xs
xsm
sm
md
lg

ทำเนียบขาวกับสื่อ

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

นับตั้งแต่นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 สถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในประเทศนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปในทางลบในระดับหนึ่ง รวมทั้งสิทธิว่าด้วยอิสรภาพ สิทธิว่าด้วยการมีตัวแทนทางกฎหมาย สิทธิว่าด้วยการได้รับการพิพากษาอย่างรวดเร็วและโปร่งใส เสรีภาพจากการถูกสืบค้นอย่างไม่มีเหตุผลเพียงพอ เสรีภาพในการชุมนุม ตลอดทั้งเสรีภาพด้านข่าวสารและเสรีภาพแห่งการพูด

ความตกต่ำของสิทธิและเสรีภาพในอเมริกาเป็นข่าวใหญ่ ก็เพราะคนอเมริกันและคนทั้งโลก ยังอยากจะเชื่ออยู่ว่าอเมริกาคือ "ป้อมปราการ" แห่งสิทธิและเสรีภาพ อันเป็นจุดที่สังคมเปิดอื่นๆ ถือเป็นมาตรฐานอ้างอิง

ในส่วนหนึ่ง ข้อจำกัดใหม่ๆ เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 9/11 ทว่าในอีกส่วนหนึ่งนั้นก็เกิดขึ้นจากโลกทัศน์ที่ออกจะมีลักษณะพิเศษของบุชและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของเขาด้วย

นักข่าวในกรุงวอชิงตันล้วนมีข้อสรุปที่ใกล้เคียงกันว่าบุชมีความสัมพันธ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ กับสื่อ บางครั้งก็ดูเป็นมิตรดี ถึงขนาดตั้งชื่อล้อเลียนให้นักข่าวที่ตนเองชอบ บางครั้งก็ทำตัวห่างเหินเสมือนไม่สนใจ หรืออีกบางครั้งก็แสดงออกอาการตอดนิดตอดหน่อย เช่น ที่ปรึกษาคนหนึ่งของบุชเล่าว่าบุชชอบเอ่ยถึงนักข่าวที่ลุกขึ้นยืนเพื่อตั้งคำถามตนในห้องแถลงข่าวที่เต็มไปด้วยกล้องโทรทัศน์ว่าชอบ "ทำสวยแบบนกยูง" อันถือได้ว่าเป็นการประชดประชันในขีดขั้นที่รุนแรงมาก ซึ่งหาตัวอย่างอื่นๆ จากวัฒนธรรมการเมืองอเมริกันในยุคใดสมัยใดมาเทียบคียงไม่ได้เลย

ในโอกาสหนึ่ง เมื่อบุชจัดงานบาร์บีคิวเลี้ยงนักข่าวจำนวนหนึ่งที่เทกซัส เขาประกาศว่าเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยดูข่าวโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ จะยกเว้นก็แต่ข่าวกีฬาเท่านั้น ในงานเดียวกันนี้ บุชได้เผลอเปิดเผยเหตุผลที่ทำเนียบขาวของเขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับสื่อเมื่อถูกนักข่าวถามว่า "แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร" ว่ากันว่าบุชตอบออกมาว่า "คุณกำลังมีสมมติฐานที่ใหญ่โตมหึมามากนะว่า คุณเป็นตัวแทนทางความคิดของประชาชน"

สมาชิกระดับสูงในรัฐบาลของบุชหลายคนได้แสดงออกถึงความเชื่อในแนวความคิดทำนองเดียวกันนี้บ่อยๆ เช่น แอนดรูว์ คาร์ด หัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลบุช ซึ่งออกมาประกาศว่า "(สื่อต่างๆ) ไม่ได้เป็นตัวแทนของสาธารณชนมากไปกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ ดอก ในระบอบประชาธิปไตยของเรา บุคคลที่เป็นตัวแทนของสาธารณชนคือผู้ที่เสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้ง...ผมไม่เชื่อว่า (สื่อ) มีหน้าที่ในการถ่วงดุลทางอำนาจ"

คำประกาศในทิศทางที่ว่าสื่อไม่มีความสำคัญพิเศษอะไรอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าใดนัก ในอเมริกา พวกอนุรักษนิยมมักจะเชื่อกันว่าสื่อถูกครอบงำโดยพวกเอียงซ้าย ผู้ทำงานข่าวด้วย "อคติ" ทางอุดมการณ์บางชนิด ว่ากันว่าบุชเองมีความเชื่อว่าสื่อมักจะเป็น "พวกหัวสูง" ผู้มีภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจแตกต่างไปจากคนอเมริกันส่วนมาก

นักข่าวในกรุงวอชิงตันมักจะพูดต่อๆ กันมาว่าบุชมักจะรู้สึกอึดอัดเมื่อตกเป็นเป้าสายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ หากบุชไม่มี "บท" ที่เตรียมไว้ล่วงหน้าอยู่ในมือก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ความอึดอัดที่เกิดขึ้นจะสร้างความรู้สึกตึงเครียดได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โดยไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับอุดมการณ์อะไรสักอย่างเลย

ในยุคของบุช ทำเนียบขาวยืนยันว่าจุดที่เป็นปัญหาที่สุดเกี่ยวกับสื่อก็คือความกระหายพาดหัวข่าว อันเป็นที่มาของการทำงานอย่างไม่ระมัดระวัง ตัวอย่างเช่น คาร์ล โรฟ ที่ปรึกษาทางการเมืองที่ใกล้ชิดบุชมากที่สุด ได้อธิบายว่าจริงๆ แล้ว บุช มี "ความนับถือ" ให้แก่สื่อต่างๆ "ท่านเข้าใจว่างานของสื่อก็คือการทำหน้าที่ของตน แต่มันอาจจะไม่ใช่การรายงานข่าวดอกนะ แต่มันเป็นการแสวงหาพาดหัวข่าว หรือเรื่องราวใดๆ ที่จะทำให้คนหันมาสนใจนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์มากขึ้นมากกว่า"

ส่วนมาร์ค แม็คคินนอน ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาในการรณรงค์เลือกตั้งของบุชทั้งใน ค.ศ. 2000 และ 2004 อธิบายว่า "ผมไม่เคยเชื่อในแนวความคิดที่ว่าสื่อมีอคติอะไรนะ ผมว่าสื่อน่ะเอาจริงเอาจังกับทุกคนนั่นแหละ ธรรมชาติจริงๆ ของธุรกิจข่าวก็คือ ความขัดแย้งเป็นข่าว"

ด้วยความคิดอย่างนี้เอง ทำเนียบขาวในยุคของบุชจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสื่อมากนัก เช่น ในกรณีหนึ่งเมื่อบ็อบ ดีนส์ ในฐานะประธานของสมาคมนักข่าวประจำทำเนียบขาว ส่งจดหมายความยาวสองหน้ากระดาษไปถึงแอนดรูว์ คาร์ด เพื่อบ่นออดๆ แอดๆ ว่าทั้งๆ ในบางช่วงมีคำถามสำคัญๆ มากมายในประเทศ บุชกลับไม่ยอมตอบคำถามของนักข่าวประจำทำเนียบขาวเลย มิหนำซ้ำ การเปิดแถลงข่าวหรือการให้สัมภาษณ์ก็มีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับทำเนียบขาวในยุคของบิลล์ คลินตัน หรือแม้กระทั่งยุคของจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุชก็ตาม ทว่าในที่สุดแล้ว ดีนส์กลับไม่เคยได้รับคำตอบอะไรจากใครเลย!

นักข่าวผู้เข้าๆ ออกๆ ทำเนียบขาวมานานคนหนึ่งมีความเห็นว่าแนวความคิดของบุชเกี่ยวกับสื่อคงจะถูกกำหนดโดยประสบการณ์ภายในครอบครัวของเขาเองบ้างไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น ตอนที่เขายังเป็นประธานาธิบดีอยู่ ในบางครั้งบุชซีเนียร์ก็จะเชิญนักข่าวไปงานเลี้ยงส่วนตัวเพื่อการสังสรรค์ หรือไม่ก็เพื่อเล่นโยนเกือกม้ากัน ทว่าภรรยาของเขาคือบาร์บารา บุช ผู้ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดงานเลี้ยงในทำนองนี้ มักจะไม่ยอมพูดคุยกับสื่อแบบสบายๆ เลย ทั้งนี้ เพราะเธอเชื่อว่าสื่อต่างๆ จะนำความไว้วางใจที่เธอมอบให้ไปใช้กันอย่างผิดๆ อย่างน้อยๆ บุชซีเนียร์ก็เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีครั้งหนึ่งเมื่อให้ความใกล้ชิดกับผู้สื่อข่าวรายหนึ่งของ Newsweek ผู้นำบทสัมภาษณ์เดี่ยวของเธอกับบุชซีเนียร์ไปนำเสนอในลักษณะที่ว่าเขาเป็นคนไม่เข้มแข็งพอสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี

ในกรณีของบุชจูเนียร์ ว่ากันว่าเขาก็ไม่ค่อยมีความไว้วางใจในสื่อต่างๆ จนถึงขั้นคับแค้นคล้ายๆ กับคุณแม่ของเขาเหมือนกัน แดน บาร์เลตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารของทำเนียบขาว อธิบายว่าประสบการณ์ภายในครอบครัวอย่างนี้เองทำให้บุชต้องคอยระวังตัวเกี่ยวกับสื่อ บาร์เลตต์เล่าว่าเขาเคยได้ยินบุชพูดถึงสื่อว่า "ในบางครั้ง ธุรกิจของสื่อก็คือการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง" หรือไม่ก็ "พาดหัวอย่างไรดีนะ" ด้วยเหตุนี้ บุชจึงชอบพูดคุยกับสื่อในรูปแบบที่เป็นทางการ ไม่ออกนอกลู่นอกทางตามการชักนำของสื่อ บาร์เลตต์บอกด้วยว่าในการประชุมเกี่ยวกับข่าวภายในทำเนียบขาว บุชมักจะย้ำแล้วย้ำอีกว่า "ผมต้องการได้รับทราบว่าพวกคุณออกไปพูดถึงเฉพาะแต่สิ่งที่เราต้องการพูดถึง ไม่ใช่สิ่งที่สื่อต้องการให้เราพูดถึง"

ด้วยการชี้นำทางความคิดอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวของบุชจึงพัฒนาความคิดและพฤติกรรมบางชนิดขึ้นมาจัดการกับสื่อ ตัวอย่างเช่น บาร์เลตต์อธิบายว่า "สื่อคงจะไม่ค่อยเชื่อกันดอกว่า ผู้คนส่วนมากในตึกนี้ (ทำเนียบขาว) ไม่ต้องการพูดกับสื่อ...พวกเขาต้องการทำงานกันมากกว่า"

หลังจากได้ทำงานข่าวเกี่ยวกับบุชมานาน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวการเมืองของเอบีซีรายหนึ่งได้ข้อสรุปว่า "บทเรียน" ก็คือ "ประธานาธิบดีถูกแวดล้อมโดยที่ปรึกษาประเภทที่มีความเข้าใจว่าสาธารณชนเชื่อว่าสื่อเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์พิเศษกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้น เขาจึงเป็นผู้ปั่นหัวเราเสียเอง ด้วยการกำหนดว่าตารางเวลา การเข้าถึง และระเบียบวาระว่าด้วยข่าวอย่างที่เขาต้องการ"

บาร์เลตต์ปฏิเสธว่าข้อสรุปข้างต้นนั้นไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริง บุชเชื่อว่า "วิธีการหาข่าวที่ดีที่สุดต้องหากับแหล่งที่เป็นกลาง และแหล่งที่เป็นกลางที่สุดที่ผมมีอยู่ก็คือคนที่ทำงานให้ผม ซึ่งจะคอยบอกผมว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลก" บาร์เลตต์ย้ำด้วยว่า บุช "ไม่เห็นด้วย (กับความเชื่อที่ว่า) สื่อจะยึดการเป็นหนทางเข้าหาสาธารณชนแต่เพียงผู้เดียว" แล้วขยายความว่า บุช "รู้ดีว่าประชาชนกำหนดความคิดของเขาได้หลายวิธี ไม่ใช่การพึ่งแต่สื่อเท่านั้น"

ทว่าบุชก็ไม่ถึงกับปิดตัวกับสื่อไปเสียทั้งหมด บางครั้งบางคราว เขาก็ยอมให้สัมภาษณ์นานๆ กับสื่อต่างๆ บ้างเหมือนกัน ทว่าที่ปรึกษาของบุชเชื่อว่าบุชดูไม่ดีนักในการแถลงข่าวแบบเดี่ยวๆ และสิ่งที่บุชไม่ชอบที่สุดก็คือการถูกถามในสิ่งที่ตนเองไม่มีความรู้และการอยู่ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ ดังนั้น ที่ปรึกษาของเขาจึงให้ความสำคัญกับการแถลงข่าวร่วมกับผู้นำระดับสูงอื่นๆ เช่น โทนี แบลร์ มากกว่า

ทว่าบางครั้งก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยเสียเลยทีเดียวนักเพราะแบลร์เป็นคนที่สามารถตอบคำถามสั้นๆ ให้ยาวๆ ได้ในขณะที่บุชมักจะมีความถนัดในการที่จะตอบคำถามที่สลับซับซ้อนแบบง่ายๆ จนเกินไป เช่น ในกรณีหนึ่ง เมื่อเปิดแถลงข่าวร่วมกันในอังกฤษ เมื่อนักข่าวถามว่าบุชรู้สึกอย่างไรบ้างที่ประชาชนชาวอังกฤษออกมาเดินขบวนต่อต้านเขามากมาย เขามีข้อสรุปอย่างไรที่ประชาชนในโลกเสรีมีความหวาดกลัวและเกลียดชังเขามาก ทั้งๆ ที่ได้รับคำเตือนมาแล้วว่าจะมีคำถามในเชิงยั่วยุจากสื่ออังกฤษ ทว่าบุชก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีความพร้อมเท่าใดนัก

บุชตอบคำถามนี้ว่า "ผมคิดว่าเสรีภาพเป็นสิ่งที่งดงาม มันเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากทีเดียวที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้"

กับคำถามเดียวกันนี้ แบลร์ใช้ความชำนาญทางวาทศิลป์ตามแบบฉบับที่เลื่องลือไปทั่วโลกนานแล้ว พูดแบบนอกเรื่องนอกราวเสียยืดยาว จนกระทั่งทุกคนลืมไปหมดแล้วว่า "คำถาม" ของสื่อคืออะไรกันแน่

จริงๆ แล้ว นักการเมืองทั่วไปย่อมมีแนวโน้มโดยธรรมชาติที่ต้องการจะให้สื่อต่างๆ ชื่นชอบตนเอง เพราะการทำอย่างนั้นน่าจะทำให้เรื่องราวของตนที่ปรากฏในสื่อมีมากและดีขึ้น ทว่าในยุคบุช ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งที่มีบทบาทในการช่วยทำงานรณรงค์หาเสียงให้กับบุช ทว่าไม่ยอมพิจารณาว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในกรุงวอชิงตัน ให้ข้อสรุปจากมุมมองที่เป็นอิสระว่า "ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ไม่เชื่อในความคิดแบบนี้ ผมไม่คิดว่าพวกเขาคิดว่ามันจะได้ผล"

ผู้สังเกตการณ์รายเดียวกันบรรยายเพิ่มเติมอีกว่า "บรรดาคนที่ทำงานเกียวกับข่าวรัฐบาลนี้เป็นพวกที่ชอบการแข่งขัน เขามีความชำนาญในสิ่งที่เขาเป็นอย่างมาก มันมีแรงกดดันมากที่เขาจะต้องหาข่าวสารที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้น เขาจึงใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในอันที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับแหล่งข่าว...มันจึงเป็นการง่ายที่จะโดนสื่อชักนำ ทำเนียบขาวยุคนี้มีความเข้าใจเรื่องแบบนี้ว่าอะไรเป็นอะไรเป็นอย่างดี"

เนื่องจากความเชื่ออย่างนี้ ในช่วงที่บุชเป็นประธานาธิบดี นักข่าวในกรุงวอชิงตันจึงประสบความยากลำบากในการทำงานมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นักข่าวคนหนึ่งของ The Washington Post บอกว่าสาเหตุที่คนในรัฐบาลบุชต่างพูดอะไรเหมือนๆ กันไปหมดก็เพราะมีการส่งอีเมลออกไปอย่างกว้างขวางให้ทุกคนพูดประเด็นเดียวกันเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะติดต่อใคร ทุกคนก็ตอบคุณเหมือนกันหมด "ความหงุดหงิดที่ใหญ่ที่สุดของเราก็คือทำเนียบขาวได้เลือกแนวทางทำงานกับนักข่าวทำเนียบขาวเอาไว้แล้ว กล่าวโดยทั่วไป การเปิดโอกาสให้เราได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้"

แน่นอน เป็นครั้งเป็นคราว นักข่าวที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุชในทางลบจะถูกลงโทษ เช่น จะไม่ให้ความร่วมมืออีก ถึงขนาดไม่โทรศัพท์กลับ ในบางกรณี นักข่าวใหญ่ๆ ในกรุงวอชิงตันสามารถเล่าได้ว่าตนเองโดนขู่แบบอ้อมๆ จากแหล่งข่าวในรัฐบาลบุช เช่น หลังจากให้สัมภาษณ์แล้ว ก็จะบอกว่า "มันควรจะต้องออกมาดีนะ" เป็นต้น

ส่วนสื่อที่สามารถเข้าถึงบุชได้อย่างใกล้ชิดมีไม่มากนัก หนึ่งในจำนวนนั้นที่เด่นๆ ก็คือนักข่าวการเมืองรุ่นใหญ่นามบ็อบ วูดเวิร์ด ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Bush At War ถึงขนาดที่วูดเวิร์ดสามารถพูดได้ว่าทำเนียบขาวของบุชให้ "การตอบสนอง" ดีกว่าทำเนียบขาวยุคอื่นๆ ทีเดียว นักข่าวในกรุงวอชิงตันที่รู้เรื่องดีรายหนึ่งมีข้อสรุปว่าวูดเวิร์ดได้รับการดูแลดีก็เพราะว่าทำเนียบขาวของบุชจงใจที่จะเอาใจวูดเวิร์ดเพราะการปิดตัวจากเขาจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี นอกจากนี้ วูดเวิร์ดยังเป็นผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับสงครามอ่าวคือ The Commanders ซึ่งออกจะแสดงความชื่นชมทั้งยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการของบุชผู้พ่ออีกต่างหาก

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1929 เมื่อประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าด้วยสื่อขึ้นมาในทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก บทบาทของตำแหน่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปๆ มาๆ ตามความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ครองตำแหน่งนี้กับประธานาธิบดี และเงื่อนไขเฉพาะของประธานาธิบดีแต่ละคน ตัวอย่างเช่น เนื่องจากมีบุคลิกภาพที่ดึงดูดใจคนได้มาก จอห์น เอฟ เคนเนดี แทบจะทำหน้าที่นี้เสียเองทั้งหมด ส่วนในยุคของจิมมี คาร์เตอร์ เมื่อโจดี พาเวลล์ทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ ความที่เขาเป็นที่ไว้วางใจของสื่อและประธานาธิบดีมาก เขาจึงทำหน้าที่ของตนได้เต็มที่ เป็นต้น

ในยุคของบุช เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำเนียบขาวได้พัฒนาทักษะในการวางระบบจัดการกับสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ ไม่ให้สื่อได้เข้าใกล้ แล้วทำเนียบขาวก็เป็นผู้กำหนดระเบียบวาระข่าวเสียเอง บรรดานักข่าวที่ทำงานในกรุงวอชิงตันมานานๆ ค่อนข้างจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าทำเนียบขาวได้แปรสภาพตัวเองให้อยู่เหนือนักข่าวได้ จนกระทั่งอำนาจของสื่อลดน้อยถอยลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นก็คือ การทำให้นักข่าวต้องอ้อนวอนขอการเข้าถึงแหล่งข่าวและพาดหัวที่น่าสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ ราวกับว่าสื่อเป็นเพียง "กลุ่มผลประโยชน์" ธรรมดาๆ อีกชนิดหนึ่งจริงๆ!

บ่อยๆ บุชชอบที่จะเปรียบเทียบตนเองว่าเป็นซีอีโอ แต่นักสังเกตการณ์ที่คมคายมักจะสวนกลับว่าซีอีโอที่แท้จริงจะต้องมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอกับผู้ถือหุ้น ไม่ใช่การทำอะไรงุบๆ งิบๆ เงียบๆ แล้วก็โมเมเอาว่าตนเองได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานบรรษัทอย่างชอบธรรม ฉะนั้น จึงย่อมดำเนินการทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแล้ว

ผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งใจดีหลายคนในกรุงวอชิงตันมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ความคิดและพฤติกรรมของทำเนียบขาวในยุคของบุชเกี่ยวกับสื่อผิดพลาดอย่างรุนแรง เพราะมันเป็นการโดดเดี่ยวตนเองจากสื่อและสังคมมากขึ้นทุกที บางคนให้เหตุผลว่าการให้ข่าวกับสื่อมากๆ นั้นทำให้สื่อและประชาชนเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการตัดสินใจต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร ลงท้ายแล้ว จะมีผลดีตรงที่ทำให้รัฐบาลมี "ความเป็นมนุษย์" มากขึ้น ไม่ใช่การมีและใช้อำนาจมากๆ อย่างลอยๆ จนกระทั่งไม่มีใครสามารถให้ความไว้วางใจได้

ปัญหาที่น่าสนใจมากในความเป็นมนุษย์ก็คือ ในบางครั้งเราอาจจะต้องพานพบกับคนประเภทที่ทำในสิ่งที่ผิดอย่างเห็นได้ชัดจากมุมมองของผู้คนจำนวนมาก เช่น ในกรณีของบุช ในโอกาสหนึ่ง ความที่เขามีคนรู้จักกันดีคนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน บุชก็สามารถประกาศแบบขอเออออห่อหมกไปกับเขาได้ด้วยเหมือนกันว่า "ไม่มีประธานาธิบดีคนใดที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่สิทธิมนุษยชนมากเท่ากับที่ผมได้ทำ" ในฉับพลันที่ประโยคนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไป นักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันก็ตกใจกันใหญ่ว่าบุชมีฐานะทัดเทียมกับประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ผู้ปลดปล่อยทาส หรือแฟรงกิน ดี รูสเวลต์ ผู้ปลดปล่อยค่ายกักกันในยุโรป ไปเสียแล้ว

ไม่ว่าในที่สุดแล้วนักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน จะสามารถขุดคุ้ยหาข้อมูลมาเขียนตำราเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามความเข้าใจของบุชให้ใครอ่านได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม ปริศนาข้อหนึ่งจากนิทานจากทำเนียบขาวเรื่องนี้ก็คือ หากใครคนใดคนหนึ่งมีความเชื่ออย่างแท้จริงในสิ่งที่เขาพูดว่าเป็นจริง บุคคลอื่นจะถือว่าเป็นคำโกหกได้หรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น