั้นเถิด ก็จะเห็นความจริง จะพบความจริง จะสัมผัสความจริงดังที่กล่าวกันโดยนิยมในบทสรรเสริญพระธรรมว่าพระธรรมนั้นเป็น อกาลิโกไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นสันทิฏฐิโก เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติเข้าถึงด้วยตนเองก็จะรู้เห็นเอง ดังนี้แล้วก็จะถึงซึ่งความประเสริฐ สมกับความเป็นมนุษย์เป็นแน่แท้

อันคำสอนของพระบรมศาสดานั้นไม่มีธรรมข้อใดที่มีลักษณะเป็นต้นไม้ไร้ยอดหรือเป็นตาลยอดด้วน เพราะบรรดาพระธรรมทั้งหลายที่พระบรมศาสดาทรงแสดง ทรงบัญญัติแล้วนั้นไหลไปในทางเดียวกัน มุ่งไปสู่ที่หมายปลายทางเดียวกัน คือทุกข์และความดับทุกข์ นั่นคือพระนิพพานทั้งสิ้น

ดังนั้นกัมมัฏฐานวิธีแต่ละวิธีจึงมุ่งไปสู่พระนิพพานหรือวิมุติมิติทั้งสิ้น ไม่มีวิธีใดที่ทรงบัญญัติไว้ให้เป็นตาลยอดด้วนหรือเป็นทางตันที่ไปสู่มรรคผลนิพพานไม่ได้ เป็นแต่ว่าลำดับขั้นฝึกฝนอบรมจิตนั้นนอกจากที่จะบรรลุมรรคผลโดยแวบวาบแปลบปลาบแบบวชิรญาณแล้วย่อมมีกระบวนการขั้นตอนที่เป็นระบบในตัวเอง ไม่ว่าในหนทางแห่งปัญญาวิมุติ หรือเจโตวิมุติก็ตาม

ดังนั้นอย่าได้ติดยึดหรือตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์เสียแต่ต้นว่ากัมมัฏฐานวิธีนั้นวิธีนี้ให้ผลขั้นต่ำบ้าง ให้ผลขั้นกลางบ้าง ให้ผลขั้นสูงบ้างเลย ทุกวิธีที่ทรงบัญญัติสามารถมุ่งสู่พระนิพพาน ถึงแดนแห่งวิมุติมิติอย่างเดียวกันทั้งสิ้น ข้อสำคัญจึงเป็นดังที่ได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่าพึงเลือกกัมมัฏฐานวิธีที่เหมาะสมสอดคล้องกับอัชฌาสัยของตน จะทำให้ง่ายต่อการฝึกอบรมและสัมผัสรู้ถึงผลปฏิบัติได้ง่ายยิ่งขึ้น

กัมมัฏฐานวิธีแบบอนุสติทั้ง 10 วิธี เป็นการฝึกอบรมที่มุ่งต่อสติ นั่นคือการผูกจิตซึ่งทำหน้าที่เป็นสติไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือใช้สติตามระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นเรื่องที่ประณีตละเอียดอ่อนและลึกซึ้งกว่ากัมมัฏฐานวิธีจำพวกกสิณวิธีและอสุภสัญญา

ในกัมมัฏฐานวิธีจำพวกกสิณนั้นเป็นการฝึกฝนอบรมที่มุ่งไปที่รูปและเวทนา เพื่ออาศัยรูปและเวทนานั้นกำหนดเป็นอารมณ์กระทำเป็นอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เพราะว่ากสิณวิธีทั้งหมดเกี่ยวข้องกับรูปและเวทนา แม้สิ่งที่อาจเข้าใจว่าไม่ใช่รูป เช่น อากาศ แสงสว่าง และความว่าง สิ่งเหล่านั้นแม้ในทางโลกหรือทางกายภาพจะถือว่าไม่มีรูป แต่ในทางธรรมก็ถือว่าเป็นรูปอย่างหนึ่งไม่ใช่นาม เป็นการถ่ายทอดรูปและความรู้สึกที่สัมผัสได้จากทางกายเข้าสู่จิต และอาศัยรูปนั้นกระทำอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต

ส่วนกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอสุภสัญญาเป็นการฝึกฝนอบรมที่มุ่งไปที่สัญญาหรือการทรงจำกำหนดหมาย หรือนัยหนึ่งก็คือสัญญาขันธ์ หรือการทำหน้าที่ของจิตที่ทำหน้าที่สัญญาขันธ์นั่นเอง

แต่กัมมัฏฐานวิธีจำพวกอนุสติทั้ง 10 วิธี เป็นการฝึกฝนอบรมที่มุ่งไปที่สติเพื่อให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นโดยลำดับ และรู้เท่าทันต่อสภาวะธรรมทั้งปวงเพื่อให้มีผลต่อการระงับยับยั้งการปรุงแต่งจิต หรือนัยหนึ่งก็คือสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่งจิตไปในทางดี ทางชั่ว ในทางโลภ โกรธ หลง ในทางอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

ดังนั้นกัมมัฏฐานวิธีจำพวกอนุสติทั้ง 10 วิธี จึงไม่มุ่งเน้นที่รูปเพื่อกำหนดเป็นอุคหนิมิตและกระทำเป็นปฏิภาคนิมิตเหมือนกับแบบกสิณหรืออสุภสัญญา และอาจไม่ผ่านขั้นตอนที่ต้องกระทำอุคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิต แต่ลัดขั้นตอนไปสู่การก่อตัวขององค์ห้าแห่งปฐมฌานทีเดียว

นั่นคือการทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีวิตก วิจาร มีปิติและสุข ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับไป

แต่ทว่าในการฝึกฝนปฏิบัติจริงนั้นบางครั้งก็บังเกิดรูปขึ้นในขณะที่ฝึกฝนอบรมจิต ดังตัวอย่างเช่นการฝึกฝนอบรมแบบพุทธานุสติที่ตามระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าหรือผูกจิตหรือสติไว้กับพระคุณของพระพุทธเจ้า ในขณะที่ตามระลึกอยู่นั้นแทนที่องค์ทั้งห้าแห่งปฐมฌานจะก่อตัวขึ้นโดยลำดับ กลับปรากฏนิมิตเป็นรูปของพระพุทธเจ้าหรือเป็นดวงแก้ว มีลักษณะเป็นวงกลมสว่างไสว

ในกรณีเช่นนั้นถือได้ว่าการอบรมปฏิบัติได้เบี่ยงเบนออกไปจากแบบพุทธานุสติไปเป็นแบบกสิณชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะเวไนยสัตว์บางพวกมีความคุ้นเคย มีอัชฌาสัยชอบพอและต้องด้วยอัชฌาสัยที่จะได้นิมิตหรือพบนิมิตเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พึงรู้ว่าอัชฌาสัยที่แท้จริงของตัวนั้นต้องด้วยนิมิตชนิดนั้น จึงควรต้องดำเนินการฝึกฝนอบรมให้สอดคล้องกับอัชฌาสัยแท้ที่สัมผัสและรู้เห็นเองนั้น

นั่นคืออย่าได้ติดยึดกับแบบวิธีว่าเป็นกสิณหรือเป็นอนุสติ หากได้นิมิตเป็นรูปพระพุทธเจ้าหรือดวงแก้วเป็นวงกลมสว่างไสวแล้ว นั่นแหละคืออุคหนิมิตชนิดหนึ่ง แล้วพึงกระทำยกระดับให้เป็นปฏิภาคนิมิตต่อไป

แม้การฝึกฝนอบรมแบบธัมมานุสติ สังฆานุสติ หรือแบบอนุสติอื่น ๆ ก็ตาม การฝึกฝนอบรมในบางครั้งก็กลับปรากฏนิมิตเป็นรูป ก็พึงถือเอานิมิตนั้นเป็นอารมณ์ กำหนดเป็นอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตตามแบบกัมมัฏฐานวิธีแบบกสิณวิธีนั้นเถิด เพราะเมื่อมีอัชฌาสัยเช่นนั้นก็สามารถได้รับผลดีของการฝึกฝนอบรมแบบนั้นและสามารถบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ง่าย ได้เร็วกว่าที่จะฝืนกลับมาเป็นแบบอนุสติอีก

การฝึกฝนอบรมแบบอนุสติจึงมีทางแยกที่จะออกไปทางกสิณได้โดยนัยดังได้แสดงมานี้ ขอท่านผู้สนใจในธรรมได้ลองฝึกฝนปฏิบัติดู บางครั้งก็อาจจะได้ประสบพบเห็นกับสิ่งที่ได้แสดงมานี้และพึงรู้เถิดว่านั่นไม่ใช่เป็นการผิดแบบผิดวิธีอะไร หากเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะบังเกิดขึ้นได้ และสามารถให้ผลอย่างเดียวกัน

ที่สำคัญคือพึงรู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองมีอัชฌาสัยเป็นอย่างไร จึงเท่ากับว่าการปฏิบัติจริงมีผลต่อการแนะนำให้ได้รู้และปฏิบัติกัมมัฏฐานวิธีที่เหมาะสมสอดคล้องกับอัชฌาสัยของตนได้เป็นอย่างดีที่สุดอีกด้วย เพราะธรรมดาของคนเรานั้นอาจจะคิดว่าตัวเองมีอัชฌาสัยชอบหรือคุ้นเคยกัมมัฏฐานวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วเลือกเอาวิธีนั้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

คือเมื่อปฏิบัติเข้าจริง การปฏิบัติที่เป็นจริงนั่นแหละจะสะท้อนและบอกอย่างชัดเจนว่าอัชฌาสัยที่แท้จริงหรือความคุ้นเคยที่แท้จริงที่จะทำให้การฝึกฝนปฏิบัติเป็นไปได้ง่ายและได้ผลมาก ได้ผลเร็วเป็นอย่างไร และกัมมัฏฐานวิธีใดที่เหมาะสมที่สุด นี่ก็เป็นความมหัศจรรย์ของโลกภายในอีกประการหนึ่ง

แต่ก็พึงตระหนักด้วยว่านั่นคือการเดินไปตามทางแยกที่เป็นแบบกสิณวิธี ไม่ใช่อนุสติ ข้อพึงรู้ดังกล่าวนี้ความจริงก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการดับทุกข์ หรือต่อการไปสู่โลกภายใน แต่เป็นไปเพื่อรู้ไว้ใช่ว่า อย่างน้อยก็เพื่อตอบคำถามของผู้เป็นกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ได้โดยถูกตรงเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น