xs
xsm
sm
md
lg

ถึงยุคนสพ.แปลงร่างสู่แทบลอยด์ เปิดยุทธการทวงคืนผู้อ่านจากเน็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฮรัลด์ ทรีบูน – ธุรกิจหนังสือพิมพ์ปรับยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการลดขนาดเป็นแทบลอยด์ เพื่อชิงผู้อ่านคืนจากอินเทอร์เน็ตและแหล่งข่าวสารข้อมูลอื่นๆ ตลอดจนเพื่อถึงลดต้นทุนในจังหวะที่ยอดขายหล่นวูบ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่า ลำพังวิธีนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

จากชิลีถึงอังกฤษ และจากฟินแลนด์จรดมาเลเซีย หนังสือพิมพ์ที่เคยตีพิมพ์ในขนาดมาตรฐาน หรือบรอดชีต (กว้าง 14 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว) เริ่มปรับเปลี่ยนสู่ขนาดเล็ก หรือแทบลอยด์ (กว้าง 11.5 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเคร่งขรึมจริงจังของบรอดชีต กับความปราดเปรียวเขี้ยวลากดินของแทบลอยด์ลางเลือนลงทุกขณะ ทั้งยังอาจปลุกเร้าให้หนังสือพิมพ์อีกมากมายลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองในลักษณะเดียวกันนี้

แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นอะไรที่มากไปกว่าการแก้ปัญหาชั่วคราว เพื่อดึงดูดผู้อ่านและผู้ลงโฆษณาหรือไม่ ในจังหวะที่ยอดขายในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ตกวูบ เนื่องจากผู้อ่านหันไปหาอินเทอร์เน็ตและแหล่งข่าวสารข้อมูลอื่นๆ ทว่า จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ผู้อ่านชอบหนังสือพิมพ์ขนาดแทบลอยด์มากกว่าเพราะถือถนัดกว่า โดยเฉพาะในสวนสาธารณะที่ลมแรง หรือในรถไฟที่คนแน่นขนัด

“คนสมัยนี้ชอบอะไรที่สะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือไอพ็อด หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์” นีล เฮอร์แมน กรรมการผู้จัดการแมนนิ่ง ก็อตทลิบ โอเอ็มดี บริษัทที่ซื้อพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ อธิบาย

วอลล์สตรีท เจอร์นัลเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุดที่ประกาศแผนลดขนาดหนังสือพิมพ์ในเอเชียและยุโรปเป็นแทบลอยด์ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึง แต่คงรูปแบบบรอดชีตไว้สำหรับเวอร์ชั่นหลักในสหรัฐฯ

ย้อนกลับไปเดือนที่แล้ว นิว สเตรท ไทมส์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในมาเลเซีย แปลงร่างเป็นแทบลอยด์เต็มตัวหลังจากทดลองตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ขนาดเล็กคู่ไปกับขนาดปกติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ในอีกหลายประเทศในยุโรปที่เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

จิม คริสโฮล์ม ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของสมาคมหนังสือพิมพ์โลกที่มีฐานอยู่ในปารีส ประเมินว่า ณ สิ้นปีนี้ หนังสือพิมพ์กว่า 40% ทั่วโลกจะลดขนาดกลายเป็นแทบลอยด์ จากแค่ 1 ใน 9 เมื่อปี 1999

หนึ่งในปัจจัยที่ก่อกระแสนี้ขึ้นมาคือ การตัดสินใจเปิดตัวหนังสือพิมพ์ฉบับแทบลอยด์ของอินดิเพนเดนท์ หนังสือพิมพ์ดังของอังกฤษ ที่ยอดตีพิมพ์ร่วงเหลือไม่ถึง 200,000 ฉบับ จากกว่า 400,000 ฉบับในปี 1990 หลังจากนั้นไม่นาน ไทมส์ คู่แข่งบ้านเดียวกัน ก็เจริญรอยตาม

ความเคลื่อนไหวของอินดิเพนเดนท์และไทมส์ ดูเหมือนทำให้บรอดชีตเจ้าอื่นๆ ต้องปรับกระบวนทัศน์กันอย่างโกลาหล จากที่เคยประณามหยามเหยียดแทบลอยด์ โดยเฉพาะในอังกฤษที่ชอบเล่นภาพสาวเปลือยอกในหน้า 3 และในอเมริกาที่บ่อยครั้งนำเสนอรายงานจากปากคำผู้เห็นยานมนุษย์ต่างดาวลงจอดบนพื้นโลก

ว่าที่จริง ลูกไม้นี้หาใช่ของใหม่แต่อย่างใด ในอดีตเดลี่ เมล และเดอะ ซัน ซึ่งล้วนเป็นหนังสือพิมพ์เมืองผู้ดี เคยลดไซส์ตัวเองเป็นแทบลอยด์มาแล้วเมื่อปี 1971 และ 1969 ตามลำดับ

นอกจากนั้น แม้ยอดพิมพ์ของอินดิเพนเดนท์ในเบื้องต้นกระโจนขึ้นกว่า 20% หลังปรับรูปแบบ แต่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นกลับประสบผลลัพธ์คละเคล้ากันไป มีทั้งที่ดีขึ้นและเลวลง แต่โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่า ยอดพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ที่เปลี่ยนเป็นแทบลอยด์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยระยะหนึ่ง

ทว่า สำหรับผู้ลงโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของหนังสือพิมพ์นั้น ยังคลางแคลงใจในประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับโฉมในลักษณะดังกล่าว และยืนกรานที่จะจ่ายเงินน้อยลงอย่างต่ำ 10-15% สำหรับโฆษณาเต็มหน้าในแทบลอยด์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือหน้าหนังสือพิมพ์เล็กกว่าบรอดชีต นอกจากนั้น แทบลอยด์ยังทำให้เกิดพื้นที่สูญเปล่ามากขึ้น จากช่องว่างระหว่างคอลัมน์และเหนือบทความ

กระนั้นก็ดี ยอดพิมพ์ที่ตกลงหมายความว่า การลดขนาดหนังสือพิมพ์เป็นวิธีหนึ่งในการลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการนำเสนอหนังสือพิมพ์ที่ดูจะหนากว่าขนาดบรอดชีตแก่ผู้อ่าน

ดังกรณีของวอลล์สตรีท เจอร์นัลที่เตรียมลดขนาดหนังสือพิมพ์ในเอเชียและยุโรปนั้น คาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนได้ 17 ล้านดอลลาร์จากการปลดพนักงานและมาตรการอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ปรามว่า ลำพังการลดขนาดหนังสือพิมพ์มีผลน้อยมากในระยะยาว หากผู้ตีพิมพ์ไม่ดำเนินยุทธวิธีอื่นๆ เสริมไปด้วย เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น