xs
xsm
sm
md
lg

ลือไวท์เฮาส์เล็งยื้อกรีนสแปนอยู่ต่อ ต่อเวลาสรรหาประธานเฟดคนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วอชิงตัน โพสต์ – แหล่งข่าววงในเผยเจ้าหน้าที่คณะบริหารสหรัฐฯ กำลังชั่งใจขอให้กรีนสแปนนั่งเก้าอี้ประธานผู้ว่าการเฟดต่ออีก 2-3 เดือน เพื่อให้ทำเนียบขาวมีเวลามากขึ้นในการสรรหาตัวผู้สืบทอดตำแหน่งจากแวดวงวิชาการ การเมือง ไปจนถึงธุรกิจ หลังจากถูกเร่งเร้ามาจากนักวิเคราะห์การเงินบางส่วน

ตัวอลัน กรีนสแปนเอง ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อข่าวดังกล่าว แต่แย้มในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เขายังตั้งใจอำลาธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้นปีหน้า

ว่าที่จริง การต่อเวลาช่วงสั้นๆ อาจน่าสนใจสำหรับกรีนสแปน เพราะถ้าอยู่ต่อจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2006 เขาจะกลายเป็นประธานเฟดที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ทำลายสถิติของวิลเลียม แมกเชสนีย์ มาร์ติน จูเนียร์ที่ทำไว้ 18 ปี 9 เดือน กับอีก 29 วัน

ตามกฎหมายนั้น นายใหญ่เฟดสามารถอยู่ต่อหลังครบวาระได้ หากวุฒิสภายังไม่รับรองชื่อผู้ที่จะมาสืบทอดเก้าอี้ ดังนั้น หากรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชอยากให้กรีนสแปนอยู่ต่ออีกนิด ก็อาจใช้วิธีชะลอการเสนอชื่อประธานเฟดคนใหม่ออกไปก่อน โดยสัปดาห์ที่แล้ว คาร์ล โรฟ รองประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เคยให้สัมภาษณ์ว่าอาจเร็วเกินไปที่จะประกาศชื่อบุคคลคนนั้นในปีนี้

ทว่า ผู้สังเกตการณ์หลายคน อาทิ เควิน เอ. แฮสเสตต์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษานโยบายเศรษฐกิจของอเมริกัน เอนเตอร์ไพรส์ อินสติติวท์ เตือนว่า แม้กรีนสแปนได้รับการยอมรับทั้งในตลาดการเงินโลกและในวอชิงตัน แต่การเตะถ่วงการเสนอชื่อผู้สืบทอดเก้าอี้อาจกลายเป็นการส่งสัญญาณลบไปยังตลาด ทำนองว่าไม่มีใครแทนที่กรีนสแปนได้ และหากไม่มีคนๆ นี้ทุกอย่างจะล่มสลาย

โธมัส ชเลซิงเกอร์ ผู้อำนวยการบริการไฟแนนเชียล มาร์เก็ตส์ เซนเตอร์ องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรที่คอยติดตามตรวจสอบเฟด สำทับว่า หากกรีนสแปนยอมอยู่ต่อ อาจทำให้กำแพงที่ขวางกั้นระหว่างทำเนียบขาวกับเฟดกร่อนลง

เคนเนธ เอช. โธมัส ผู้บรรยายวิชาการเงินของวอร์ตัน สกูลแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนขานรับว่า การต่อเวลาการทำงานของกรีนสแปน อาจดูเหมือนเป็นการตบรางวัลจากทำเนียบขาว เพื่อตอบแทนที่เขาให้การสนับสนุนเหนียวแน่นต่อนโยบายหลักๆ ของบุช อาทิ มาตรการลดภาษี

อย่างไรก็ดี การชั่งใจขยายเวลาการทำงานของกรีนสแปนมีขึ้นขณะที่นักวิเคราะห์การเงิน และผู้นำทางธุรกิจบางคน กระตุ้นคณะบริหารให้มองหา “แคนดิเดท” ที่เข้าใจทั้งหลักการเศรษฐกิจ และตามทันวิวัฒนาการเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริง

บรรดาแฟนพันธุ์แท้ยกย่องความสำเร็จของกรีนสแปนว่า เป็นผลจากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาธุรกิจนานนับสิบปี ทำให้เขาเข้าใจได้โดยสัญชาติญาณว่า ผู้บริหารจะลงทุน ว่าจ้างพนักงาน หรือขึ้นราคาสินค้าหรือไม่ และเข้าใจความเป็นไปของตลาดการเงิน

ในทางตรงข้าม ตัวเก็งทั้งหมดที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากกรีนสแปนล้วนเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระดับหัวแถว ทว่า ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจหรือมีก็น้อยมาก ซึ่งนั่นคือที่มาของความไม่สบายใจของนักวิเคราะห์บางคนที่ชื่นชมแนวทางของกรีนสแปน ในการท้าทายหรือกระทั่งแหกกฎเศรษฐศาสตร์ในหลายๆ ครั้ง

จอห์น คาสเตลลานี ประธานบิสเนส ราวด์เทเบิล หรือสมาคมผู้บริหารธุรกิจ ชี้ว่า ประธานบริหารหรืออดีตประธานบริหารของบรรษัทขนาดใหญ่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาเลือกที่ชังนักวิชาการแต่อย่างใด

คาสเตลลานีอธิบายว่า บ่อยครั้งที่มีความแตกต่างระหว่างสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงกับแนวโน้มตามทฤษฎี ทว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการเงิน อุปสงค์ และเศรษฐกิจโลก

ไอเดียดังกล่าว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนหวนนึกถึงวิลเลียม มิลเลอร์ ด้วยใจระทึก มิลเลอร์เป็นอดีตประธานบริหารที่ไม่มีภูมิหลังด้านเศรษฐศาสตร์เลย เขานั่งเก้าอี้ประธานเฟดไม่ถึง 2 ปีในสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ซึ่งขณะนั้นอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 9% และถูกขนานนามจากวิลเลียม ดัดลีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯในโกลด์แมน แซคส์ ว่าเป็นประธานที่แย่ที่สุดเท่าที่เฟดเคยมีมา

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวค่อนข้างสงบปากสงบคำเรื่องการสรรหานายใหญ่คนใหม่ของเฟด ทั้งที่มีการรวบรวมรายชื่อแคนดิเดทกันมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน โดยล่าสุดชื่อที่อยู่ต้นๆ ในโผมีอาทิ มาร์ติน เฟลด์สเตน นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด และเกลนน์ ฮับบาร์ด อธิการบดีโคลัมเบีย บิสเนส สกูล ซึ่งทั้งคู่ล้วนใกล้ชิดกับคณะบริหาร และเคยให้คำปรึกษาบุชมาก่อน

ตัวเก็งแถวหน้ายังรวมถึงเบน เบอร์นันกี สมาชิกบอร์ดเฟด และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ของปรินซ์ตัน อีกทั้งเป็นผู้ที่บุชเสนอชื่อเป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาวคนต่อไป โดยตำแหน่งนี้เคยเป็นของฮับบาร์ดในรัฐบาลบุช 1, ของเฟลด์สเตนในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และของกรีนสแปนในสมัยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด

กรีนสแปน, เฟลด์สเตน และฮับบาร์ด ยังเคยเป็นสมาชิกบอร์ดของบริษัทหลายแห่ง แต่เบอร์นันกีไม่เคยเป็นเลย

นอกจากนั้น ยังมีแคนดิเดทอีกคนที่เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตที่ปรึกษาธุรกิจ เขาคือ โรเจอร์ เฟอร์กูสัน รองประธานเฟด แต่จุดอ่อนเพียงอย่างเดียวที่ทำให้คุณสมบัติโดดเด่นกลายเป็นด้อยลงก็คือ เขาเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต
กำลังโหลดความคิดเห็น