xs
xsm
sm
md
lg

เร่งส่งเสริมการเลี้ยงปูกันเถิด!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

ตลอดเดือนที่ผ่านมามีอันขีพจรลงเท้าต้องเดินทางไปมาประเทศจีนหลายครั้ง ต้องใช้เวลาไปกว่า 15 วัน แต่ถึงกระนั้นก็ได้ประโยชน์ตรงที่ได้เก็บข้อมูลการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาหลายอย่างที่อาจเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเรา ดังที่วันก่อนได้กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมไปแล้ว

มาวันนี้เห็นว่ายังมีเรื่องปูอีกเรื่องหนึ่งที่สมควรนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยมีเป้าหมายเพื่อทำความรู้ ทำความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการเลี้ยงปูชนิดต่าง ๆ ครั้งใหญ่ในประเทศไทยของเรา

ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าปูเมืองจีนนั้นสู้ปูเมืองไทยไม่ได้ ไม่ว่าปูทะเล ปูม้า หรือปูอื่น ๆ จะมีที่เชิดหน้าชูตาของเขาก็คือปูขนเท่านั้น

ปูทะเลของจีนเป็นปูตัวเล็ก กระดองบาง เนื้อก็ไม่แน่น รสชาติก็อย่างนั้น ๆ ปูม้าก็เช่นเดียวกัน ทั้งตัวเล็ก ทั้งกระดองบาง และทั้งไม่แน่น คงเหลือแต่ปูขนซึ่งคนไทยรู้จักและนิยมโดยเฉพาะในหมู่มหาเศรษฐีของบ้านเรา

แต่ก็เข้าใจกันว่าปูขนนั้นจะกินกันได้เฉพาะปีละครั้งในเทศกาลหน้าหนาว คือตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะปูเนื้อแน่น มันมาก รสชาติดี แต่ราคาก็สูงตาม เพราะเมื่อตกมาถึงเมืองไทยตัวหนึ่งก็คิดราคาระหว่าง 700-1,000 บาท สุดแท้แต่จะเลือกกินที่ภัตตาคารไหน

ความจริงปูขนเป็นปูน้ำจืด และที่มีชื่อเสียงก็มีเฉพาะแหล่งผลิตที่เดียวเท่านั้นคือที่ทะเลสาบหยางเฉิน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่มณฑลเจียงซูใกล้ ๆ กับเซี่ยงไฮ้ และเพราะปูที่มีกำเนิดจากทะเลสาบแห่งนี้ มีคุณภาพสูง ราคาแพง จึงมีการปลอมกันอย่างแพร่หลาย โดยเอาปูจากแหล่งอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นปูจากทะเลสาบหยางเฉิน ทำให้เสียชื่อเสียง ก็เหมือนกับทุเรียนนนทบุรีนั่นแหละ

ดังนั้นผู้ผลิตปูในทะเลสาบหยางเฉินจึงต้องนำลูกปูมาปั๊มตราด้วยวิธีการพิเศษที่กระดองปูเป็นตราของทะเลสาบหยางเฉินโดยเฉพาะ ดังนั้นใครจะกินปูขนโดยไม่ให้ถูกหลอกก็ต้องสังเกตดูที่กระดองปูเสียก่อนว่ามีการปั๊มไว้ที่กระดองปูตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ เป็นเครื่องหมายของทะเลสาบหยางเฉินหรือไม่

ในวันนี้การเลี้ยงปูขนได้แพร่ขยายไปในหลายมณฑล แม้กระทั่งในมณฑลฮกเกี้ยนและมณฑลอื่น ๆ แต่ก็มีคุณภาพสู้ปูขนของทะเลสาบหยางเฉินไม่ได้ เพราะเหตุนี้เขาจึงเลี้ยงและบริโภคกันในประเทศในราคาถูกเพราะเป็นปูที่เลี้ยงง่าย เลี้ยงได้จำนวนมาก ทั้งราคาก็เป็นราคาที่สมควรคือผู้ผลิตก็ได้กำไร ผู้บริโภคก็ไม่เป็นภาระมาก ที่สำคัญคือเขาเลี้ยงกินกันตลอดทั้งปี แต่ในเดือนหนึ่งก็ใช่ว่าจะกินได้ทุกวัน เพราะเขาต้องรอให้ปูเนื้อแน่นและมีมันเต็มกระดองเสียก่อน

ดังนั้นอาชีพการเลี้ยงปูขนจึงเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี และแพร่หลายไปในประเทศจีน แต่เห็นจะนำมาเลี้ยงที่ประเทศไทยไม่ได้เพราะเท่าที่สอบถามดูนั้นแม้จะเลี้ยงในน้ำจืดแต่ต้องเป็นน้ำเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำ บ้านเราน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษากันให้ดี

คนจีนเขาเลี้ยงปูทะเลไม่เป็น เลี้ยงปูม้าไม่เป็น ดังนั้นจึงไม่มีปูทะเลหรือปูม้าดี ๆ กิน เมื่อหลายปีก่อนนี้หากไปเที่ยวเมืองเศรษฐกิจก็จะมีปูทะเลจากประเทศไทยให้พวกเศรษฐีจีนได้กินกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว สอบถามก็ได้ความว่าคนไทยกินปูมากขึ้น คนต่างชาติก็มากินปูทะเลในเมืองไทยมากขึ้น และการผลิตก็ไม่เพิ่ม จึงทำให้ไม่มีปูทะเลส่งออก

ทั้ง ๆ ที่ปูทะเลไทยนั้นราคาดี กิโลกรัมหนึ่งราคาค่างวดก็ตกระหว่าง 700-1,200 บาท จึงแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมเราจึงไม่ส่งเสริมเรื่องนี้กันอย่างขนานใหญ่

ยิ่งยามเดือดร้อนด้วยค่าน้ำมันแพงก็ยังสามารถมีปูบริโภคได้อย่างทั่วถึง

ก็ต้องย้ำว่าเทคนิคการเลี้ยงปูทะเลของไทยนั้นเป็นเลิศในโลก แต่เป็นเทคนิคและวิชาการที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านและกระทำไปตามบุญตามกรรมของภาคเอกชน จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้จะได้หยิบยกขึ้นพิจารณา เพื่อส่งเสริมให้การเลี้ยงปูทะลเป็นอุตสาหกรรมประมงหลักอีกชนิดหนึ่ง ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก

อันปูทะเลในประเทศไทยนั้นต้องถือว่าปูทะเลที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฎรธานี เป็นปูที่มีคุณภาพดีที่สุดเพราะตัวใหญ่ เนื้อแน่น มันมากและมีกลิ่นหอม ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณปากอ่าวบ้านดอนเป็นน้ำกร่อย ยังมีกระแสน้ำที่ไหลจากภูเขาชะพัดแร่ธาตุและสารอาหารจากภูเขาลงสู่ทะเล จึงเป็นอาหารชั้นดีของปู ซึ่งน่าจะศึกษาพิจารณาว่าแร่ธาตุอะไรจึงทำให้ปูบ้านดอนมีคุณสมบัติที่เลิศเช่นนั้น เพื่อจะได้นำไปผลิตเป็นอาหารปูอีกต่อหนึ่ง

ปูทะเลเลี้ยงมากกันในภาคตะวันออก และเป็นปูที่มีคุณภาพดีเช่นเดียวกัน ยกเว้นก็แต่เรื่องกลิ่นเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐ ทั้งด้านการศึกษาวิจัย ด้านการจัดหาแหล่งเลี้ยง ด้านอาหารปู และยกระดับเทคนิคการเลี้ยง ตลอดจนการขยายตลาดต่างประเทศแล้ว การเลี้ยงปูทะเลก็จะเป็นกิจกรรมที่จะทำรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวประมงและประเทศชาติได้มากอีกอย่างหนึ่ง

มีข้อน่าสังเกตว่าการเลี้ยงปูทะเลนั้น หากพื้นที่ใดน้ำเค็มมากกระดองปูจะออกสีเขียวหรือน้ำเงิน แต่ถ้าเป็นน้ำจืดมากก็จะเป็นสีดำ ยิ่งถ้าหากเป็นดินโคลนด้วยแล้ว กระดองปูก็จะเป็นสีดำแกมแดง เนื้อก็จะแน่นมาก

ของเมืองจีนสู้เราไม่ได้ก็เพราะที่มีเลี้ยงบ้างก็เลี้ยงบริเวณน้ำเค็มหรือริมทะเล ตัวจึงไม่โต กระดองก็บาง และเนื้อก็ไม่แน่น

ปูอีกชนิดหนึ่งซึ่งนิยมบริโภคก็คือปูม้าซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือปูม้าน้ำเงินอย่างหนึ่ง ปูม้าแดงอย่างหนึ่ง และปูดาวอีกอย่างหนึ่ง คนไทยเรานิยมปูม้าน้ำเงินในขณะที่คนฮ่องกงและคนจีนทั่วไปนิยมบริโภคปูม้าแดง ซึ่งนิยมเลี้ยงกันมากในออสเตรเลีย เขาเลี้ยงจนตัวใหญ่ขนาดตัวละเกือบ 2 กิโลกรัมและมีราคาแพง และนิยมใช้ทำเป็นปูเย็น

คนทั่วไปคิดว่าปูม้าเลี้ยงไม่ได้ แม้กระทั่งกรมประมงของเราก็มีความเชื่อเช่นนั้น ความจริงปูม้าเลี้ยงได้แน่นอน โดยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเลี้ยงกันแบบผลพลอยได้หรือแบบเก็บเศษเดนจากบ่อกุ้ง

เพราะเมื่อมีการถ่ายน้ำเสียออกจากบ่อกุ้งแล้ว ไข่หรือตัวอ่อนของปูม้าก็จะไหลตามน้ำเสียไปอยู่ในบ่อกุ้งด้วย ไม่มีอาหารกินเพราะไม่มีใครสนใจ จึงกินเศษอาหารที่ไหลมากับน้ำเสียเท่านั้น แต่ปรากฏว่าปูม้าที่ได้จากบ่อน้ำเสียบ่อกุ้งนั้นกลับเป็นปูตัวโต เนื้อแน่น และรสชาติดี ยิ่งกว่านั้นยังมีหอยแมลงภู่ติดมาอีก

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้คนที่ทำบ่อกุ้งย่อมรู้เรื่องดีเป็นแต่ให้ความสนใจน้อยเกินไปเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันนี้ราคาปูม้ากิโลกรัมหนึ่งก็เกือบ 300 บาทแล้ว และถ้าคำนวณต้นทุนกันให้ดีก็อาจจะมีกำไรยิ่งกว่าการเลี้ยงกุ้งเสียด้วยซ้ำ เพราะราคาปูม้าไม่เคยตก มีแต่จะขึ้นไปทุกวัน และถึงวันนี้ก็ไม่มีปูม้ากิน

เพราะปูม้าหมดทะเลไปจากอ่าวไทย ต้องกินปูม้าจากที่อื่นหรือไม่ก็ต้องรอคลื่นใหญ่ซัดเข้าฝั่งครั้งหนึ่งจึงจะมีปูม้าล่องมาตามคลื่นครั้งหนึ่ง

จึงควรที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะเร่งทำการศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปูม้า เพราะเลี้ยงง่าย เลี้ยงได้มาก ต้นทุนต่ำ ราคาสูง และควรที่ชาวนากุ้งทั้งหลายจะได้เพิ่มความสนใจกับการเลี้ยงปูม้าในบ่อน้ำเสียของบ่อกุ้งให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ยังมีปูอีกชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยนิยมบริโภคทั่วไปตั้งแต่ใต้จรดเหนือ ตะวันตกยันอีสาน นั่นคือปูแสมและปูแป้น ซึ่งเดิมเป็นปูที่มีมากและชุกชุมในประเทศไทยของเรา เพราะใช้ทำปูเค็มได้ ใช้ทำปูหลนได้ ทำส้มตำได้ และทำอาหารได้อีกหลายอย่าง

แต่เพราะเราเอาแต่บริโภคอย่างเดียวเหมือนกับการบริโภคเนื้อวัว กินกันจนหมดประเทศ จนต้องไปกินวัวลาว วัวเขมร วัวเวียดนามและวัวพม่า และวันนี้ก็ต้องกินวัวอินเดียและวัวปากีสถานกันแล้ว

ปูแสมและปูแป้นเกือบจะหมดไปจากประเทศไทยแล้ว เหตุผลข้อแรกก็คือเรากินอย่างเดียว ไม่เพาะเลี้ยง เหตุผลข้อที่สองก็คือการทำลายระบบนิเวศ ทำให้ปูไม่มีที่อยู่ที่กิน

ดังนั้นในวันนี้ทั้งปูแสมและปูแป้นที่เราเห็นและกินกันอยู่นั้นเกือบทั้งหมดไม่ใช่ปูในประเทศไทย และไม่ใช่ปูของเขมร เพราะเราก็ไปกินของเขาหมดแล้ว หากเป็นปูจากพม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ปริมาณการกินก็มากขึ้นทุกที จากที่เคยต้องนำเข้าวันละ 500 ตัน ในปัจจุบันนี้ก็ต้องนำเข้าเกือบวันละ 1,000 ตันแล้ว หากเป็นเช่นนี้ในไม่ช้าปูพม่า ปูเวียดนาม และปูอินโดนีเซียก็คงจะหมดตามไปด้วย

ถึงวันนั้นนอกจากจะไม่มีปูให้กินหรือมีในราคาที่แสนแพงแล้ว เราจะไม่มีปูแสม ปูแป้น ให้ลูกหลานได้เห็นกันอีกแล้ว

วันก่อนลงไปในพื้นที่พังงาได้สนทนาเรื่องนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องเร่งสร้างและฟื้นฟูระบบนิเวศและส่งเสริมการเลี้ยงปูแสมเป็นการใหญ่ แต่ไม่ทันไรก็เกิดเหตุการณ์สึนามิเสียก่อน ก็ได้แต่หวังว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาคงจะไม่ลืมความที่ได้หารือกันในครั้งนั้น

เห็นทีผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งการส่งเสริมการเลี้ยงปูแสมและปูแป้นอย่างขนานใหญ่เสียแล้ว เพื่อสงวนพันธุ์ปูไว้ในบ้านเมืองของเราอย่างหนึ่ง และเพื่อส่งเสริมอาชีพประมงและส่งเสริมรายได้ของผู้เลี้ยงปูอีกอย่างหนึ่ง

แต่เนื่องจากปูชนิดนี้ต้องมีแหล่งนิเวศเฉพาะคือต้องมีป่าโกงกางหรือป่าแสม ดังนั้นการฟื้นฟูระบบนิเวศจึงต้องเร่งกระทำก่อน จากนั้นจึงเร่งเพาะขยายพันธุ์และนำไปปล่อย ทั้งต้องทำความรู้ ทำความเข้าใจให้กับชาวประมงในการสงวน ในการบ่มเพาะ และในการขยายพันธุ์ ดังนี้แล้วการที่บ้านเมืองของเราจะมีปูแสมและปูแป้นกินกันต่อไปก็จะเป็นเรื่องที่หวังได้

ใครที่ไปแถวทะเลคงจะสังเกตเห็นความผิดปกติอย่างหนึ่งในทุกวันนี้ นั่นก็คือปูลมลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ในบางที่แทบจะเรียกว่าหมดเกลี้ยง นี่เป็นเพราะเหตุผลสองประการคือ มีน้ำเน่าริมทะเลอย่างหนึ่ง และพวกมือซนจับปูลมไปทำเป็นอาหารสัตว์กันอย่างไม่บันยะบันยังอย่างหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ปูลมก็ตัวเล็กนิดเดียว ไม่ควรที่จะล่าผลาญไปทำเป็นอาหารสัตว์เลย เร่งขยายให้ส่งเสริมความงดงามตามธรรมชาติริมทะเลจะดีกว่า

ถึงอย่างไรก็ต้องชมภูมิปัญญาชาวบ้านในการเลี้ยงปูทะเล แต่วันนี้จะปล่อยให้เป็นเรื่องชาวบ้านอย่างเดียวเห็นจะไม่ได้แล้ว และควรที่รัฐจะรับเป็นหน้าที่ในการทำนุบำรุงส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น