xs
xsm
sm
md
lg

บ.USยอมเสี่ยง-เน้นโตไม่ห่วงเรตติ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเชียน วอลล์ สตรีท เจอร์นัล – ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา บริษัทระดับ AAA แดนมะกันเริ่มลดจำนวนลง โดยนักวิเคราะห์ชี้ เกิดจากบริษัทเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดอันดับ หันไปให้ความสำคัญกับการเติบโตทางธุรกิจ และยอมเสี่ยงเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น

ก่อนหน้านี้ เจเนอรัล มอเตอร์ส, ฟอร์ด มอเตอร์ และอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เป็นบริษัทระดับ AAA ของเมืองลุงแซม แต่ถูกปรับลดอันดับลง

การลดลงจากอันดับ AAA ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาซึ่งความทุกข์ใจทั้งกับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้และนักลงทุน เนื่องจากบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือต้องจ่ายเงินในรูปของผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อระดมเงินในตลาดตราสารหนี้ ขณะเดียวกันด้านผู้ถือหุ้นกู้แม้จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องสูญเงินต้นไปเมื่อราคาหุ้นกู้ของบริษัทนั้นตกลง

การปรับลดอันดับจึงเป็นสาเหตุให้นักลงทุนเริ่มหันกลับมาประเมินความต้องการลงทุนในความเสี่ยงทุกรูปแบบ ข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดคือ หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงต้องจ่ายผลตอบแทนเพิ่ม 0.5% จากเมื่อเดือนก่อน เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และต้นทุนในการรับประกันการผิดนัดชำระของบริษัทในตลาดตราสารอนุพันธ์หุ้นกู้ก็ทะยานขึ้นอย่างมาก

ในปัจจุบัน มีบริษัทนอกภาคการเงินของสหรัฐฯเพียง 6 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการจัดอันความน่าเชื่อถือในระดับ AAA จากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) อาทิ เจเนอรัล อิเล็กทริกส์ และยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส เมื่อเทียบกับ 32 แห่งในปี 1980

ในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคาร บริษัทสาธารณูปโภค และบริษัทด้านอุตสาหกรรมที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับสูงจากมูดี้ส์ ก็มีจำนวนลดลงเช่นกันเหลือเพียง 6 แห่งจาก 58 แห่ง

อย่างไรก็ดี การถูกลดอันดับจาก AAA ไม่ใช่ข่าวร้ายไปทั้งหมด นักเศรษฐศาสตร์บางคนชี้ว่า แนวโน้มนี้ยังแสดงถึงการพัฒนาในทางบวกมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 กล่าวคือ บริษัทแดนมะกันสมัครใจยอมเสี่ยงเพื่อการเติบโตกันมากขึ้น

เมื่อพิจารณาในบริบทที่กว้างขึ้นของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จำนวนบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับลงจากระดับ AAA สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของการจัดลำดับความสำคัญ

จอห์น ลอนสกี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์กล่าวว่า “เมื่อสหรัฐฯสูญเสียอิทธิพลที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากการแข่งขันบีบให้บริษัทต่างๆต้องยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น” พร้อมเสริมว่า “คุณไม่อาจเติบโตได้หากไม่มีความเสี่ยง”

ทั้งนี้ บรรดาผู้บริหารเริ่มให้ความสำคัญน้อยลงกับอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท และหันมาใส่ใจกับการผลักดันธุรกิจใหม่ๆ และการสร้างผลตอบแทนให้กับเหล่าผู้ถือหุ้นมากกว่า

ดังนั้นสำหรับบริษัทจำนวนมาก การตัดสินใจกู้ยืมเงินมากขึ้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เนื่องจากการจ่ายดอกเบี้ยจะถูกหักจากรายได้ที่ต้องเสียภาษี ฉะนั้นโดยทั่วไป การมีหนี้สินจึงเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดในการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ ทว่าการมีหนี้สินมากขึ้นย่อมหมายถึง อันดับความน่าเชื่อถือที่ลดลงด้วย

ตัวอย่างเช่น โคคา-โคล่าที่ถูกเอสแอนด์พีปรับลดจากระดับ AAA ในปี 1986 เมื่อยักษ์ใหญ่น้ำอัดลมรายนี้ก่อหนี้เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจบรรจุขวด ทั้งนี้นิโคลัส ริจจิโอ นักวิเคราะห์จากเอสแอนด์พีมองว่า แม้ความเคลื่อนไหวนี้จะส่งผลด้านลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท แต่ส่งผลดีกว่าสำหรับธุรกิจ และเสริมว่า “พวกเขาเลือกทำเช่นนี้เพื่อส่งเสริมมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น แม้จะทำให้เกิดปัญหากับผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทก็ตาม”
กำลังโหลดความคิดเห็น