xs
xsm
sm
md
lg

รู้รักสามัคคีธรรม หรือเอกภาพ (3)

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

ตำแหน่งประธานรัฐสภา เป็นตำแหน่งที่จะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ การทำหน้าที่ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปอย่างเป็นเอกภาพ และถูกต้องโดยธรรมเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง หลักการที่สำคัญของการเป็นประธานฯ ในที่ประชุมจะต้องเป็นศูนย์กลางของสมาชิกทั้งมวล จึงต้องอยู่เหนือความเป็นฝักฝ่าย คือจะต้องวางตนอยู่เหนือทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ตำแหน่งประธานฯ เป็นตำแหน่ง ลักษณะทั่วไป จะต้อง แผ่คุณธรรม ออกไปครอบงำสู่มวลสมาชิกทั้ง 700 คน ขณะเดียวกัน สมาชิกทั้งมวลเป็นลักษณะจำเพาะที่มีความแตกต่างหลากหลาย ต่างก็ขึ้นต่อท่านประธานฯ ความสัมพันธ์ที่ถูต้องนี้จะดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ เช่นเดียวกับกฎธรรมชาติ

ในทางตรงกันข้ามเมื่อประธานฯ แสดงออกถึงความในใจและพฤติกรรมที่มีพรรคครอบงำเป็นพรรคเรา พรรคเขา ทำให้สูญเสียความเป็น ลักษณะทั่วไป จึงเกิดปรากฏการณ์ในทางลบ ประชาชนได้รู้เห็นกันทั้งแผ่นดิน แสดงให้เห็นว่าท่านประธานฯ ยังอ่อนทั้งศาสตร์ (Science) และ ศิลป์ (Arts) ท่านประธานฯ จึงควรทบทวน

อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ที่มีลักษณะปฐมภูมิกับทุติยภูมิ หรืออะไรมาก่อน อะไรมาหลัง ความสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไร ได้อย่างถูกต้อง เช่น ระหว่างอสังขตธรรมกับสังขตธรรม, จิต กับ กาย หรือนาม กับ รูป, ความเห็น กับ ความคิด, ความคิด กับ การพูด, การพูด กับ การกระทำ, รัฐศาสตร์ กับ นิติศาสตร์, หลักการ กับ วิธีการ, ยุทธศาสตร์ กับ ยุทธวิธี, ระบอบ กับ รัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญ กับ กฎหมายทั่วไป, พระคุณ กับ พระเดช ฯลฯ ดังกล่าวนี้ นักการเมืองไทยล้วนยังไม่มีความแจ่มแจ้งทั้งศาสตร์และศิลป์ พวกเขายากที่จะเข้าใจได้

ถ้าผู้นำทางการเมืองไทย ผู้นำพรรคการเมือง เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ระบอบการเมืองแบบเผด็จการระบบรัฐสภา ก็คงจะไม่ดำรงอยู่อย่างยาวนานเช่นนี้ ทั้งนี้เป็นความเข้าใจผิดที่แก้ไขยากที่สุดในหมู่นักวิชาการ และนักการเมืองฝ่ายผู้ปกครองที่รับเอาเฉพาะ รูปแบบการปกครอง คือ ระบบรัฐสภา และวิธีการประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) ทางการเมืองจากตะวันตก โดยยังไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ แล้วนำมาโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

จะเป็นระบอบการเมืองอะไร? นั้น เขาพิจารณากันที่หลักการปกครอง แต่เมื่อไปพิจารณารัฐธรรมนูญทั้ง 16 ฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ก็ไม่พบว่ามีหลักการปกครอง มีเพียงวิธีการปกครองเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งมีเพียงมรรควิธีในการปกครอง แต่ไม่มีจุดมุ่งหมายในการปกครอง ผู้เขียนจึงมาบอกความจริงต่อประชาชน เพื่อให้เกิดการศึกษา สัมมนาให้เกิดองค์ความรู้อย่างถูกต้องเป็นธรรมต่อประชาชน และความมั่นคงต่อประเทศชาติสืบไป

ลักษณะของสามัคคีธรรมหรือเอกภาพ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพ กับด้านความแตกต่างหลากหลาย ตามที่เราเข้าใจกันแล้วว่า กฎธรรมชาติที่มีอยู่เดิมสัมพันธ์กันระหว่างด้านเอกภาพหรือด้านการปรุงแต่งพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า อสังขตธรรม หรือบรมธรรม, นิพพาน กับด้านความแตกต่างหลากหลายหรือด้่านการปรุงแต่งพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า สังขตธรรม เราจะเห็นได้ว่า สิ่งไม่มีชีวิตก็แตกต่างหลากหลาย สิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืชและสัตว์ ก็มีความแตกต่างหลากหลาย

ทีนี้เรากลับมามองตนเอง มองด้านในจิตใจของตนเองบ้าง ก็จะเห็นได้ว่ามันตั้งอยู่ระหว่างด้านเอกภาพ กับด้านความแตกต่างหลากหลาย กายประกอบขึ้นด้วยธาตุ 4 เป็นความแตกต่างหลากหลาย มองด้านในบ้าง จิตตสังขารคือ ความคิดปรุงแต่ง จิตที่ยึดมั่นถือมั่น จิตที่ยังประกอบด้วยอวิชชา จึงปรุงแต่งเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง จิตตสังขาร ที่เป็นกุศลก็มีความแตกต่างหลากหลาย จิตตสังขาร ที่เป็นอกุศลก็มีความแตกต่างหลากหลาย แต่เมื่อใดที่เรามีความเพียรในการปฏิบัติ พุทธวิปัสสนากรรมฐาน จนรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งปวง (ทั้งรูปธรรม และนามธรรมหรือจิตสังขาร) นั่นไม่เที่ยง มันร้อยเรียงแปรปรวนทุกขณะ (อนิจจัง) สังขารทั้งปวงเป็นทุกขะ (เป็นทุกข์) ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (ทั้งอสังขตธรรมและสังขตธรรมเป็นอนัตตา) ได้เสียสิ้น จิตสิ้นราคิน (ราคะ) สิ้นอาสวะ จึงวางเฉย แจ้งจริงแล้วเอยก็จะเปิดเผยพระนิพพานอันเป็นด้านเอกภาพ

ผู้คิดจะทำหน้าที่ทางการเมืองแนวธรรมะ หรือธรรมาธิปไตย จะต้องใช้ความเพียรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กระจ่าง ให้รู้จัก รู้แจ้งทั้งตนเอง และรู้เหตุวิกฤตชาติและแนวทางการแก้ไข หรืออีกนัยหนึ่ง “รู้แจ้งสภาพความเป็นจริงแห่งตน และรู้แจ้งสภาพความเป็นจริงของประเทศ สู่การแก้ไขให้ถูกต้องโดยธรรม”

ที่นี้เราก็นำสภาวธรรมที่มันดำรงอยู่มาแล้วเป็นล้านๆ ปีมาแล้ว บนความสัมพันธ์ดังกล่าวมาประยุกต์ให้มาอยู่ในแกนหรือระบบเดียวกัน ใคร? สถาบันไหน? ประเทศไหน? ทำได้ประยุกต์ได้ ประเทศนั้นจะมีความมั่นคงแบบยั่งยืนเช่นเดียวกับกฎธรรมชาติ และ ประเทศนั่นจะเป็นผู้นำโลกด้านสันติภาพโลก เพื่อให้โลกกลับมาสู่สันติภาพตามวิถีธรรม บนความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพ (อสังขตธรรม)กับ ความแตกต่างหลากหลาย หรือสิ่งที่ศาสนานั่นๆ เคารพสูงสุดเป็นด้านเอกภาพ หรือด้านจุดมุ่งหมาย (Aim) ประเทศต่างๆ เป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย (means)

การทำความเข้าใจระหว่างจุดมุ่งหมาย กับวิธีการได้อย่างนี้ในโลกยุคปัจจุบันจะต้องทำผ่านอำนาจรัฐที่ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นธงชัยเท่านั้น จึงจะทำให้โลกเกิดสันติภาพเป็นผลสำเร็จเป็นคุณูปการต่อโลกและมวลมนุษยชาติ

แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์ 84,000 พระธรรมขันธ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกได้แก่ พระวินัย 21,000 พระธรรมขันธ์ พระสูตร 21,000 พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรม 42,000 พระธรรมรักษ์ ก็ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่าง ด้านเอกภาพหรือจุดมุ่งหมาย ได้แก่ พระนิพพานกับ 84,000 พระธรรมขันธ์เป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย

ดังได้กล่าวแล้วว่าอะไรๆ ในจักรวาลนี้ในโลกนี้ ล้วนตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลายทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าเราจะมองออกหรือไม่

ดังนี้แล้วเรานำสภาวะดังกล่าวอันเป็นไปตามกฎธรรมชาติและคำสอนของพระพุทธองค์ มาประยุกต์เข้ากับอุดมการณ์แห่งชาติ ที่ข้าพเจ้าได้เกริ่นไว้เป็นเบื้องต้นในตอนที่ 1 คืออุดมการณ์แห่งชาติ ได้แก่ ชาติ? ศาสนา พระมหากษัตริย์

ชาติ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชาติ กับ ประชาชน ชาติเป็นด้านเอกภาพ ประชาชนเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย ประชาชนแต่ละคนจะมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน เช่น ต่างกันที่เพศ, อายุ, อาชีพ, สถานภาพ, ความเป็นอยู่, ความคิดสร้างสรรค์, ความเพียร, ความมุ่งมั่น, ศาสนา, ความจงรักภักดีต่อชาติ เป็นต้น ความแตกต่างเหล่่านี้ ถ้าเราอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ให้ประชาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “เรียนอะไรก็ได้ (ตามที่ตนชอบ, ตนถนัด) ทำหน้าที่อะไรก็ได้ ให้เรามีจุดมุ่งหมายเพื่อประเทศชาติ” ถ้าประชาชนเข้าใจและทำได้ตามนี้ประเทศเราจะเจริญรุ่งเรือง มั่งมี สงบสุขสันติอย่างยิ่งใหญ่เกินที่จะกล่าว (ทุกวันนี้คนไทยมีความแตกต่างหลากหลาย จุดมุ่งหมายก็แตกต่างหลากหลาย ไปคนละทิศ คนละทาง เป็นไปตามอำนาจกิเลส และถูกครอบงำจากระบอบการเมืองมิจฉาทิฐิ)

มีคนเกรงว่าจะเป็นไปได้หรือ ข้าพเจ้ารับรองว่าเป็นไปได้ และมีวิธีที่จะให้ประชาชนเข้าใจ และปฏิบัติตามหลักและวิธีการดังกล่าวได้ ถ้าจัดความสัมพันธ์ระหว่างระบอบกับรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องตรงกับกฎธรรมชาติ เป็นปัจจัยให้สถาบันหลักแห่งชาติ, รัฐบาลจัดความสัมพันธ์ถูกต้อง, ข้าราชการ, รัฐวิสาหกิจ, ประชาชน ก็จะคล้อยตามอย่างถูกต้องอย่างเป็นไปเอง

แต่สภาพการณ์ปัจจุบัน ประชาชนภายในชาติเมื่อได้ตรวจสอบประชาชน ได้เคยสอบถามทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง (ป. 4-ปริญญาเอก) ประมาณ 40,000 คน ทุกคนจะเป็นทำนองเดียวกันว่า “เรียนหนังสือ ศึกษาศิลปวิทยาการทำหน้าที่การงานเพื่อตนเองและครอบครัว” ถามว่าประชาชนตอบอย่างนี้เขาผิดไหม? ไม่ผิด แต่เพราะประชาชนไม่ได้รับรู้วิธีคิดที่ถูกต้องตามวิถีธรรมนั่นเอง จึงเป็นหน้าที่ของภิกษุพระผู้รู้ พระผู้ทรงเป็นผู้นำทางสัจจะ ผู้นำทางจิตและวิญญาณ และผู้นำทางปัญญา มาบอกกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องโดยธรรมแก่ประชาชน จะเป็นผลสำเร็จได้นั้น จะต้องดำเนินการด้วยอำนาจรัฐ หรือนายกรัฐมนตรีที่เข้าถึงสัจธรรม รู้แจ้งธรรม เคารพธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ถือธรรมเป็นธงชัยเท่านั้น และเป็นไปไม่ได้ในระบอบการเมืองปัจจุบัน อันเป็นระบอบที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับกฎธรรมชาติ หรือตรงกับวิถีธรรมปุถุชนคนธรรมดาจะดำเนินชีวิตตามสัญชาตญาณ คิดจะทำอะไรก็เพื่อตนเองและครอบครัว จะเห็นว่าสอดคล้องกับกิเลส เขาเพ่งมองไปที่วัตถุเพียงด้านเดียว ได้แก่ ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง จึงไม่ได้มีการบำเพ็ญจิต ทั้งๆ ที่ความจริงมนุษย์ทุกคน “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ถ้าเราคิด เรียน ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ, เพื่อชาวโลกก่อน และได้รับผลตอบแทนทีหลัง การดำเนินชีวิตอย่างนี้เหนือสัญชาตญาณและเหนือกิเลส เพราะคิด, ทำให้ก่อนแล้วรับทีหลัง การรับเป็นเรื่องของวัตถุ และการรับเราได้รับจากสิ่งสูงสุดคือ พระธรรม รองลงมาคือ ประเทศชาติ รองลงมาคือ พ่อแม่ รองลงมาคือ หน่วยงานนั้นๆ ที่เราทำให้เรามา และ การคิด, ทำให้ก่อน เป็นเรื่องของจิตและเป็นการบำเพ็ญจิตแบบอย่างพระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญความเมตตา ด้วยความมุ่งมั่นจึงทำเป็นคนจิตใจดี สะอาด บริสุทธิ์ เมื่อจิตดี ย่อมส่งผลให้คิดดี พูดดี ทำหน้าที่ดี มีความเพียรดี มีสติความระลึกดีเป็นความระลึกที่ยิ่งใหญ่ มีสมาธิดีคือความตั้งใจมั่นดี ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ เขาย่อมเป็นบุคคลที่มีพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนที่มีคุณภาพและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เมื่อมีกันมากๆ ประเทศชาติย่อมเจริญรุ่งเรือง “พึงรู้แจ้งกฎธรรมชาติ รู้แจ้งสภาวะขันธ์ 5 ประยุกต์สู่การแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติกันเถิด ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำความเข้าใจหลักการนี้ให้แยบคายเถิด จะได้เป็นรัฐบุรุษแห่งชาติอีกคนหนึ่ง” (ต่อตอนที่ 4)
กำลังโหลดความคิดเห็น