xs
xsm
sm
md
lg

รู้รักสามัคคีธรรม หรือเอกภาพ (4)

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

ได้กล่าวถึงองค์ความรู้ ในองค์ธรรมแห่งความรู้รักสามัคคีธรรมบนหลักอุดมการณ์แห่งชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตอนที่ 3 ได้ว่าไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างด้านชาติกับประชาชน ชาติเป็นด้านเอกภาพ ประชาชนเป็นด้านความแตกต่่างหลากหลาย ถ้าจะมีเหตุปัจจัยให้ประชาชนทั้งแผ่นดินได้มีความรู้ ความเข้าใจได้ถูกต้องตรงตามกฎธรรมชาติ ประชาชนมีความแตกต่างหลากหลาย มีความมุ่งมั่น ความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ ประชาชนก็จะได้รับการพัฒนาจิต เพราะจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อประชาชนได้บำเพ็ญจิต จิตได้รับการพัฒนาเป็นการเพิ่มศักยภาพ คุณภาพให้แก่ประชาชนอย่างบูรณาการหรืออย่างครบองค์รวม พลังแห่งความมุ่งมั่นและการสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร ผลจากการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามวิถีธรรม คือคิดให้ก่อน (จาคะ) แล้วรับทีหลัง จะไม่เกิดตัณหาทางจิตใจ ผลที่ได้รับก็จะทวีความมั่งคั่งย้อนกลับมาสู่ตนและครอบครัว และประเทศชาติ

การคิด การดำเนินชีวิตตามวิถีธรรมย่อมก่อให้เกิดความสุข พลังแห่งความมุ่งมั่นและสร้างสรรค์อย่างไม่รู้จบ จะมีแต่ความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ตรงกันข้ามกับการที่ประชาชนไม่ได้รับรู้การดำเนินชีวิตตามวิถีธรรม จึงดำเนินชีวิตตาม จิตสัญชาตญาณ อันเป็นจิตต่ำๆ แคบๆ บนความ "รักตัวกลัวตาย โลภอยากได้ไม่มีขอบเขต โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วมีอารมณ์ทางเพศ ไม่จำกัดฤดู อิจฉา ริษยา ชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัว ขึ้นๆ ลงๆ ฟู แฟบๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวมีหวัง เดี๋ยวสิ้นหวัง บางครั้งหัวเราะ บางครั้งร้องให้ บางครั้งขัดแค้นเคืองใจ จนนำไปสู่การทะเลาะวิวาท เบียดเบียนและเข่นฆ่า"

ส่วนการดำเนินชีวิตตามวิถีธรรมคือคิดให้ก่อน แผ่เมตตาไปก่อน แล้วรับผลทีหลัง ย่อมจะฝืนกับความเคยชินกับการดำเนินชีวิตแบบสัญชาตญาณ อันที่จริงสิ่งที่ท่านเคยได้รับ ท่านก็คงได้รับเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจิตใจ เพราะความคิด การดำเนินชีวิตถูกตรงตามวิถีธรรม ย่อมเป็นชีวิตที่เจริญก้าวหน้าทั้งทางจิตใจและทางวัตถุ อย่างไม่ต้องสงสัย

จะพบว่า "การเรียนอะไรก็ได้ ทำหน้าที่อะไรก็ได้ ให้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ" ก็คือการทำแต่กุศล และเป็นการบำเพ็ญจิตให้ผ่องแผ้วด้วย ผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างมั่นคง แน่วแน่ เดินตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์ ถือหลักธรรมที่ว่า "สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ, ดำริ (คิด) เพื่อประเทศชาติ (มนุษยชาติ)"

เอกภาพด้านศาสนา ตามธรรมดาทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ, คริสต์, อิสลาม, พราหมณ์, สิกข์ ย่อมเคารพสิ่งสูงสุดเพียงอย่างเดียว เช่น ชาวพุทธทั้งมวล มีพระรัตนตรัย (นัยหนึ่งคือนิพพานนั่นเอง) เป็นที่พึ่งหรือสรณะสูงสุด อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด และสำหรับชาวพุทธแท้แล้ว ถ้าถามว่า "เป็นชาวพุทธมีสิ่งใดเป็นสรณะสูงสุดทางใจ" ท่านเหล่านั้นก็จะตอบว่า "พระรัตนตรัย" ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งสูงสุดทางจิตใจ นอกจากนี้แล้วยังเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนว่าโดยย่อคือ อริยสัจ 4 และมรรคมีองค์ 8 (ศีล, สมาธิ, ปัญญา) ในการดำเนินชีวิตพระธรรมคำสอนอย่างย่อที่สุดคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำแต่กุศล และการทำจิตให้ผ่องแผ้ว คือการทำจิตให้บริสุทธิ์ อิสระเหนือการปรุงแต่งทั้งความดี และความชั่ว (ทำดีแต่ไม่ยึดติดดีที่ตนทำ)

ถ้าเป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน เขาก็จะยึดเอาต้นไม้บ้าง ภูเขาบ้าง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ผี เทพเจ้าเบื้องบน เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคลอันจอมปลอมเป็นความงมงาย อันไม่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นการดำเนินชีวิตอย่างงมงาย ลดละกิเลสไม่ได้ ไม่ใช่ทางรู้แจ้งหลุดพ้น

จะเห็นได้ว่า "พระรัตนตรัย" เป็นด้านเอกภาพ และชาวพุทธทั้งมวลเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย นี่คือลักษณะเอกภาพของชาวพุทธ โดยภาพรวมและถูกต้องที่สุดจะเป็นอย่างนี้ สำหรับประเทศไทยจะพูดได้ว่า "ชาวพุทธทั่วไทย มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุด พระรัตนตรัยแผ่โอบอุ้มชาวพุทธทั้งมวล ขณะเดียวกันชาวพุทธทั้งหลายก็ขึ้นต่อพระรัตนตรัย ก็จะ เห็นองค์สัมพันธภาพระหว่างแผ่กับรวมศูนย์ ก็จะเกิดดุลยภาพดำรงอยู่อย่างถูกต้องตามกฎธรรมชาติมาแล้ว 2,500 กว่าปี

หลักฐานในพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ความตอนหนึ่งว่า "ขอร่ำรำพันบรรยาย ความคิดเครื่องหมายแห่งสีทั้งสามงามถนัด ขาว คือบริสุทธิ์สวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์และธรรมะคุ้มจิตไทย แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งย่อมสละได้เพื่อรักษาชาติศาสนา น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์ จัดริ้วเป็นทิวไตรรงค์ จึงเป็นสีธงที่รักแห่งเราชาวไทยฯ"

ศาสนาอิสลาม ก็มีพระเจ้า พระอัลลอฮ เป็นที่พึ่งสูงสุด เป็นด้านเอกภาพ และ "มุสลิม" ทั้งมวล เป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย

ศาสนาคริสต์ ก็มีพระเจ้าที่มีชื่อว่า พระยะโฮวา (Jehovah) เป็นที่พึ่งสูงสุด เป็นด้านเอกภาพ และคริสต์ชนทั้งมวลเป็นด้านความแตกต่่างหลากหลาย

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็มีพระพรหมเป็นที่พึ่งสูงสุด เป็นด้านเอกภาพ ศาสนิกชนทั้งมวล เป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย
เอกภาพด้านพระมหากษัตริย์ ก็เช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์เป็นด้านเอกภาพ พสกนิกรหรือประชาชนทั้งประเทศเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย มีข้อสังเกตว่า พระมหากษัตริย์ไทยแผ่ความเมตตาตามหลักทศพิธราชธรรม, จักรวรรดิวัตร 12 ฯลฯ ด้วยโครงการพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ ขณะเดียวกันพสกนิกรซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ต่างก็จงรักภักดี คือขึ้นต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างมิเสื่อมคลาย สัมพันธภาพระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรสอดคล้องกับกฎธรรมชาติคือ แผ่ กับ รวมศูนย์ ก่อให้เกิดดุลยภาพ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ในทุกสถานการณ์ของประเทศไทย

ทางด้านการเมือง ระบอบการเมืองที่มีธรรมเป็นหลักการ ย่อมแผ่ความถูกต้องยุติธรรมโอบอุ้มประชาชนทั้งแผ่นดิน ขณะเดียวกันคนทั้งแผ่นดินต่างก็ขึ้นต่อ (รวมศูนย์) ระบอบการเมืองที่เป็นธรรม ระบอบการเมืองนั้นก็จะดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ ให้ความสุข ให้ความก้าวหน้าทั้งทางใจและกาย ก็จะก่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างประชาชนดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

แต่ระบอบการเมืองไทย เป็นระบอบการเมืองที่อยุติธรรม ได้ทำลายความเสมอภาคทางโอกาสทางการเมือง แต่ประชาชนต้องขึ้นต่อระบอบการเมืองอย่างนี้ (ขึ้นต่อโดยถูกบังคับ) หรือไปรวมศูนย์ที่ความอยุติธรรม สัมพันธภาพระหว่างระบอบการเมืองกับประชาชน ไม่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ก็จะนำความเลวร้ายมาสู่ประเทศและประชาชน ขนาดที่ความดีของสถาบัน ความดีของบุคคล ก็ไม่อาจจะต้านพลังแห่งความเลวร้ายจากระบอบการเมืองอันมหึมาได้ ในที่นี้ก็นำเสนอได้โดยย่อเท่านั้น ต้องนำไปสัมมนากันต่อไป

สรุป ได้ว่า เมื่อเราเข้าใจถูกต้องด้วย "พุทธวิปัสสนา" จนรู้แจ้งขันธ์ 5 และกฎธรรมชาติอย่างแท้จริงแล้ว จากนั้นนำไปประยุกต์กับอุดมการณ์ชาติคือ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบการเมือง ฯลฯ" บนความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลายดังนี้

ด้านเอกภาพ ด้านความแตกต่างหลากหลาย

นิพพาน, บรมธรรม รูป, กาย (ธาตุ 4) เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ (จิตปรุงแต่ง)

อสังขตธรรม สังขตธรรม (ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง, สิ่งมีชีวิต, สิ่งไม่มีชีวิต)

นิพพาน 84,000 พระธรรมขันธ์

ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวง

ชาติ ประชาชน

ศาสนา ศาสนิกชน

พระมหากษัตริย์ พสกนิกร

ระบอบการเมือง วิธีการปกครอง (หมวด, มาตราต่างๆ)

หลักธรรมาธิปไตย 9 วิธีการปกครอง (หมวด, มาตราต่างๆ)

ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี...ฯลฯ

นอกจากนี้ ถ้าผู้อ่านได้ทำความเข้าใจตั้งแต่ตอนที่ 1-4 แล้ว ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์การ, องค์กร, หน่วยงานต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัดกาล

ดังได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ความแตกต่างหลากหลาย ต้องขึ้นต่อด้านองค์เอกภาพเสมอไป หรือองค์แห่งเอกภาพแผ่ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันทั้งหมด (แผ่กับรวมศูนย์ เกิดดุลยภาพ ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับกฎธรรมชาติ เมื่อมองภาพรวมทุกมิติ ก็จะเห็นเป็น ลักษณะพระธรรมจักร เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก จะเขียนภาพ เพื่อประกอบความเข้าใจดังนี้

o เป็นสัญลักษณ์ด้านเอกภาพ แผ่โอบอุ้มด้านความแตกต่างหลากหลาย หรือส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด o--> เป็นสัญลักษณ์ด้านความแตกต่างหลากหลาย มุ่งตรงสู่องค์เอกภาพ

สัมพันธภาพในมิติต่างๆ จะเห็นได้ว่า ถ้าเราดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้องโดยธรรม ก็จะก่อให้เกิดการดำรงอยู่อย่างก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน เช่นเดียวกับกฎธรรมชาติ ที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานเป็นล้านๆ ปีมาแล้ว และแสดงให้เห็นว่า "สิ่งมีชีวิตทั้งปวงล้วนสัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด"

มีข้อสังเกตว่า ถ้าด้านเอกภาพไม่ดี หรือไม่มี ด้านความแตกต่างหลากหลายก็จะพลอยเลวร้ายไปด้วย เช่น เมื่อกิเลสครอบงำจิต กาย วาจา ก็จะไม่ดีไปด้วย, ดวงอาทิตย์พินาศ ดาวเคราะห์ก็พินาศด้วย, ระบอบการเมืองเลว ย่อมแผ่ความเลว (ความอยุติธรรม) ออกไปสู่ปวงชน และส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดทั้งประเทศ

องค์ความรู้ เรื่องรู้รักสามัคคีธรรม หรือหลักเอกภาพ เป็นหลักหนึ่งในธรรมาธิปไตย 9 ก็จบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว และเป็นองค์ความรู้ใหม่ของโลกยังไม่มีใครนำเสนอมาก่อน

ท่านผู้อ่าน ปัญญาชนทั้งหลาย รัฐบาล พึงนำไปศึกษา สัมมนา ทำให้เกิดความกระจ่างเถิด จะก่อเกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและมนุษยชาติทั้งปวง

ข้าพเจ้าได้ขยายความสัจธรรมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9, ปัญญา, แสงสว่างแห่งความรุ่งโรจน์สู่ท่านทั้งหลายแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น