ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- การลงทุนภาคอีสานปีไก่ยังสดใสสวนกระแส ไตรมาสแรกบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุน 24 โครงการ รวม 2,473 ล้านบาท จากที่ยื่นขอส่งเสริมกว่า 51 โครงการ 8,058 ล้านบาท คาดแนวโน้มลงทุนตลอดปีอีสานขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2547 ที่ทำสถิติพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 37,000 ล้านบาท ชี้อุตฯ พลังงานทดแทนดาวเด่นมาแรง รับวิกฤตราคาน้ำมันโลกแพง โครงการฯผลิตไบโอก๊าซประเดิมรับส่งเสริมฯรวด 3 โครงการร่วม 150 ล้านบาท
นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสภาวะการลงทุนไตรมาสที่ 1 ปี 2548 (มกราคม-มีนาคม) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ไตรมาสแรกปีนี้ 19 จังหวัดภาคอีสาน มีผู้ประกอบการยื่นโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ ทั้งหมด 51 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 8,058 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานราว 14,679 คน
ทั้งนี้ ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว 24 โครงการ รวมเงินลงทุน 2,473 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 3,047 คน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร 10 โครงการ อุตฯผลิตโลหะ-เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 5 โครงการ อุตฯเคมีภัณฑ์และพลาสติก 4 โครงการ อุตสาหกรรมเบา 3 โครงการ อุตฯอิเล็กทรอนิกส์ 1 โครงการและอุตฯบริการและสาธารณูปโภค 1 โครงการ โดยส่วนใหญ่ตั้งกิจการอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 12 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1,658 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว พบว่า มีจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเท่ากัน คือจำนวน 24 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนต่ำกว่า ซึ่งช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมีมูลค่าลงทุน 3,284 ล้านบาท อย่างไรก็ตามขณะนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุน แล้วกว่า 27 โครงการ รวมเงินลงทุน 5,585 ล้านบาท
คาดสวนกระแสทะลุเป้า200โครงการ3.7หมื่นล.
สำหรับโครงการลงทุน ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของบีโอไอ มีโครงการ ขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ เช่น โครงการลงทุนผลิต Vacaum Salt for Industries ของ บริษัท เกลือพิมาย จำกัด เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา ส่วนการลงทุนระดับ 200-400 ล้านบาท เช่น โครงการขยายกิจการผลิต Knuckle สำหรับยานพาหนะ ของ บ. นิชชินเบรค (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 352 ล้านบาท,โครงการขยายกิจการ Knuckle ของ บ.ไดซิน จำกัด เงินลงทุน 290 ล้านบาท ,บ.โทคิโคะ (ประเทศไทย) จำกัด มีโครงการลงทุนผลิตก้ามปูเบรก 280 ล้านบาทที่จ.นครราชสีมา และ บ. มิ่ง เฮง นิตติ้ง จำกัด มีโครงการขยายกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองรับการเปิดเสรีโควตาสิ่งทออีก 252 ล้านบาท ที่จ.มหาสารคาม เป็นต้น
"จากตัวเลขไตรมาสแรก เป็นดัชนีที่ชัดเจนว่า การลงทุนของภาคอีสานในปี 2548 โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่อย่างนครราชสีมายังสดใส มีแนวโน้มการขยายตัวต่อจากปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าอีก 3 ไตรมาสที่เหลือจะมีโครงการลงทุน ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นไปมเป้าหมาย คือ รวมตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 200 โครงการ มูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาคือ 37,000 ล้านบาท แม้จะมีปัจจัยลบทั้ง วิกฤตราคาน้ำมันโลก ปัญหาด้านความมั่นคงภายในประเทศ และไข้หวัดนกก็ตาม" นายสุวิชช์ กล่าว และว่า
ปี 2547 ที่ผ่านมา 19 จังหวัดภาคอีสานได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นมากถึง 37,170 ล้านบาท จำนวน 96 โครงการ ก่อให้เกิดการจ้างงาน 33,626 คน จากโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด 120 โครงการ รวมเงินลงทุน 38,595 ล้านบาท
อุตฯพลังงานทดแทนดาวเด่นมาแรง
นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาประเภทโครงการลงทุน ที่ได้บีโอไอในไตรมาสแรกของภาคอีสานจะเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัญหาด้านพลังงานของประเทศ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โครงการลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพ (BIO-gas) จากเศษวัสดุเหลือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตา ในกระบวนการผลิตและผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบในภาคอีสานอย่างมาก
ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนผลิตไบโอก๊าซและเอทานอล จะเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นดวงใหม่ของภาคอีสานโดยไตรมาสแรก ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ (BIO-gas) ของบริษัท จี แอนด์ ปภพ รีนิวเอเบิล จำกัด มีกำลังผลิตก๊าซชีวภาพ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) /ปี เงินลงทุน 44 ล้านบาท เป็นหุ้นไทยทั้งสิ้น ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา
2. โครงการฯของ บริษัท วีพี ไบโอซัพพลาย จำกัด มีกำลังผลิตก๊าซชีวภาพ 5 ล้านลบ.ม./ปี เงินลงทุน 50 ล้านบาท เป็นหุ้นไทยทั้งสิ้น ตั้งอยู่ที่จ.นครราชสีมา และ 3. โครงการฯของ บริษัท เอสดี ไบโอซัพพลาย จำกัด มีกำลังผลิตก๊าซชีวภาพ 5 ล้านลบ.ม./ปี เงินลงทุน 50 ล้านบาท เป็นหุ้นไทยทั้งสิ้นตั้งอยู่ที่จ. กาฬสินธุ์
"พลังงานทดแทนก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศและช่วยประเทศชาติลดภาระนำเข้าน้ำมัน ที่สำคัญทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตด้านค่าใช้จ่ายพลังงาน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น" นายสุวิชช์ กล่าว