xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำปรับค่าเงินหยวนไม่เกี่ยวดอลล์ แนะUSเลิกหาแพะ-มุ่งแก้ขาดดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ชี้การปรับค่าเงินหยวนอาจขจัดความผันผวนออกจากตลาดการเงินได้ก็จริง แต่ไม่ได้ผ่อนคลายความกดดันที่มีต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดดุลงบประมาณและขาดดุลการค้าของสหรัฐฯเอง

ความไม่พอใจของวอชิงตันวนเวียนอยู่ที่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแดนมังกรที่ตรึงอยู่ที่ระดับ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์มาหนึ่งทศวรรษ เพราะอเมริกามองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตนขาดดุลการค้าจีนมากมายก่ายกองถึง 162,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ปักกิ่งยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมลอยตัวค่าเงินด้วยเหตุผลทางการเมือง

จุดยืนของจีน ตลอดจนถึงชาติเอเชียอื่นๆ ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน สร้างความขุ่นเคืองต่อผู้ผลิตอเมริกัน ที่ต้องสูญทั้งตำแหน่งงานและส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งที่มีต้นทุนถูกกว่า ร้อนถึงรัฐสภาต้องเข้ามาพิทักษ์ผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมโดยการผลักดันร่างกฎหมาย อาทิ ขูดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 27.5% หากปักกิ่งยังไม่ยอมปรับอัตราแลกเปลี่ยนภายใน 6 เดือน

แม้คณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ก็แสดงความพร้อมในการจำกัดการทะลักเข้ามาของสิ่งทอจีน ภายหลังมีการยกเลิกโควตาสิ่งทอโลกเมื่อต้นปี

แต่ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่า อเมริกาเกาไม่ถูกที่คันที่มัวไปหัวเสียกับอัตราแลกเปลี่ยนจีน เพราะการปรับค่าหยวนส่งผลน้อยมากต่อการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และทางที่ดีวอชิงตันควรมุ่งมั่นคุมการขาดดุลงบประมาณ และภาคอุตสาหกรรมต้องหาทางแก้ไขปัญหาของตัวเอง

เจย์ ไบรสัน นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของวาโชเวีย แบงก์ ชี้ว่า ภาคการผลิตอเมริกาสูญเสียตำแหน่งงานมาตั้งแต่ปี 1979 แต่กลับพยายามหาแพะรับบาปแทนที่จะหาทางแก้ปัญหา เหมือนในอดีตที่เคยโยนความผิดให้ญี่ปุ่น โทษฐานรุกเข้าไปฮุบตลาดถึงสนามหลังบ้าน

ผลคือจากแรงบีบทางการเมืองของวอชิงตัน จึงเกิดเป็นข้อตกลงพลาซาปี 1985 ที่ญี่ปุ่นต้องปรับค่าเงินแข็งขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นผล

มาวันนี้ ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯกลายเป็นพันธมิตรเหนียวแน่น ขณะที่วอชิงตันเรียกจีนว่า “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” เพราะความไม่ไว้ใจที่จีนเดินหน้าขยายอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในเวทีโลก ดังนั้น ค่าเงินหยวนจึงกลายเป็นแพะในขณะนี้

ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า สหรัฐฯจะหวังได้มากที่สุดก็คือ การขยายแถบช่วงการซื้อขายอันจะทำให้หยวนแข็งค่าขึ้น 10-15% เมื่อเทียบดอลลาร์ ทว่า จอห์น ทีเคซิก ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของมูลนิธิเฮอริเทจกลับมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับจะก่อผลร้ายให้สหรัฐฯเอง

“จีนอาจตระหนักว่าการปรับค่าเงินเป็น 7.8 หยวนต่อดอลลาร์ดีต่อการเมืองของประเทศ และทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ยอดขาดดุลของเราจะยิ่งเบ่งบานเพราะเราต้องจ่ายเพิ่มเพื่อนำเข้าสินค้าจีน ขณะที่เขาไม่ซื้อสินค้าเราเพราะไม่ชอบเรา”

ขณะที่เจสเปอร์ คอลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเมอร์ริล ลินช์ เจแปน มองว่าตราบที่สหรัฐฯยังหวังพึ่งนักลงทุนต่างชาติในการระดมเงินมาโปะยอดขาดดุล โดยไม่แก้ไขปัญหาการขาดดุลสองด้าน ก็จะทำให้การปรับค่าหยวน ไม่สามารถหยุดยั้งการอ่อนค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบเงินเอเชียได้ เพราะตลาดจะยังคงซื้อตามข่าวลือ และขายตามข้อเท็จจริง ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีข่าวลือว่าจะมีการปรับค่าเงินหยวนในวันพุธ ซึ่งเป็นวันที่จะมีการเพิ่มสกุลเงินต่างชาติเข้าไปในระบบปริวรรตเงินตราของจีน ส่งผลให้เงินนับพันล้านดอลลาร์ไหลเข้าไปเก็งกำไรในตลาดเงิน

ขณะเดียวกัน อาซูซา คาโตะ นักเศรษฐศาสตร์ของบีเอ็นพี ปาริบาส์ สำทับว่า หากจีนปรับค่าหยวน 3-5 % ตามคาด จะไม่มีผลต่อการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯมากนัก

แต่ถ้าจีนปรับค่าหยวน 10% จะทำให้การเติบโตของเอเชียลดลงราว 0.30-1% ในช่วง 12-15 เดือน ทำให้เกิดแรงกดดันในการเทขายเยน กระนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเยน-ดอลลาร์จะอิงกับระยะห่างของแนวโน้มการเติบโตของสองประเทศมากกว่า

อากิโยชิ ทากูโมริ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของซูมิโตโม มิตซุย แอสเส็ต แมเนจเมนท์ เชื่อว่าดอลลาร์จะไม่แข็งขึ้นมากนัก โดยอ้างอิงแนวโน้มการบริโภคและการใช้จ่ายเงินทุนของสหรัฐฯที่ขาดความแน่นอน แต่ก็ไม่มีแนวโน้มว่าดอลลาร์จะตกทะลุ 100 เยน ตราบที่เศรษฐกิจแดนปลาดิบยังคงง่อนแง่นแบบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น