xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้เท่าทันสื่อ ภาค 2

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

เมื่อ พ.ศ. 2533 หลังจากรับเชิญไปอภิปรายในงานของสมาคมภาษาและหนังสือ ณ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ผมได้เขียนบทความขึ้นมาเรื่องหนึ่งคือ "ความรู้เท่าทันสื่อมวลชน ภารกิจของพลเมืองร่วมสมัย" ซึ่งอธิบายว่า พลังทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมต่างๆ ว่ามีบทบาทในกระบวนการผลิตสื่ออย่างไรบ้าง ความที่ในขณะนั้นยังไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องราวอย่างนี้ในเมืองไทยเลย บทความเรื่องนี้จึงถูกนำไปตีพิมพ์ในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางโดยที่ในบางกรณีผมก็ไม่ได้มีส่วนรับรู้ด้วยซ้ำไป

หลังจากนั้นนานถึงทศวรรษครึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีใครๆ เอ่ยถึงวลีนี้ในลักษณะและโอกาสต่างๆ เป็นครั้งเป็นคราวทว่าเอาเข้าจริงแล้ว ไม่ว่าจะในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ หรือในส่วนของการสร้างกิจกรรมเพื่อกระตุ้นความสำนึกทางสังคมในเรื่องเหล่านี้ ดูเหมือนแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวไปถึงที่ไหนเลย

คำอธิบายสำคัญๆ ของปรากฏการณ์ชนิดนี้ก็คือ (1) องค์ความรู้ชนิดนี้เป็นสหวิทยาการในความหมายที่สมบูรณ์แบบ จึงไม่สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างเต็มที่ในบริบทของโลกเล็กๆ ของวิชาการตำรับที่ผมเคยเรียกว่าลัทธิกระพี้นิยม ที่ชอบเอาเป็นเอาตายกับเรื่องจุ๋มๆ จิ๋มๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญอะไร ทว่าละเลยเรื่องใหญ่ๆ ที่สามารถส่งผลกระทบได้มากๆ (2) กิจกรรมเพื่อสร้างความรู้เท่าทันสื่อเกิดขึ้นได้ยากมากก็เพราะเมืองไทยเป็นโรคคลั่งสื่ออย่างหน้ามืดตามัว จนกระทั่ง "ดารา" ของสื่อต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการโทรทัศน์) กำลังตกเป็นเหยื่อของปัญหาทางสุขภาพชนิดใหม่ที่ผมขอเรียกไปพลางๆ ก่อนว่า "โรคกระดี๊กระด๊า" และ (3) พัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนและคุณภาพของประชาสังคมยังไปไม่ถึงไหน ฉะนั้น ทั้งๆ ที่บางกลุ่มของสื่อบางชนิดมีพฤติกรรมอันน่าสงสัยที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้ใครต่อใครอย่างไม่หยุดหย่อน ลงท้าย นอกจากการก่นด่าเล็กๆ น้อยๆ พอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครออกมาเอะอะเอ็ดตะโรอย่างต่อเนื่อง ในทำนองกินขี้หมาดีกว่า... ฯลฯ

ในระหว่างที่ความรู้เท่าทันสื่อยังเป็นอะไรที่ต้องพัฒนากันต่อไปอีกนานแสนนานนี้ ผมจะขอใช้โอกาสนี้ขยายความบางส่วนของบทความในคอลัมน์นี้เรื่อง "เมื่อสื่อเซ็นเซอร์ตนเอง" (ผู้จัดการรายวัน วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจปรากฏการณ์นี้เพิ่มขึ้น

สมมติฐานในที่นี้ก็คือ หากเรารู้ว่าทำไมสื่อจึงต้องเซ็นเซอร์ตนเองดีขึ้น ความรู้เท่าทันสื่อของเราก็จะมีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในอีกระดับหนึ่ง เมื่อเรามีพลเมืองที่มีความรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น วัฒนธรรมประชาธิปไตยก็จะเจริญขึ้นตามไปด้วย เพราะสื่อต้องหาทางปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนให้อยู่ในสภาพที่สอดคล้องกับระดับความรู้เท่าทันของพลเมือง เมื่อถึงเวลานั้น การแข่งขันในวงการสื่อก็จะเข้าด้ายเข้าเข็มยิ่งขึ้น การทำงานสื่อจะสนุกสนานขึ้น

ส่วนหนึ่งของบทความเรื่องดังกล่าวระบุว่าสื่อมี "อคติ" ในการทำงานของตนด้วย "เหตุผลเชิงระบบ" ห้าประการ ซึ่งผมจะขออนุญาตขยายความให้ชัดเจนขึ้นในวันนี้

ประการที่หนึ่ง การรวมกระจุกของการถือครองกรรมสิทธิ์เอกชน เนื่องจากสื่อเป็นธุรกิจที่ใช้ทุนมากขึ้นทุกที ฉะนั้น เอากันอย่างถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะในระบบทุนนิยมระดับหรือประเภทใด สื่อย่อมจะค่อยๆ ตกอยู่ในกำมือของเจ้าของทุนในภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทางตรงก็คือการเป็นเจ้าของเสียเอง โดยทางอ้อมก็คือการเป็นผู้รับสัมปทานในรูปแบบต่างๆ (จากรัฐอย่างเช่นกรณีวิทยุและโทรทัศน์ในเมืองไทย)

ในความเป็นจริง เมื่อใครได้เข้ามาทำธุรกิจสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีแนวโน้มที่จะขยายธุรกิจสื่อนั้นๆไปสู่ธุรกิจสื่ออื่นๆ ด้วย นอกจากด้วยเหตุผลเรื่องความเชี่ยวชาญแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องการใช้สอยทรัพยากรด้านเทคโนโลยีบุคลากร เงินทุน และ "ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ" ที่มีอยู่ให้เต็มที่ด้วย ฉะนั้น การแตกหน่อทางธุรกิจที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ในสื่อมากประเภทขึ้นจึงเป็นกิจกรรมปกติที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับมากมาย ธุรกิจสื่อที่มีเครือข่ายใหญ่ๆ ครอบคลุมไปสู่สื่อมากๆ จึงเป็น "ธรรมชาติ" ของธุรกิจนี้ ลงท้าย ผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงจะมีจำนวนน้อยลงตลอดเวลา ในทิศทางที่กลับกัน ธุรกิจสื่อใหม่ๆ จะเกิดขึ้นยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเวทีทางธุรกิจตีบตันลง ครั้นเมื่อเกิดขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะโดนซื้อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายใหญ่ๆ อย่างไม่ยากเย็นอะไร

นี่คือกระบวนการอันเป็นที่มาของปรากฏการณ์รวมกระจุก อันเป็นเรื่องปกติของธุรกิจทั่วๆ ไปในระบบทุนนิยม รวมทั้งธุรกิจสื่อด้วย ในกรณีธุรกิจสื่อ ข้อกังวลก็คือการรวมกระจุกนี้จะลดการแข่งขันและความหลากหลายทางความคิด ซึ่งว่ากันว่าไม่เป็นประโยชน์กับวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ด้วยประการฉะนี้ ในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า การรวมกระจุกที่เข้มข้นในระดับหนึ่งจะถูกนิยามว่าเป็นอันตราย จึงมีการริเริ่มกฎหมายบางชนิดขึ้นที่จะบีบบังคับให้ธุรกิจนั้นๆ มีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น อย่างเช่น กรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งตัวเป็นโจทก์ฟ้องร้องธุรกิจภาพยนตร์ในทศวรรษที่ 1950 และธุรกิจซอฟต์แวร์ในวงการคอมพิวเตอร์ในทศวรรษที่ 1990 เพื่อให้ลดระดับการรวมกระจุกลง เป็นต้น

ประการที่สอง ความเข้มงวดของกฎเกณฑ์แห่งการสร้างกำไร เนื่องจากเป็นธุรกิจในระบบทุนนิยม เป้าหมายของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสื่อย่อมมีความสำคัญมาก เมื่อเน้นผลกำไรมาก ธุรกิจสื่อจึงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ประเภทที่มุ่ง "เอาใจตลาด" โดยไม่ค่อยคำนึงว่าอะไรควรไม่ควรเท่าไรนัก เช่น การเน้นผลิตภัณฑ์ด้านความรุนแรง ด้านกามารมณ์ และการตกแต่งเรื่องราวต่างๆ ให้ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นอาทิ

ตัวอย่างหนึ่งจากเร็วๆ นี้ก็คือกรณีรายการโทรทัศน์หนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตาจะส่งเสริมให้วัยรุ่นไทยหมกมุ่นกับการจับคู่อย่างเอาเป็นเอาตายในนามของ "Reality Show" ทั้งๆ ที่ก็มีข้อมูลมากมายยืนยันอยู่แล้วว่าวัยรุ่นจำนวนมากในเมืองไทยที่ฝักใฝ่ในกามารมณ์นั้นไม่ค่อยสนใจเรื่องการทำงาน จึงมีความชำนาญในปฏิบัติการด้าน "กามารมณ์ที่ไม่ต้องรับผิดชอบ" เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รายการชนิดนี้จึงไม่เพียงแต่ส่งมอบความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมชนิดนี้ ทว่าเป็นการสนับสนุนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวโน้มนี้จะมีอยู่ทั่วไปจริง ทว่าการพูดเหมารวมก็เป็นอันตราย เพราะในความเป็นจริง ธุรกิจทุกชนิดย่อมมีผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหลายระดับ ผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลย่อมมุ่งแสวงหาผลกำไรอย่างรับผิดชอบมากกว่า ทั้งนี้ เพราะวิสัยทัศน์ที่ดีของเขาไม่อนุญาตให้เขาหากำไรกับอะไรก็ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ฉะนั้น การวิเคราะห์สื่อชนิดต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจงจึงจำเป็นต้องมีความแม่นยำด้วย ไม่เหมารวมง่ายๆ เกินไปเพราะนั่นเท่ากับเป็นการขัดขวางการเติบโตของสื่อดีๆ ซึ่งย่อมมีอยู่ในทุกสังคมในระดับหนึ่ง

ประการที่สาม การพึ่งพิงรัฐบาลและบรรษัททางธุรกิจในการทำข่าวมากเกินไป จริงอยู่ รัฐบาลและบรรษัททางธุรกิจคือแหล่งข่าวสำคัญ ทว่าการที่สื่อเน้นข่าวที่มาจากแหล่งเหล่านี้ตลอดเวลานั้นย่อมทำให้สื่อนั้นๆ กลายสภาพเป็น "โฆษก" ของรัฐบาลและบรรษัททางธุรกิจไปไม่มากก็น้อย เพราะทั้ง "มุมมอง" และ "ข้อมูล" ย่อมถูกจำกัดเอาไว้ให้ตอบสนองความต้องการของแหล่งข่าวเป็นสำคัญไปโดยปริยาย

จุดสำคัญก็คือ ในเชิงอุดมคติแล้ว สื่อต้องขุดคุ้ยและพัฒนาแหล่งข่าวอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ "มุมมอง" และ "ข้อมูล" ของฝ่ายรัฐบาลและบรรษัททางธุรกิจต่างๆ ด้วย ไม่เช่นนั้น การผลิตข่าวก็จะเต็มไปด้วยความไม่สมดุลและไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะปล่อยให้ผู้มีอำนาจมากอยู่แล้วเป็น "ผู้พูด" เสียข้างเดียว ลงท้าย ข่าวก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการยืนยันความถูกต้องในแนวทางของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เป็น "ความจริง" รอบด้านที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง

ในกรณีเมืองไทย สื่อควรจะให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวในฟากของการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น หรือจะต้องให้น้ำหนักแก่ข้อเรียกร้องของผู้บริโภคมากขึ้นอย่างสำคัญ ทั้งนี้ เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลและความเอารัดเอาเปรียบของธุรกิจต่างๆ นั้นมีจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น สื่ออาจจะติดตามความเดือดร้อนของประชาชนทุกประเภทที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายรัฐบาลแต่ละเรื่องตลอดเวลา

หรือเกาะติดสถานการณ์ผู้บริโภคโดนกระทำจากธุรกิจต่างๆ อย่างกัดไม่ปล่อย เช่น สาเหตุของการทุบรถยนต์ฮอนด้า หรือความคับแค้นของผู้ซื้อบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไร้ยางอายต่างๆ นานา อีกทั้งวิเคราะห์ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไร้น้ำยา และนำเสนอแนวทางในการแก้ไขอย่างเป็นระบบด้วย เช่น ในที่สุดแล้ว การรวมตัวของผู้บริโภคเองในแบบฉบับของ "ชมรมคนเกลียดฮอนด้า" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจจะเป็นแนวทางที่ได้ผลที่สุดก็ได้ เพราะหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่เป็นอิสระจากบรรษัททางธุรกิจเพียงพอ

ประการที่สี่ แนวโน้มทั่วไปในการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเกิดความไม่พอใจ ความที่สื่อเป็นเครื่องมือแห่งการบอกเล่าที่ทรงพลังมาก ผู้มีอำนาจในสังคมทุกแห่งมักจะให้ความสนใจเป็นพิเศษเสมอ ทั้งนี้ เพราะสถานภาพของสื่อในการก่อรูปของ "สาธารณมติ" นั้นย่อมเป็นอิทธิพลที่อาจจะส่งผลสะท้อนถึงผู้มีอำนาจได้ ความที่ผู้มีอำนาจสูงๆ มีความสามารถในการให้คุณให้โทษแก่ใครๆ ได้มาก (รวมทั้งสื่อ) สื่อจึงมักจะต้องมีความระมัดระวังในการผลิต คัดเลือก และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ในระดับหนึ่งเสมอ ทั้งนี้ ระดับแห่งการเซ็นเซอร์ตนเองย่อมขึ้นกับบุคลิกภาพ โลกทัศน์ และวิสัยทัศน์ของผู้นำนั้นๆ ด้วย

ในบางยุค ผู้นำอาจจะเป็นนักประชาธิปไตยที่มีความสนใจในปัญหาและข้อคิดของสื่อ สื่อก็สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเต็มที่มากกว่า แต่สื่อก็ต้องมีอารยธรรมที่จำนำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างรับผิดชอบด้วย เพราะสิทธิและเสรีภาพของสื่อจะมีคุณค่าแท้จริงก็เพราะถูกกำกับด้วยความรับผิดชอบนี่เอง

ทว่าหากผู้นำมีลักษณะตรงกันข้าม สื่อจำนวนหนึ่งก็อาจจะปฏิบัติการฉอเลาะให้สนุกสนานกันทั้งเมืองไปเลย ส่วนในกรณีผู้นำที่มีอำนาจสูงเป็นเจ้าของสื่อเสียเอง มิหนำซ้ำ มีอำนาจในการให้คุณให้โทษด้วยการกำหนดทิศทางการถ่ายเทงบประมาณของการโฆษณาประเภทต่างๆ สื่ออื่นๆ ที่มีความรู้เท่ากันทางการเมืองและธุรกิจสักหน่อย ก็ต้องทำงานกันแบบนักไต่เส้นลวดนอกเวทีละครสัตว์

ประการที่ห้า การยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจนราวกับเป็นศาสนา ความที่สื่อมีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างแน่นแฟ้น นั่นก็คือ รายได้ของสื่อมาจากแจ้งความโฆษณาต่างๆ และการขายสื่อให้แก่ตลาดในรูปแบบตรงๆ หรืออ้อมๆ ต่างๆ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองว่าสื่อจะยอมรับการดำรงอยู่ของกฎเกณฑ์ของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ความจริงของโลกก็คือหากทำอะไรไม่ได้กำไรเพียงพอก็จะตั้งอยู่ไม่ได้

ในขณะที่การขาดทุนไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจอะไรนักหนา การกำไรมากๆ โดยไม่คำนึงถึง "วิธีการ" ก็อาจจะทำให้ความนับถือตนเองน้อยลงไป ฉะนั้น การยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจึงไม่ได้มีความหมายตายตัวสำหรับสื่อทั้งหมดของทุกสังคม เพราะถึงจะอยากได้กำไรมากๆ และเร็วๆ กันทั้งนั้น ผู้ประกอบการแต่ละรายย่อมมีมาตรฐานบางอย่างของตนเองที่เข้ากับกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้มากบ้างน้อยบ้าง

ในอีกระดับหนึ่ง การยอมรับกฎเณฑ์ของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนี้แสดงตัวออกมาจากการที่สื่อนั้นๆ อาจจะไม่ให้ความสนใจกับเรื่องราวและแนวโน้มใดๆ ที่ท้าทายหรือสวนทางกับกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ ด้วยการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับประเด็นที่มีคุณค่าด้านข่าวต่างๆ ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่าสื่อในระบบทุนนิยมจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับการนำเสนอข้อดีบางอย่างของระบบสังคมอื่นๆ และแนวความคิดแปลกๆ ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีคุณค่าบางชนิด

หรือในบางกรณีก็ทำการต่อสู้กับการแสวงหาแนวทางในการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ ไปเลย เช่น ความพยายามของชุมชุนต่างๆ ในการค้นหาและวางระบบเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชนหรือป่าชุมชน เป็นต้น

ข้างต้นนั้นคือการขยายความว่าภายใต้ระบบทุนนิยม สื่อมี "อคติ" ด้วย "เหตุผลเชิงระบบ" อะไรและอย่างไรบ้าง พลังเหล่านี้แหละที่ทำหน้าที่เป็น "เครื่องกรอง" ว่าอะไรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า หรือไม่มีคุณค่า หรืออะไรเป็นข่าว หรือไม่เป็นข่าวโดยอัตโนมัติ

จากมุมมองของผู้บริโภคสื่อ ความรู้เท่าทันสื่อหมายถึงการค้นพบวิธีการที่เหมาะสมในการมอบบทลงโทษและความชื่นชมแก่สื่อต่างๆ อย่างเหมาะสม หากผู้บริโภคชอบทำเป็นไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว ก็จะต้องรับกรรมกันไปตามสภาพ

ในขณะที่การทำสื่อตามกระแสมีให้เห็นทั่วไป การทำสื่ออย่างทวนกระแสกฎเกณฑ์ทั้งห้าประการนี้ในระดับใดระดับหนึ่งถือว่าไม่ใช่งานที่ง่ายนัก เพราะการดิ้นรนของสื่อที่จะทำหน้าที่เกินความคาดหมายของระบบใดๆ คือ "ส่วนเกิน" ที่เขาตั้งใจส่งมอบให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ตนเองอย่างแน่นอน

เอากันอย่างถึงที่สุด ความรู้เท่าทันสื่อต้องช่วยให้เราแยกน้ำดีจากน้ำเสียให้ได้ ไม่เช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะถูกท่วมด้วยน้ำเสียล้วนๆ จะมีอะไรน่าหวาดเสียวกว่าการหันซ้ายหันขวาก็เจอแต่สื่อแบบนั้นอีกเล่า!
กำลังโหลดความคิดเห็น