xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (25) ต่อยอด "เดินแนวทางมวลชน"

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ลักษณะหรือ "ธรรมชาติ" ของพรรคเหนือทุนไทย (ในชื่อใดชื่อหนึ่งใน 3 ชื่อ ได้แก่ 1. "พรรคสามัคคีประชาชนไทย" หรือ 2. "พรรคสามัคคีประชาชนพัฒนา" หรือ 3. "พรรคประชาชนสามัคคีพัฒนา") คือความเป็น "กองหน้า" หรือ "แกนนำ" ชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนชาวไทย มีจุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์

ทั้งนี้ สาระของจุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์ หลักๆ ก็คือ "ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง ความรับรู้และทฤษฎีมาจากการปฏิบัติ การปฏิบัติคือมาตรฐานวัดความถูกต้องของความรับรู้และทฤษฎีแต่เพียงหนึ่งเดียว โดยการปฏิบัติทั้งปวง จะต้องเป็นไปเพื่อการปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการกดขี่ขูดรีด เป็นอิสระจากความไม่รู้ทั้งหลายทั้งปวง และเพื่อการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน" ซึ่งคำว่า "ตนเอง" กินความครอบคลุมถึงสังคมประเทศชาติและประชาชน ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ทั้งรวมหมู่และปัจเจกบุคคล

อีกทั้งยังถือว่า "ปวงประชามหาชนคือวีรชนผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง"

ด้วย "ธรรมชาติ" ดังกล่าว พรรคเหนือทุนไทยจะเกิดขึ้นได้ ดำรงอยู่ได้ และพัฒนาเติบใหญ่ได้ ไม่เพียงต้องยึดมั่นในจุดยืน ทัศนะ และวิธีการที่ถูกต้อง มีทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติของตนเอง เท่านั้น แต่ยังต้องได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมของมวลชนจากระดับชั้นต่างๆ อย่างกว้างขวางอีกด้วย

อีกนัยหนึ่งมวลชนคือ "ขุมพลัง" ที่แท้จริงของพรรคเหนือทุนไทย เป็น "เจ้าภาพตัวจริง" ในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรือง เป็นปัจจัยกำหนดให้การดำเนินภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพรรคเหนือทุนไทย ในฐานะ "กองหน้า" และ "แกนนำ" ประสบความสำเร็จตลอดไป

อีกนัยหนึ่ง การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และพัฒนาเติบใหญ่ของพรรคเหนือทุนไทย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ "ปลดปล่อยตนเอง" ของปวงชนชาวไทย ให้พ้นจากความล้าหลังยากจน และก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน
เป็น "เครื่องมือ" ของประชาชนชาวไทย ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและรอบด้านต่อไป

จากนี้ จึงเชื่อได้ว่า เมื่อพรรคเหนือทุนไทยดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลัก "แนวทางมวลชน" อย่างจริงจัง ประชาชนชาวไทยก็จะเข้ามาร่วม ในฐานะ "เจ้าภาพ" มากขึ้นเรื่อยๆ

พรรคเหนือทุนก็จะเติบใหญ่ยิ่งๆ ขึ้น แสดงบทบาทขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทของการเมืองในระบอบรัฐสภา เวทีหนึ่งของการเสริมสร้างพลังทางการเมืองภาคประชาชน เพื่อก้าวไปสู่การได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เป็นพรรครัฐบาลบริหารประเทศ ดำเนินการปฏิรูประบบโครงสร้าง และกลไกต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี และมีสุขถ้วนหน้า

ด้วยเหตุนี้ ในทางปฏิบัติพรรคเหนือทุนไทยจึงไม่เพียงต้องถือเอาผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ แต่ยังจะต้องให้ความสำคัญในการจัดตั้งมวลชน สามัคคีมวลชน พึ่งพาอาศัยพลังมวลชน และสนใจเก็บเกี่ยวรวบรวมอัจฉริยภาพของมวลชน ที่แสดงออกอย่างกระจัดกระจายในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติ แล้วประมวลขึ้นมาเป็นองค์ความรู้และแนวคิดทฤษฎีชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติอย่างเป็นจริงต่อไป

"เคารพมวลชน อาศัยมวลชน และระดมมวลชน" จึงเป็น "จุดยืน" และ "วิธีการ" พื้นฐานในการคิดการทำงานของชาวพรรคเหนือทุนไทย ที่มีความสอดคล้องต้องกันกับลักษณะของพรรคอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

อีกนัยหนึ่ง ลำพังแต่เพียง "รับใช้ประชาชน" ยังไม่พอ จะต้อง "ให้ประชาชนเป็นเจ้าภาพ" อีกด้วย

พรรคทุนล้มเหลว เพราะไม่เดินแนวทางมวลชน

ตรงกันข้ามกับพรรคทุน หากจะทำอะไรมักจะคิดและทำกันภายในกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน อาศัยแต่ความคิดริเริ่มของคนในกลุ่มเดียวกัน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงค่อยหาทางอำพราง "บรรจุหีบห่อ" ให้สวยงาม ในรูปของแนวนโยบายที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

การนำเสนอสู่สาธารณะ ก็เน้นการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้สังคมเคลิบเคลิ้มเห็นดีเห็นงาม ซึ่งกว่า "ความจริง" จะปรากฏ ทุกอย่างก็สายเกินแก้ ปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่กลุ่มทุนได้กอบโกยผลประโยชน์ไปแล้วอย่าง "อิ่มหมีพีมัน" และพร้อมที่จะคิดวิธีแสวงประโยชน์ และวิธีการ "หลอกล่อ" ประชาชนต่อไป ด้วยนโยบายสวยหรูชุดใหม่ๆ ด้วยวิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่แพรวพราว แนบเนียน ยากแก่การจับได้ไล่ทันยิ่งกว่าเดิม ชักนำให้เราๆ ท่านๆ พากันหลงเคลิบเคลิ้มอีกรอบใหม่อย่างช่วยไม่ได้

สรุปคือ พรรคทุนแก้ไขปัญหาของประชาชนไม่ได้ ไม่เพียงเพราะไม่ได้มีจุดยืนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น ไม่มีจิตใจ "รับใช้ประชาชน" อย่างแท้จริง แต่ยังเป็นเพราะพวกเขาไม่เชื่อมั่นมวลชน ไม่อาศัยมวลชน (มีแต่ใช้ประโยชน์มวลชน) ไม่มีทัศนะ "มวลชนคือวีรชนผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง" ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงตนเป็น "เจ้าภาพตัวจริง" ในการปลดปล่อยและพัฒนาตนเองในท่ามกลางการแก้ไขปัญหารูปธรรมรอบตัว

โดยทั่วไป พวกเขาจึงคิดและปฏิบัติบนฐานของผลประโยชน์กลุ่มตน อาศัยมันสมองของคนในกลุ่มตน และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยบุคลากรตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มตน

ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับมวลชนเลย ยกเว้นแต่เรื่องการหาเสียง ใช้นโยบาย "ประชานิยม" หลอกล่อเพื่อให้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเท่านั้นเอง

การทำงานกับมวลชนของพวกเขา จึงเป็นไปเพื่อ "หาเสียง" ทั้งนั้น ตั้งแต่ต้นจนปลาย ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ จึงเป็นเรื่องผิวๆ เผินๆ

ปัญหาของมวลชนจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง (สักที)

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงอยู่คนละฝั่งกับประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีพรรคการเมืองปรากฏขึ้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย (ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

โดยภาพรวมจึงเป็นว่า สิ่งที่พรรคการเมืองไทยกระทำมาโดยตลอด ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะหลอกประชาชนให้เชื่อและสนับสนุนตนได้

ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ประชาชนไทยยึดถือปฏิบัติจนเป็นความเคยชิน ก็คือทำอย่างไรจึงจะบีบให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองทำประโยชน์บางอย่าง "ให้" แก่ตน ไม่ได้คิดสักนิดว่า อะไรต่อมิอะไรที่ตนต้องการนั้น มันสามารถ "เนรมิต" ขึ้นมาได้ด้วยน้ำมือของตนเอง

ทั้งฝ่ายพรรคการเมืองและฝ่ายประชาชนไม่ได้ตระหนักเลยว่า "ประชาชน" นั้นแหละคือ พลังเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน เป็นที่มาของ "อัจฉริยภาพ" ทั้งหลายทั้งปวง

มองในมุมนี้ ก็จะพบว่า พรรคเหนือทุนที่ยึดมั่นในแนวทางมวลชน มีความ "เหนือกว่า" โดยธรรมชาติ ในการที่จะเข้าไปจัดตั้งมวลชน "ปลุก" มวลชน ให้ตื่นรู้ เข้าใจในบทบาทและสถานภาพที่แท้จริงของตน ในฐานะ "ผู้สร้างประวัติศาสตร์" ตัวจริง

ความคิดทฤษฎีที่ถูกต้อง มีต้นธารที่ "มวลชน"

ทัศนะ "ปวงประชามหาชนคือวีรชนที่แท้จริง" เป็นทัศนะพื้นฐานของชาวมาร์กซิสม์ ตามหลักทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นทัศนะพื้นฐานของพรรคเหนือทุนทุกยุคทุกสมัย

การใดที่สำเร็จก็เพราะพรรคเหล่านั้นดำเนินแนวนโยบายที่ตั้งอยู่บนฐานของทัศนะดังกล่าวทั้งสิ้น ตรงกันข้าม ความล้มเหลว และความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็มักจะเป็นเพราะไม่ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิบัติตามแนวคิดและทัศนะดังกล่าวเป็นสำคัญ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงกับจัดให้ "แนวทางมวลชน" เป็นหัวใจของการงานทั้งหลายทั้งปวง เป็น 1 ใน 3 ของ "แก่นแกน"ของทฤษฎีชี้นำการปฏิวัติประเทศจีนที่เรียกว่า "ความคิดเหมาเจ๋อตง" ("แก่นแกน" ความคิดเหมาเจ๋อตง ประกอบด้วย 1. หาสัจจะจากความเป็นจริง 2. เดินแนวทางมวลชน และ 3. เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง)

ทั้งนี้ "ความคิดเหมาเจ๋อตง" ถือว่าการจะพัฒนาทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง กำหนดแนวทางนโยบายได้อย่างสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงมากที่สุด "พรรคฯ" จะต้องเข้าหามวลชน ศึกษาเรียนรู้จากมวลชน เพราะมวลชนคือผู้สัมผัสกับปัญหาต่างๆ อย่างใกล้ชิดที่สุด รู้ว่าปัญหาคืออะไร อยู่ตรงไหน และควรจะแก้ไขปัญหาแบบไหน อย่างไร

เพียงแต่ว่า ความรู้จากประสบการณ์ตรงของมวลชน มักจะเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ จำเป็นที่ "พรรคฯ" จะต้องไปรวบรวม วิเคราะห์-สังเคราะห์ แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ที่สะท้อนกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคม กำหนดเป็นแนวคิดทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติอย่างเป็นจริงต่อไป

อัจฉริยภาพของมวลชนก็จะเข้าไปปรากฏอยู่ในแนวคิดทฤษฎี ชี้นำการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการง่ายที่มวลชนจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้เกิดผล สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้อย่างเป็นจริง

ตรงนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิธีการทำงานของพรรคทุน ที่อาศัยกลไกและระบบราชการแบบเก่าๆ แบบ "เจ้านาย" สั่งงานลงไปเป็นทอดๆ

หรือไม่ก็อ้างอิงหลักทฤษฎีจากตำรา หลับหูหลับตาอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้กระทำการต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริง ซึ่งมักจะประสบความล้มเหลวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในบั้นปลาย

ในภาวะเช่นนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนต่างไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เพื่ออะไร กระทำอย่างหลับหูหลับตา สะเปะสะปะ ขาดปัญญาตื่นรู้ หรือ "ทฤษฎีชี้นำ" ที่เป็นของตนเอง ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่เชื่อมั่นในพลังมวลชน

ยืนหยัดปฏิบัติแนวทาง "มาจากมวลชน กลับไปสู่มวลชน"

สรุปได้ว่า แนวทางมวลชนของพรรคเหนือทุน หลักๆ ก็คือ "ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อมวลชน เชื่อมั่นและพึ่งพามวลชน" และ "มาจากมวลชนกลับไปสู่มวลชน" ถือมวลชนซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในแนวรบหน้าสุดของการต่อสู้ทางการผลิต และทางด้านอื่นๆ ในอันที่จะปลดปล่อยตนเองและพัฒนาตนเอง เป็น "ต้นธาร"ของการรับรู้ที่จะนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของแนวคิดทฤษฎี เป็นที่มาของแนวนโยบายแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน

ในทางปฏิบัติ พรรคเหนือทุน โดยผู้ปฏิบัติงานของพรรคจะต้องยืนหยัดอยู่ในท่ามกลางมวลชน รับรู้ปัญหา ศึกษาประสบการณ์ ประมวลแนวคิดความเห็นต่างๆของมวลชนอย่างกว้างขวางรอบด้าน แล้วกำหนดขึ้นเป็นแนวคิดชี้นำการปฏิบัติเบื้องต้น ทดลองปฏิบัติ พิสูจน์และประเมินผล แล้วรวมศูนย์ขึ้นสู่แนวคิดทฤษฎีชี้นำที่เป็นระบบ กำหนดเป็นแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นำเสนอกลับไปสู่มวลชน เพื่อให้มวลชนดำเนินการตามแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเหล่านั้นด้วยตนเอง สามารถปลดปล่อยและพัฒนาตนเองอย่างเป็นจริงทีละขั้นๆ

แนวทางมวลชน จึงเป็นกระบวนการหมุนเวียนผันเปลี่ยนไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่มวลประชามหาชนอย่างที่สุด และเป็น "หลักประกัน" สูงสุด ให้แก่การทำงานของพรรคเหนือทุน

เป็น "อาวุธ" ชั้นเลิศของพรรคเหนือทุน

เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของวิธีคิดวิธีทำงานที่ตั้งอยู่บนจุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์ที่สำคัญที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น