likhit@dhiravegin.com
ความสำเร็จในชีวิตเป็นสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ปรารถนาและมุ่งมั่น เพื่อจะพิสูจน์ตนเองและเพื่อความสุขในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือความภูมิใจที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ หลักเกณฑ์การวัดความสำเร็จในชีวิตนั้นมักจะถูกกำหนดโดยบุคคลอื่น เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกที่จะมีคนที่ศึกษาจนจบหมอและอาจจะประกอบอาชีพหมออยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็อาจจะไปประกอบอาชีพอื่นซึ่งเป็นความสนใจแต่ดั้งเดิม หรือเป็นความสนใจที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นต้นว่า ไปประกอบธุรกิจก่อสร้าง การเข้าสู่เวทีทางการเมือง และแม้แต่จะเป็นหัวหน้าปฏิวัติทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น นายแพทย์ซุนยัดเซ็น หรือนายแพทย์เช เกวารา
ข้อเท็จจริงของชีวิตก็คือ คนทุกคนที่เกิดมาจะถูกผูกพันโดย “ภารกิจแห่งชีวิต” (toils of life ) ซึ่งหมายความว่าโดยค่านิยมของสังคมและโดยความจำเป็นแห่งการเป็นมนุษย์ที่ดีในสังคมนั้น ผู้ชายจะต้องขวนขวายหาความรู้ หรือทำมาหากิน สร้างครอบครัวและเลี้ยงดูครอบครัวจนลูกๆ สามารถช่วยตัวเองได้และแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา ก็ถือว่าเสร็จภารกิจ และเพื่อภารกิจดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีอาชีพการงาน ในกรณีอาชีพนั้นบางคนก็เลือกอาชีพที่จะเป็นช่าง บางคนก็จะเป็นพ่อค้า ส่วนหนึ่งก็จะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ คนที่มีสมองดีและมีฐานะเศรษฐกิจดีก็อาจจะศึกษาเป็นวิศวกร เป็นแพทย์ เป็นนักกฏหมาย แล้วแต่กรณี แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ค่านิยมของสังคมจะกำหนดว่าอาชีพใดเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และคนส่วนใหญ่ต้องการจะประกอบอาชีพนั้น อาชีพที่มีเกียรติจะต้องมีการศึกษาเล่าเรียน ในกรณีของสังคมไทยนั้นในอดีตอาชีพที่มีเกียรติได้แก่การรับราชการ โดยเป็นข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการฝ่ายตุลาการ นอกเหนือจากนั้นก็มีอาชีพที่เป็นหมอ อาชีพที่เป็นนักธุรกิจมักจะถูกมองว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีต่ำกว่าอาชีพที่กล่าวมาเบื้องต้น และนี่คือค่านิยมสังคมในยุคหนึ่ง
ค่านิยมจะผลักดันให้ปัจเจกบุคคลพยายามขวนขวายไต่เต้าเพื่อประกอบอาชีพที่มีเกียรติที่กล่าวมาเบื้องต้น ในกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป้าหมายความสำเร็จของชีวิตถูกเลือกโดยตัวบุคคลนั่นเอง แต่ก็ยังไม่ปลอดจากค่านิยมของสังคม ที่น่าคิดก็คือในหลายกรณีอาชีพที่กล่าวมาเบื้องต้นอาจจะถูกเลือกให้โดยพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่มีเจตนาดี ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตโดยมีอาชีพที่สังคมให้เกียรติว่าเป็นอาชีพชั้นสูง จนบางครั้งจะเกิดสถานการณ์ที่ขัดต่อความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคล เช่น จะมีคำกล่าวที่ว่า “ตาอ๊อดจะต้องเรียนหมอ น้องโตจะต้องเรียนวิศวะ และยายเล็กจะต้องเรียนอักษรศาสตร์” บุคคลทั้งสามก็จะพยายามศึกษาเล่าเรียนตามความต้องการของบิดามารดา ทั้งๆ ที่บางคนอาจจะไม่ชอบวิชาแพทยศาสตร์แต่อยากทำการค้าขาย แต่พ่อแม่ก็พยายามจับลูกๆ วางบนตำแหน่งของอาชีพด้วยการยัดเยียดใส่ความคิดและกำหนดวิชาที่จะเลือกเรียน เสมือนหนึ่งเป็นตุ๊กตาที่จับวางได้ตามมุมใดมุมหนึ่งตามอำเภอใจ จนลืมไปว่าชีวิตและอนาคตเป็นเรื่องที่เขาต้องเลือกและตัดสินใจเอง พ่อแม่คือผู้ให้กำเนิด แต่ไม่ใช่เจ้าชีวิตของลูก
นอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียนและเลือกอาชีพตามความต้องการของบิดามารดา หรือโดยค่านิยมของสังคมแล้วนั้น การแข่งขันระหว่างพี่น้อง และระหว่างเพื่อนๆ ก็ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดอาชีพและความสำเร็จในชีวิตของบุคคล ในครอบครัวที่มีพี่ชายคนโตเรียนแพทย์ น้องๆ ก็จะต้องเรียนในสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เช่น
วิศวะ เป็นต้น
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ มีส่วนทำให้เกณฑ์ความสำเร็จของชีวิตถูกกำหนดโดยสังคมและคนรอบข้าง โดยตัวปัจเจกบุคคลไม่มีทางเลือกเท่าที่ควร ซึ่งในแง่หนึ่งความสำเร็จในชีวิตของแต่ละบุคคลน่าจะเป็นทางเลือกโดยเสรีของบุคคลนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น คนซึ่งมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็นเนื่องจากขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ก็อาจจะตั้งเป้าความสำเร็จในชีวิตว่าวันหนึ่งจะต้องมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่เป็นกิจจะลักษณะให้ได้ และเมื่อสามารถเก็บหอมรอมริบจนเซ้งร้านหรือซื้อห้องแถวได้กลายเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่เป็นกิจจะลักษณะ ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนคนอื่นหรือสังคมจะมองว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยกว่าการเป็นนายแพทย์ การเป็นข้าราชการ หรืออาชีพอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องของสังคมและบุคคลภายนอก การวัดความสำเร็จของชีวิตควรจะกำหนดโดยตัวบุคคลนั้นเอง ถ้าบุคคลผู้นั้นสามารถจะกำหนดเป้าหมายชีวิตโดยการเลือกอาชีพที่ตนถนัด และตราบเท่าที่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ธำรงความเป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถในการดูแลครอบครัว เปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เลือกอาชีพของตนเอง ไม่กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย บุคคลดังกล่าวก็คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นบุคคลอื่นๆ
ประเด็นอยู่ที่ว่า มนุษย์ส่วนใหญ่อ่อนแอเกินไปที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อปัจเจกภาพของตน ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดยค่านิยมสังคมหรือถูกชักจูงโดยความเห็นของบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นที่จะกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จของชีวิตด้วยตนเอง จึงเกิดคำพูดที่ว่า “ที่สมัครไปเรียนวิชาดังกล่าวก็เพราะเห็นเพื่อนๆ แห่กันไปก็แห่ตามเพื่อน” ดังนั้น ถ้าจะมีชีวิตตามที่ตนชอบและมีอาชีพตามที่ตนถนัดก็จะต้องถอดตัวเองจากเครื่องพันธนาการของค่านิยมสังคม และความคาดหวังของบุคคลอื่นๆ มุ่งมั่นกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จในชีวิตด้วยตนเองอย่างอิสระและกล้าหาญ
การกำหนดความสำเร็จในชีวิตของตนเองว่าจะประกอบอาชีพอะไรในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงตัวแปรสามตัว ตัวแปรแรกคือ ตนมีจุดเด่นอะไรบ้างซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของตน ตัวแปรที่สอง ตนมีจุดด้อยอะไรบ้างที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความสำเร็จ และตัวแปรที่สาม ศักยภาพที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นความสามารถส่วนตัว สมอง กำลังเงิน จะสามารถก้าวไปไกลได้แค่ไหน ดังนั้น การตั้งเป้าหมายของอาชีพและเกณฑ์สำเร็จแห่งชีวิตจะต้องคำนึงถึงจุดเด่น จุดด้อย และศักยภาพไปด้วย มิฉะนั้นอาจจะเป็นการฝันที่เกินเอื้อม แต่ถ้ามั่นใจว่ามีศักยภาพพอก็อาจไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ปัจเจกบุคคลไม่ควรจะปล่อยให้สังคมกำหนด คือวิถีทางของการดำรงชีวิตโดยผูกโยงกับอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น โดยค่านิยมของสังคมมักจะกำหนดว่าบุคคลที่มีภูมิหลังทางสังคมไม่สูงหรือมีอาชีพที่สังคมไม่ให้น้ำหนักจะมีการใช้เวลาว่างและการหาความบันเทิงหรือสันทนาการในรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ขายก๋วยเตี๋ยวและหลังปิดร้านตอนหกโมงเย็น ก็จะถูกคาดหวังโดยสังคมว่าจะอยู่กับบ้านดูทีวี หรือมิฉะนั้นก็อาจจะออกไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า แต่ในความเป็นจริงการขายก๋วยเตี๋ยวคือการประกอบอาชีพเพื่อจะได้เงินจากผลกำไรมาดำรงชีวิต บุคคลผู้นั้นย่อมมีความอิสระและสิทธิโดยชอบธรรมที่จะไปหัดสีไวโอลิน ไปหัดวาดภาพสีน้ำมัน แต่งกลอน หรือนั่งเล่นเปียโนถ้าสามารถเก็บหอมรอมริบจนซื้อเปียโนได้ และในวันหยุดที่ถือว่าเป็นวันพักผ่อนโดยให้ผู้อื่นดูแลกิจการแทนก็ย่อมจะไปเล่นกีฬาที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นของชนชั้นสูงในสังคมเช่น กีฬากอล์ฟ หรือเทนนิสได้ ไม่มีอะไรขัดเขินทั้งสิ้น เพราะมนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีสิทธิที่จะกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จของชีวิต มีสิทธิจะเลือกอาชีพ และมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีสันทนาการตามที่ตนพอใจไม่เกี่ยวกับชั้นวรรณะแต่อย่างใด และไม่มีใครมีสิทธิตั้งกฎเกณฑ์กำหนดอะไรทั้งสิ้น
นี่คือความสวยงามของสังคมยุคปัจจุบันภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เน้นปัจเจกภาพและสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
ความสำเร็จในชีวิตเป็นสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ปรารถนาและมุ่งมั่น เพื่อจะพิสูจน์ตนเองและเพื่อความสุขในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือความภูมิใจที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ หลักเกณฑ์การวัดความสำเร็จในชีวิตนั้นมักจะถูกกำหนดโดยบุคคลอื่น เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกที่จะมีคนที่ศึกษาจนจบหมอและอาจจะประกอบอาชีพหมออยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็อาจจะไปประกอบอาชีพอื่นซึ่งเป็นความสนใจแต่ดั้งเดิม หรือเป็นความสนใจที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นต้นว่า ไปประกอบธุรกิจก่อสร้าง การเข้าสู่เวทีทางการเมือง และแม้แต่จะเป็นหัวหน้าปฏิวัติทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น นายแพทย์ซุนยัดเซ็น หรือนายแพทย์เช เกวารา
ข้อเท็จจริงของชีวิตก็คือ คนทุกคนที่เกิดมาจะถูกผูกพันโดย “ภารกิจแห่งชีวิต” (toils of life ) ซึ่งหมายความว่าโดยค่านิยมของสังคมและโดยความจำเป็นแห่งการเป็นมนุษย์ที่ดีในสังคมนั้น ผู้ชายจะต้องขวนขวายหาความรู้ หรือทำมาหากิน สร้างครอบครัวและเลี้ยงดูครอบครัวจนลูกๆ สามารถช่วยตัวเองได้และแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา ก็ถือว่าเสร็จภารกิจ และเพื่อภารกิจดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีอาชีพการงาน ในกรณีอาชีพนั้นบางคนก็เลือกอาชีพที่จะเป็นช่าง บางคนก็จะเป็นพ่อค้า ส่วนหนึ่งก็จะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของรัฐ คนที่มีสมองดีและมีฐานะเศรษฐกิจดีก็อาจจะศึกษาเป็นวิศวกร เป็นแพทย์ เป็นนักกฏหมาย แล้วแต่กรณี แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ค่านิยมของสังคมจะกำหนดว่าอาชีพใดเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และคนส่วนใหญ่ต้องการจะประกอบอาชีพนั้น อาชีพที่มีเกียรติจะต้องมีการศึกษาเล่าเรียน ในกรณีของสังคมไทยนั้นในอดีตอาชีพที่มีเกียรติได้แก่การรับราชการ โดยเป็นข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการฝ่ายตุลาการ นอกเหนือจากนั้นก็มีอาชีพที่เป็นหมอ อาชีพที่เป็นนักธุรกิจมักจะถูกมองว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีต่ำกว่าอาชีพที่กล่าวมาเบื้องต้น และนี่คือค่านิยมสังคมในยุคหนึ่ง
ค่านิยมจะผลักดันให้ปัจเจกบุคคลพยายามขวนขวายไต่เต้าเพื่อประกอบอาชีพที่มีเกียรติที่กล่าวมาเบื้องต้น ในกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป้าหมายความสำเร็จของชีวิตถูกเลือกโดยตัวบุคคลนั่นเอง แต่ก็ยังไม่ปลอดจากค่านิยมของสังคม ที่น่าคิดก็คือในหลายกรณีอาชีพที่กล่าวมาเบื้องต้นอาจจะถูกเลือกให้โดยพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่มีเจตนาดี ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตโดยมีอาชีพที่สังคมให้เกียรติว่าเป็นอาชีพชั้นสูง จนบางครั้งจะเกิดสถานการณ์ที่ขัดต่อความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคล เช่น จะมีคำกล่าวที่ว่า “ตาอ๊อดจะต้องเรียนหมอ น้องโตจะต้องเรียนวิศวะ และยายเล็กจะต้องเรียนอักษรศาสตร์” บุคคลทั้งสามก็จะพยายามศึกษาเล่าเรียนตามความต้องการของบิดามารดา ทั้งๆ ที่บางคนอาจจะไม่ชอบวิชาแพทยศาสตร์แต่อยากทำการค้าขาย แต่พ่อแม่ก็พยายามจับลูกๆ วางบนตำแหน่งของอาชีพด้วยการยัดเยียดใส่ความคิดและกำหนดวิชาที่จะเลือกเรียน เสมือนหนึ่งเป็นตุ๊กตาที่จับวางได้ตามมุมใดมุมหนึ่งตามอำเภอใจ จนลืมไปว่าชีวิตและอนาคตเป็นเรื่องที่เขาต้องเลือกและตัดสินใจเอง พ่อแม่คือผู้ให้กำเนิด แต่ไม่ใช่เจ้าชีวิตของลูก
นอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียนและเลือกอาชีพตามความต้องการของบิดามารดา หรือโดยค่านิยมของสังคมแล้วนั้น การแข่งขันระหว่างพี่น้อง และระหว่างเพื่อนๆ ก็ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดอาชีพและความสำเร็จในชีวิตของบุคคล ในครอบครัวที่มีพี่ชายคนโตเรียนแพทย์ น้องๆ ก็จะต้องเรียนในสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เช่น
วิศวะ เป็นต้น
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ มีส่วนทำให้เกณฑ์ความสำเร็จของชีวิตถูกกำหนดโดยสังคมและคนรอบข้าง โดยตัวปัจเจกบุคคลไม่มีทางเลือกเท่าที่ควร ซึ่งในแง่หนึ่งความสำเร็จในชีวิตของแต่ละบุคคลน่าจะเป็นทางเลือกโดยเสรีของบุคคลนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น คนซึ่งมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็นเนื่องจากขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ก็อาจจะตั้งเป้าความสำเร็จในชีวิตว่าวันหนึ่งจะต้องมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่เป็นกิจจะลักษณะให้ได้ และเมื่อสามารถเก็บหอมรอมริบจนเซ้งร้านหรือซื้อห้องแถวได้กลายเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่เป็นกิจจะลักษณะ ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนคนอื่นหรือสังคมจะมองว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยกว่าการเป็นนายแพทย์ การเป็นข้าราชการ หรืออาชีพอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องของสังคมและบุคคลภายนอก การวัดความสำเร็จของชีวิตควรจะกำหนดโดยตัวบุคคลนั้นเอง ถ้าบุคคลผู้นั้นสามารถจะกำหนดเป้าหมายชีวิตโดยการเลือกอาชีพที่ตนถนัด และตราบเท่าที่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ธำรงความเป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถในการดูแลครอบครัว เปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เลือกอาชีพของตนเอง ไม่กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย บุคคลดังกล่าวก็คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นบุคคลอื่นๆ
ประเด็นอยู่ที่ว่า มนุษย์ส่วนใหญ่อ่อนแอเกินไปที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อปัจเจกภาพของตน ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดยค่านิยมสังคมหรือถูกชักจูงโดยความเห็นของบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นที่จะกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จของชีวิตด้วยตนเอง จึงเกิดคำพูดที่ว่า “ที่สมัครไปเรียนวิชาดังกล่าวก็เพราะเห็นเพื่อนๆ แห่กันไปก็แห่ตามเพื่อน” ดังนั้น ถ้าจะมีชีวิตตามที่ตนชอบและมีอาชีพตามที่ตนถนัดก็จะต้องถอดตัวเองจากเครื่องพันธนาการของค่านิยมสังคม และความคาดหวังของบุคคลอื่นๆ มุ่งมั่นกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จในชีวิตด้วยตนเองอย่างอิสระและกล้าหาญ
การกำหนดความสำเร็จในชีวิตของตนเองว่าจะประกอบอาชีพอะไรในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงตัวแปรสามตัว ตัวแปรแรกคือ ตนมีจุดเด่นอะไรบ้างซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของตน ตัวแปรที่สอง ตนมีจุดด้อยอะไรบ้างที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความสำเร็จ และตัวแปรที่สาม ศักยภาพที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นความสามารถส่วนตัว สมอง กำลังเงิน จะสามารถก้าวไปไกลได้แค่ไหน ดังนั้น การตั้งเป้าหมายของอาชีพและเกณฑ์สำเร็จแห่งชีวิตจะต้องคำนึงถึงจุดเด่น จุดด้อย และศักยภาพไปด้วย มิฉะนั้นอาจจะเป็นการฝันที่เกินเอื้อม แต่ถ้ามั่นใจว่ามีศักยภาพพอก็อาจไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ปัจเจกบุคคลไม่ควรจะปล่อยให้สังคมกำหนด คือวิถีทางของการดำรงชีวิตโดยผูกโยงกับอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น โดยค่านิยมของสังคมมักจะกำหนดว่าบุคคลที่มีภูมิหลังทางสังคมไม่สูงหรือมีอาชีพที่สังคมไม่ให้น้ำหนักจะมีการใช้เวลาว่างและการหาความบันเทิงหรือสันทนาการในรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ขายก๋วยเตี๋ยวและหลังปิดร้านตอนหกโมงเย็น ก็จะถูกคาดหวังโดยสังคมว่าจะอยู่กับบ้านดูทีวี หรือมิฉะนั้นก็อาจจะออกไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า แต่ในความเป็นจริงการขายก๋วยเตี๋ยวคือการประกอบอาชีพเพื่อจะได้เงินจากผลกำไรมาดำรงชีวิต บุคคลผู้นั้นย่อมมีความอิสระและสิทธิโดยชอบธรรมที่จะไปหัดสีไวโอลิน ไปหัดวาดภาพสีน้ำมัน แต่งกลอน หรือนั่งเล่นเปียโนถ้าสามารถเก็บหอมรอมริบจนซื้อเปียโนได้ และในวันหยุดที่ถือว่าเป็นวันพักผ่อนโดยให้ผู้อื่นดูแลกิจการแทนก็ย่อมจะไปเล่นกีฬาที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นของชนชั้นสูงในสังคมเช่น กีฬากอล์ฟ หรือเทนนิสได้ ไม่มีอะไรขัดเขินทั้งสิ้น เพราะมนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีสิทธิที่จะกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จของชีวิต มีสิทธิจะเลือกอาชีพ และมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีสันทนาการตามที่ตนพอใจไม่เกี่ยวกับชั้นวรรณะแต่อย่างใด และไม่มีใครมีสิทธิตั้งกฎเกณฑ์กำหนดอะไรทั้งสิ้น
นี่คือความสวยงามของสังคมยุคปัจจุบันภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เน้นปัจเจกภาพและสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล