xs
xsm
sm
md
lg

งานที่วชิราวุธวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

การที่ผมมีความรับผิดชอบหลายด้านนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก สำหรับนักวิชาการทั่วไป นักวิชาการส่วนใหญ่มักจะมี "บันไดแห่งความสำเร็จ" ที่เป็นสูตรค่อนข้างตายตัว คือเริ่มจากการจบปริญญาเอกเป็นหัวหน้าภาควิชา รองคณบดี คณบดี รองอธิการบดี และอธิการบดี ต่อจากนั้นก็ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นักวิชาการรุ่นก่อนผม เช่น ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล ศ.ดร.สมศักดิ์ ชูโต และศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ล้วนแต่ผ่าน "บันไดแห่งความสำเร็จ" นี้ทั้งสิ้น

สำหรับผมแล้ว "บันไดแห่งความสำเร็จ" นี้ไม่เหมาะกับลักษณะนิสัย ซึ่งตอนผมหนุ่มๆ ผมเป็นคนที่ผู้ใหญ่เห็นว่าค่อนข้าง "ก้าวร้าว" ผมสังเกตว่า ผู้ประสบความสำเร็จสามารถขึ้นไปเป็น "ผู้ใหญ่" ในเมืองไทยได้ มักจะมีลักษณะประจำตัวอย่างหนึ่ง คือ มีอารมณ์คงที่ไม่แสดงความโกรธ ไม่แสดงการไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง มีความนุ่มนวล

ชีวิตตั้งแต่หนุ่มของผมจนถึงอายุห้าสิบ เป็นระยะเวลาที่ผมเป็น "ฝ่ายค้านตลอดกาล" คือไม่ค่อยจะไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลมากเท่าใดนัก มีครั้งหนึ่งที่เข้าไปเป็นวุฒิสมาชิก แต่ก็รู้สึกลำบากใจ เพราะได้รับการแต่งตั้งเป็น "วิป" ของวุฒิสมาชิกด้วย เวลาประชุมกัน รุ่นพี่ๆ จะมากระเซ้าเย้าแหย่ว่า "ชัยอนันต์ไม่ต้องไปวิปคนอื่นหรอก ดูแลตัวเองเพียงคนเดียวก็พอ"

ผมเพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐบาลมากหน่อยก็ในสมัยนี้ ตามที่ผมได้เล่าไปแล้วว่า ผมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ถึงสามแห่ง ทุกแห่งก็ล้วนแต่เคยมีเรื่องใหญ่ และอยู่ในสายตาสาธารณชนทั้งสิ้น

การทำงานในฐานะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น ผมทำโดยมีความอิสระมาก ก่อนจะตั้งผม ผู้มีอำนาจคงชั่งน้ำหนักดูแล้วว่า หากจะมาสั่งการผมก็อย่าตั้งดีกว่า ดังนั้น การทำงานที่ กฟผ.ก็ดี การบินไทย หรือธนาคารกรุงไทยก็ดี ผมจึงทำด้วยความสบายใจ ผมไม่ค่อยได้พบกับนายกฯ ทักษิณเลย ปีหนึ่งๆ จะพบกันก็ตามงานศพบ้าง งานแต่งงานบ้าง และไม่ได้พูดคุยกันเท่าไร อย่างดีก็ทักทายกัน ดังนั้น ผมจึงไม่ใช่คน "วงใน"

การที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นโน่นเป็นนี่มากมาย น่าจะเป็นเพราะ "การถึงวัย" อย่างหนึ่งกับการที่คนรุ่นผมกลายเป็น "ผู้ใหญ่" ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คนรุ่นก่อนผมหลายท่านก็มีโอกาสทำงานมากมาย หลายท่านมีตำแหน่งแยะ ผมเคยนึกในใจว่า ท่านมีโอกาสมีเวลาของท่านมากกว่าผมหลายเท่า บางท่านทำงานให้รัฐบาลจนหนุ่มจนแก่ กินเวลา 30-40 ปีก็มี ต่างจากผมซึ่งมีจุดเริ่มต้นต่างกัน

ในบรรดางานหลายด้านนี้ ทุกคนทราบดีว่า ผมภูมิใจและเห็นว่า การเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มีความหมายและความสำคัญต่อผมมากกว่างานอื่นใด มีหลายครั้งที่ผมได้รับการทาบทามให้ไปทำงานที่มีเงินเดือนสอง-สามแสน แต่จะต้องลาออกจากวชิราวุธวิทยาลัย แน่นอนว่าผมได้ปฏิเสธไป

สำหรับบุคคลทั่วไป คงนึกไม่ออกว่า การเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มีความหมายอย่างไร การเป็นโรงเรียนประจำที่มีประเพณีความเป็นมาอย่างยาวนาน ทำให้ตำแหน่งผู้บังคับการเป็นทั้งครูใหญ่ ผู้จัดการ และผู้นำทางจิตวิญญาณพร้อมๆ กันไป

น้อยคนที่จะทราบว่า วชิราวุธวิทยาลัยอยู่ได้ด้วยเงินและทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ดินพระราชทานนั้น ไม่น้อยกว่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ผลประโยชน์ที่วชิราวุธได้รับจากที่ดินแถบถนนราชดำริ และที่อื่นๆ นั้น น่าจะมากกว่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คิดดูแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับการศึกษาค่ากินอยู่ที่วชิราวุธวิทยาลัย สำหรับนักเรียนประจำจึงถูกกว่าที่ควรจะเป็น หัวละ 4-5 หมื่นบาท การมีนักเรียน 800 คน ก็หมายความว่า ทางพระคลังข้างที่ซึ่งดูแลเงินของโรงเรียน จะต้องอุดหนุนเป็นเงินถึงปีละ 30-40 ล้านบาท

ที่เรียกตำแหน่งว่า "ผู้บังคับการ" นั้น ก็เพราะเมื่อแรกตั้งเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น สังกัดกรมทหารมหาดเล็ก วิธีการจัดการก็จัดตามแบบทหารคือ ทหารมีกรมใต้กรมมีกองพัน กรมมีผู้บังคับการกรม กองพันมีผู้บังคับกองพัน แต่ละกองพันจะมีการกินอยู่ร่วมกัน มีการประกอบอาหารแยกกันไป

ที่วชิราวุธก็เหมือนกันคือ มีผู้บังคับการ และมีส่วนย่อยเรียกว่า คณะ แบ่งเป็นคณะเด็กโตสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี และคณะเด็กเล็ก สมัยก่อนตอนผมอยู่เมื่อ 50 ปีมาแล้วนั้น มีคณะเด็กโต 4 คณะ และคณะเด็กเล็ก 3 คณะ มีนักเรียน 600 คน ทุกคนรู้จักกันหมด

วชิราวุธวิทยาลัยนั้น มองดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเหมือนกัน ทหารผสมกับพระ พระท่านเองก็อยู่ตามคณะต่างๆ และมีชีวิตเหมือนนักเรียนประจำ กิจวัตรของนักเรียนก็เป็นกึ่งศาสนา กึ่งทหาร เพราะมีการสวดมนต์วันละ 2 ครั้ง มีการอบรมบ่มนิสัยอย่างเข้มงวด แต่ก็มีการฝึกแถว การออกกำลังกายเหมือนกับทหาร

ผมเป็นนักเรียนตั้งแต่ 5 ขวบ นับว่าเล็กมาก เวลานี้ผมเลื่อนอายุเด็กที่จะอยู่ประจำมาเป็น 9 ขวบ เพราะเห็นว่า 5 ขวบนั้น เล็กจนเกินไป

********
หมายเหตุ-บทความชุด "ชีวิตที่เลือกได้"ของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นบันทึกเชิงอัตชีวประวัติต่อเนื่อง เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ช่วงปี 2537 กล่าวถึงชีวิตวัยเด็ก การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน รวมเล่มเป็นภาค 1 และภาค 2 มาแล้ว ส่วนที่ทะยอยตีพิมพ์อยู่นี้เป็นการบันทึกอัตชีวประวัติ ชีวิต และการทำงานในช่วงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น