xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวมองหลัง -เชิงอรรถการเมืองไทยสมัยใหม่

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา


ในช่วงสักหนึ่งหรือสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลต่างๆ ในเมืองไทยตีพิมพ์ออกมาวางตลาดมากมาย อันนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย

ส่วนมากแล้วดูจะเป็นเรื่องราวหวือๆ หวาๆ ของบุคคลในวงการบันเทิงที่เขียนเองบ้าง หรือไม่ก็เขียนโดย "มือปืนรับจ้าง" "นักเขียนผี" บ้าง นอกจากจะเป็นตัวอย่างของการทำตลาดสมัยใหม่อีกโสตหนึ่งแล้ว ผมรู้สึกว่าหนังสือเหล่านี้ยังเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าลัทธิปัจเจกชนนิยมของไทยได้ก้าวหน้าออกไปไกล จนกู่ไม่กลับแล้ว เพราะใครๆ นับตั้งแต่ดาราสาวๆ ผู้ผิดหวังในความรัก จนกระทั่งถึงนักเล่นตลก ก็ดูจะมีความรู้สึกสบายใจที่จะนำเอาเรื่องราวส่วนตัวของตนออกมาขายได้ สำหรับหนังสือกลุ่มนี้ ถึงจะชอบหยิบมาเปิดๆ ดูด้วยความอัศจรรย์ใจอยู่บ้าง ผมก็ไม่เคยทำใจได้จนถึงกับซื้อมาจริงๆ เลยสักเล่ม

โชคดีในระยะเวลาเดียวกันนั้น นานๆ ทีก็จะมีผลงานของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านงานสำคัญๆ ของประเทศออกมาให้เห็นด้วย เช่น ดร.อำนวย วีรวรรณ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น ข้อสังเกตก็คือหนังสือในกลุ่มนี้มักจะเขียนขึ้นโดยบุคคลอื่นด้วยความร่วมมือจากเจ้าของชีวประวัติ โดยอาศัยการสนทนากับเจ้าตัวและการค้นคว้าเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งในหลักเกณฑ์ของฝรั่งคงเรียกกันว่า "ชีวประวัติที่ได้รับความเห็นชอบ" (authorized biography) ในฐานะที่เป็นแหล่งข้อมูล ข้อมูลประเภทนี้นับว่าออกจะใหม่และน่าสนใจมากสำหรับนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งจะจะต้องหาวิธีตีความเพื่อนำมาเขียนประวัติศาสตร์ในอนาคตให้สมบูรณ์ขึ้นต่อไป

ส่วนพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบันนั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในท้องตลาดมีหนังสือเกี่ยวกับท่านในลักษณะต่างๆ นับร้อยเล่ม โดยมีจำนวนหนึ่งที่เข้าข่ายเป็น "ชีวประวัติที่ได้รับความเห็นชอบ" ซึ่งเขียนโดยบุคคลอื่น ไม่ผิดดอกที่จะบอกว่า วงการหนังสือของเมืองไทยกำลังประสบกับปรากฏการณ์ "ทักษิณฟีเวอร์"

ในบรรดาหนังสือชีวประวัติทั้งหลาย ผมชอบอ่านผลงานของบุคคลที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขียนโดยเจ้าตัวเองมากที่สุด เพราะในงานที่เขียนเองเช่นนี้ ผู้อ่านจะมีโอกาสได้สัมผัสตัวตนของผู้เขียนได้อย่างใกล้ชิด ยังผลให้การอ่านได้รับอรรถรสสูงสุด

ด้วยประการฉะนี้ เมื่อได้พบ เหลียวมองหลัง (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ กันยายน พ.ศ. 2547 ราคา 312 หน้า 325 บาท) อันเป็นหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติที่เขียนโดยท่านอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ ผู้เป็น "ครู" คนสำคัญของผมท่านหนึ่ง ผมจึงบังเกิดรู้สึกอยากอ่านขึ้นมาแบบฉับพลันทันที

ที่ผมบอกว่าท่านอาจารย์เกษมเป็น "ครู" นั้นมีความหมายหลายอย่าง นอกจากจะเป็นผู้ชักชวนให้ผมเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งไปช่วยทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ละครเวทีของท่านอาจารย์มัทนี รัตนิน และโขนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว ท่านยังให้ความเมตตากับผมในลักษณะอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

เท่าที่พอจะนำมาเล่าได้ก็คือในช่วงต้นๆ ทศวรรษที่ 1970 นั้น ท่านเคยเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารฉบับหนึ่งของคุณณรงค์ เกตุทัต ดูเหมือนจะใช้ชื่อคอลัมน์ว่า "มหาชนสนทนา" ทว่าพอเขียนไปได้ไม่นาน ท่านอาจารย์เกษมก็ได้รับคำเชิญให้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาสักพักใหญ่ๆ ท่านจึงขอให้ผมเขียนคอลัมน์นี้แทน ทว่าพอท่านกลับมา ความที่ท่านคงไม่มีเวลา ท่านจึงสั่งผมว่าให้เขียนต่อไปก็แล้วกัน ผมจำได้ว่าตนเองเขียนอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องเลิกไป เพราะลงท้ายแล้วผมได้รับทุนจากรัฐบาลอเมริกันไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

ในอีกโอกาสหนึ่ง เมื่อผมทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์ข้ามชาติและทางเลือกในการพัฒนาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นั้น ท่านอาจารย์เกษมก็กรุณารับคำเชิญของผมไปร่วมประชุมเกี่ยวกับการวิจัยเรื่องกฎหมายครั้งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมจำได้ว่าในโอกาสนั้นท่านได้พบปะกับ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยชุด "ร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งผมเป็นผู้ดูแลอยู่

เนื่องจากโครงการร่างรัฐธรรมนูญนี้มีนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนเก่งๆ เข้ามาช่วยงานมาก ประกอบกับท่านอาจารย์ประเวศ วะสีทำหน้าที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ในที่สุด ผลผลิตของโครงการนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จุดกระแสการปฏิรูปการเมืองขึ้น จนถึงขั้นที่เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคุณอานันท์ ปันยารชุนทำหน้าที่เป็นประธาน และท่านอาจารย์เกษมได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานฯ โดยท่านอาจารย์บวรศักดิ์มีบทบาทเป็นอย่างสูง ลงท้ายก็ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ต้นฉบับชุด เหลียวมองหลัง นี้เคยตีพิมพ์เป็นบทความย่อยๆ รวม 40 ตอนในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ฉบับวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2544 จนถึงฉบับวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งได้รับรวบรวมมาตีพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ภัคธรรศเมื่อ พ.ศ. 2545

ในการตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์นี้ ท่านผู้เขียนได้นำต้นฉบับที่เกี่ยวข้องกันอื่นๆ มาเพิ่มเติมให้อีกสามเรื่อง ยังผลให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งกว่าการตีพิมพ์ในครั้งแรก

นอกจากนี้ การตีพิมพ์คราวนี้ยังมี "คำนำสำนักพิมพ์" จากการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยคุณคำนูณ สิทธิสมาน และการตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยคุณรุ่งมณี เมฆโสภณ เมื่อสองนักหนังสือพิมพ์ใหญ่รุ่นใหม่ถึงสองท่านเป็นผู้เขียนคำนำ เหลียวมองหลัง จึงมีมุมมองเพิ่มเติมที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่านยิ่งขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น คุณคำนูณเขียนว่า "หากคุณเป็นคอการเมือง มิอาจไม่อ่าน มิอาจไม่สนใจ" ส่วนคุณรุ่งมณีก็บอกว่า "ดิฉันอาจเคยผิดพลาดในชีวิตมาบ้าง แต่เชื่อว่าไม่ผิดที่ "บังอาจ" แนะให้อาจารย์เกษมล้างมือจากการเมืองมาเขียนหนังสือ!"

ในการตีพิมพ์ครั้งที่สองที่มีคุณวิทยา ร่ำรวย เป็นบรรณาธิการ คุณณรงค์ เอี่ยมโอภาษ เป็นผู้ออกแบบรูปเล่ม คุณยุทธศักดิ์ ทินบาล เป็นผู้ออกแบบปก คุณกุลพัฒน์ ศรลัมพ์ เป็นผู้ออกแบบปก เหลียวมองหลัง จัดว่าเป็นหนังสือขรึมๆ ที่น่าอ่านที่สุดเล่มหนึ่งบนแผงหนังสือวันนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

บนหน้าปกของการตีพิมพ์ครั้งนี้ กองบรรณาธิการได้โปรยคำอธิบายไว้ว่า (ท่านผู้เขียนคือ) "นักประชาธิปไตยและคอลัมนิสต์อาวุโส ผู้เฝ้ามองการเมืองไทยด้วยใจระทึก" ส่วน "ประวัติผู้เขียน" ภายในเล่มก็ระบุว่าอายุท่านขึ้นเลข 7 แล้ว สำเร็จนิติศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งสอบได้เป็นเนติบัณฑิต สำเร็จปริญญาโททางวารสารศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน

ด้วยภูมิหลังทางการศึกษาที่ดีเด่นเช่นนี้ ท่านอาจารย์เกษมจึงเป็นหนึ่งในบรรดา "นักเรียนนอก" จากสหรัฐอเมริการะดับ "ด็อกเตอร์" รุ่นแรกๆ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยเรียนกับท่านคนหนึ่ง ผมจำได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์จำหนวนเพียงหยิบมือเดียวที่มีวิธีการสอนหนังสือที่โดดเด่น นั่นก็คือ การสอนหนังสือในลีลาของการเล่านิทานอย่างมีสีสัน เต็มไปด้วย "การยิงหมัด" (punch) ที่มีจังหวะจะโคนเร้าใจ ในบางครั้งสนุกสนานราวกับการดูภาพยนตร์เลยทีเดียว

ไม่ใช่การนั่งอ่านคำบรรยายที่เตรียมมาบนกระดาษอย่างจืดๆ ชืดๆ เหมือนกับอาจารย์จำนวนมากในยุคนั้น ที่บางท่านถึงกับถือเป็นธุระที่จะบอกนักศึกษาว่าควรจะจดคำบรรยายอย่างไร "เว้นวรรค" ตรงไหนบ้าง!

เกี่ยวกับการพูดแบบมี "การยิงหมัด" นี้ ผมมีข้อสังเกตว่าคงจะเป็นลีลาประจำตัวของท่านอาจารย์เกษม เพราะในงานเขียนของท่านจะใช้เครื่องหมายตอกย้ำ!!! แบบภาษาอังกฤษเสมอ จนคงจะไม่เป็นการผิดดอกที่จะบอกว่าท่านคงจะเป็นนักเขียนที่ใช้!!! มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของภาษาไทยเลยทีเดียว

ผมคิดว่านี่คงเป็นเทคนิคการเขียนเฉพาะตัวของท่าน เพื่อแสดงความรู้สึกพิเศษส่วนตัวของท่านเป็นการเพิ่มเติมไปจากความหมายของถ้อยคำ ซึ่งผมรู้สึกว่ามีนัยในเชิงกวีๆ ดี เพราะส่วนมากแล้วเราไม่ค่อยทราบดอกว่าความหมายที่ซ่อนอยู่ภายในเครื่องหมาย!!! แต่ละครั้งนั้นคืออะไรกันแน่!

หลังจากสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ 12 ปี ตก พ.ศ. 2517 ท่านอาจารย์เกษมก็ออกมาช่วยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งพรรคกิจสังคม จนกระทั่งเป็นเลขาธิการพรรคกิจสังคม นอกจากนี้ ในช่วง 18 ปีที่ท่านผู้เขียนเลือกใช้คำกริยาว่า "วุ่นวาย" กับการเมืองไทยอยู่นั้น ท่านอาจารย์เกษมยังได้ทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนสามสมัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

เมื่อ พ.ศ. 2535 ท่านอาจารย์เกษมได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและ (ในภาษาของท่านเอง) "เลิกเล่นการเมืองเด็ดขาด ตั้งแต่นั้นมาวางตนเป็นอิสระ ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองไหน หรือฝ่ายการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น" จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 ท่านก็กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ "ปัจจุบันนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ (และ) งานอดิเรก (คือการ) เฝ้ามองการเมืองปัจจุบันด้วยความระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง!" (หน้า 312)

แน่นอน ความที่ท่านอาจารย์เกษมได้เข้าไปมีส่วนคลุกคลีกับการเมืองไทยในฐานะต่างๆ มาอย่างยาวนาน เรื่องราวที่ท่านเล่าให้ฟังในรูปแบบของอัตชีวประวัติจึงไม่ใช่อะไรที่ธรรมดาๆ ทว่าเป็น "เชิงอรรถ" ที่นักประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่จะต้องเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน เพราะหลายๆ มิติของเรื่องราวที่ท่านเล่าให้ฟังนั้นเป็นประสบการณ์โดยตรงของท่านแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหากท่านไม่ได้ถือเป็นธุระมาเล่าให้ฟัง ก็คงจะไม่มีใครมีโอกาสได้ทราบว่าอะไรเป็นอะไรในเรื่องนั้นๆ เป็นอันขาด

โดยสาระสำคัญแล้ว ในส่วนของเรื่องราวทางการเมือง หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมระยะเวลาเอาไว้กว่าสองทศวรรษจากช่วงความปั่นป่วนทางการเมืองที่ฝ่ายขวาประจันหน้ากับฝ่ายซ้ายในทศวรรษที่ 1970 จนกระทั่งถึงยุคปฏิรูปการเมืองในทศวรรษที่ 1990

ทว่าความที่ท่านผู้เขียนเป็นคนมีภูมิหลังทางการศึกษาหนักแน่น อีกทั้งมีบทบาทใกล้ชิดกับบุคคลและเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ ไม่ใช่น้อยๆ "กรอบแห่งการอ้างอิง" ของท่านผู้เขียนจึงกว้างไกลไปกว่านั้นอีกมาก เพราะเนื้อหาหลายๆ ส่วนของผลงานแต่ละส่วนจะเอ่ยถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ อย่างอิสระ ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงแต่เรื่องราวนั้นๆ เท่านั้น

หากอยากจะทราบว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้น่าตื่นเต้นเพียงใด ก็พิจารณาจากชื่อเรื่องต่างๆ ที่ท่านผู้เขียนตั้งไว้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น "มาเฟียมหาดไทย" "ความเสื่อมสลายของระบอบเผด็จการทหาร" "14 ตุลา : จุดตัดทางประวัติศาสตร์" "รัฐบาลคึกฤทธิ์" "เมื่ออินโดจีนตกเป็นคอมมิวนิสต์" "คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตุง" "ซ้ายก็โยก-ขวาก็บีบ" "ภารกิจของนักการเมือง" "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" "ยังเติร์ก" "ปฏิรูปการเมือง" ฯลฯ

ในอีกระดับหนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของท่านผู้เขียนด้วย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็ก การไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา ประสบการณ์ในฐานะที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งคำบอกเล่าถึงกิจกรรมต่างๆ บางอย่างของท่านกับนักวิชาการรุ่นใหญ่ๆ และรุนใหม่ๆ ที่เพียรพยายามที่จะปฏิรูประบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ดร.ประชุม โฉมฉาย ดร.พัทยา สายหู และ ดร.สมศักดิ์ ชูโต เป็นต้น

ลักษณะเด่นของ เหลียวมองหลัง ก็คือเป็นหนังสือที่อ่านได้สนุกเรื่อยๆ เพราะท่านผู้เขียนมีทักษะเป็นนักเล่าเรื่องชั้นเซียนทีเดียว นอกจากการใช้ภาษาเรียบๆ เบาๆ ที่ไม่ได้เรียกร้องความพยายามจากผู้อ่านเป็นพิเศษแต่อย่างใดแล้ว เรื่องราวที่ท่านยกขึ้นมาเล่าจะเต็มไปด้วยอุทาหรณ์อันลึกซึ้ง อารมณ์ขันเบาๆ และเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจต่างๆ อย่างมากมาย

จุดที่เด่นเป็นพิเศษก็คือ การที่ท่านผู้เขียนจะเล่าเรื่องราวที่แสดงถึงสติปัญญา ไหวพริบ อารมณ์ขัน อุปนิสัย และความเมตตาของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นระยะๆ รวมทั้งรสนิยมในการ "กิน" ที่ออกจะประหลาด เช่น การกินข้าวต้มผัดกับแยมสตรอเบอรี่ แกงเลียงกับน้ำพริกกะปิมะนาว และข้าวต้มกับปลาร้า ซึ่งท่านผู้เขียนยืนยันว่าล้วนเป็นอาหารจานเด็ดทั้งสิ้น!

ยิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้ไปมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าผมมีอะไรที่จะต้องเรียนรู้จากท่านเพิ่มเติมอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ผมได้เรียนรู้เรื่อง "ธรรมของผู้เป็นสัปปุรุษ" 7 ประการ อันประกอบไปด้วย ธัมมัญญู-รู้จักเหตุ อัตถัญญู-รู้จักผล อัตตัญญู-รู้จักตน มัตตัญญู-รู้จักพอประมาณ กาลัญญู-รู้จักกาลเวลาอันสมควร ปริสัญญู-รู้จักผู้คนหรือประชุมชน และปุคคสัญญู-รู้จักบุคคลว่าใครควรคบหรือไม่ควรคบ เป็นต้น

หากท่านผู้ท่านอยากจะรู้ว่าท่านอาจารย์เกษมเห็นว่าธรรมข้อใดสำคัญที่สุดในการครองชีวิต ก็ต้องไปหาอ่านเอาจากหนังสือเล่มนี้เอาเอง

แต่ที่บอกได้ตอนนี้ก็คือการปฏิบัติตามธรรมข้อที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุผลทำให้ท่านอาจารย์เกษมมีอารมณ์ขันอย่างนิ่มๆ นวลๆ เกี่ยวกับตัวท่านเองอยู่บ่อยๆ เช่น ในหน้า 213 ซึ่งมีภาพของตัวท่านเองกำลังยืนเกาะโพเดียมพูดนั้นมีคำบรรยายประกอบว่า "เมื่อเป็นเลขาธิการพรรคที่ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับการหาเงินเข้าพรรค แต่มีหน้าที่ขนเงินไปฝากแบงก์เท่านั้นเอง" เป็นต้น อารมณ์ซ่อนรูปชั้นดีเช่นนี้มีเสนอใน เหลียวมองหลัง อย่างแพรวพราวทีเดียว

ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง ผมมีความรู้สึกว่าเราเป็นหนี้ท่านอาจารย์เกษมไม่ใช่น้อย ที่ท่านได้เขียนหนังสือดีๆ ให้เราอ่านกันมานาน อีกทั้งใน เหลียวมองหลัง ท่านยังได้นำภาพส่วนตัวน่ารักๆ ของท่านในวัยต่างๆ มาแบ่งปันให้เราได้ดูอีกด้วย

ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า นี่คือหนังสือว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่ที่มีคุณค่าและอ่านสนุกที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่จะหาได้บนแผงหนังสือวันนี้!
กำลังโหลดความคิดเห็น