xs
xsm
sm
md
lg

เต่ายักษ์บนหมู่เกาะ Galapagos

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกล้าน

Galapagos เป็นชื่อของหมู่เกาะหนึ่งกลางมหาสมุทร Pacific หมู่เกาะนี้ตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร และอยู่ห่างจากฝั่งของประเทศ Ecuador ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 13 เกาะ และเกาะเล็ก 6 เกาะ เช่น Isabela, Fernandina, Pinta, Marchena, Santiago และ Santa Cruz เป็นต้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะ Galapagos คือชาวอินเดียนแดงที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนนี้ และชาวตะวันตกเริ่มรู้จักหมู่เกาะ Galapagos เมื่อบาทหลวง Tomas de Berlanger พบหมู่เกาะโดยบังเอิญในปี พ.ศ. 2078 เมื่อเรือของบาทหลวงขณะเดินทางจาก Panama สู่ Peru ได้พลัดหลงแวะที่เกาะเพื่อแสวงหาน้ำจืด ทว่าบาทหลวงมิได้เห็นอะไรเป็นที่ประทับใจ จึงได้บันทึกแต่เพียงว่า บนเกาะมีก้อนหินและความแห้งแล้งเท่านั้น

อีกหนึ่งศตวรรษต่อมา หมู่เกาะได้ตกอยู่ในการยึดครองของโจรสลัด ซึ่งใช้พื้นที่เป็นฐานสำหรับโจมตีกองทัพเรือสเปน และปล้นสินค้าเรือโดยสาร และเมื่อกองโจรสลัดถูกกองทหารสเปนปราบราบคาบ บรรดาสุจริตชน เช่น ชาวประมง และนักล่าปลาวาฬก็ได้เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะ ครั้นได้เห็นเต่ายักษ์จำนวนมากนับแสนตัวอาศัยอยู่บนหมู่เกาะ จึงตั้งชื่อหมู่เกาะว่า Galapagos ซึ่งแปลว่า เต่าในภาษาสเปน

ในปี พ.ศ. 2378 นักธรรมชาติวิทยาชื่อ Charles Darwin ขณะเดินทางสำรวจโลกด้วยเรือ Beagle ได้เดินทางถึงหมู่เกาะ Galapagos การเห็นพืชและสัตว์นานาชนิดบนหมู่เกาะได้ชี้นำให้ Darwin สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตขึ้น โดยได้เรียบเรียงความคิดลงในหนังสือชื่อ The Origin of Species by Means of Natural Selection

จากนั้นโลกก็รู้จักหมู่เกาะ Galapagos ดีขึ้น เพราะเหล่านักชีววิทยาได้เดินทางมาเยือนหมู่เกาะมาศึกษาพืช และสัตว์บนเกาะ ซึ่งแทบไม่ถูกโลกภายนอกรบกวน ตั้งแต่หมู่เกาะได้โผล่พ้นน้ำทะเลเมื่อล้านปีก่อน และเมื่อถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2375 ประธานาธิบดี J. Hernandez ก็ได้ประกาศยึดหมู่เกาะ Galapagos เป็นของประเทศ Ecuador และได้ประกาศให้หมู่เกาะนี้เป็นสวนสาธารณะแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2502

ณ วันนี้หมู่เกาะ Galapagos เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และวิชาการที่นำเงินเข้าประเทศ Ecuador มากถึง 60% ของเงินรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หมู่เกาะ Galapagos เป็นสถานที่น่าสนใจสำหรับนักชีววิทยาที่จริงแล้ว Charles Darwin มิได้เป็นผู้ที่ทำให้หมู่เกาะ Galapagos โด่งดัง แต่ความมีชื่อเสียงของหมู่เกาะนี้เกิดจากบรรดานักชีววิทยารุ่นหลัง Darwin ที่ได้เดินทางไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อเก็บพืชและสัตว์ตัวอย่างมาศึกษา และได้พบว่า หมู่เกาะ Galapagos เปรียบเสมือนเป็นสวนสวรรค์แห่ง Eden เพราะเกาะอยู่โดดเดี่ยวทำให้อิทธิพลของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ได้เข้ามาใกล้กรายเลย ดังนั้น หมู่เกาะจึงเป็นห้องปฏิบัติการที่เกือบจะเป็นอุดมคติสำหรับการทดสอบทฤษฎีของสิ่งมีชีวิตต่างๆ

ในสมัยก่อน ผู้คนมาเยือนหมู่เกาะเพื่อแสวงหาน้ำดื่ม เนื้อเต่า ขนแมวน้ำ และไม้ไปทำเชื้อเพลิง และนักชีววิทยามาหาสิ่งมีชีวิตตัวอย่าง เช่น พืชตัวอย่างหรือสัตว์ตัวอย่างทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของหมู่เกาะร่อยหรอไปมากมาย แต่เมื่อถึงวันนี้วิธีการวิจัยทางชีววิทยาได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก นักชีววิทยาต้องการสิ่งมีชีวิตในการศึกษายิ่งกว่าสิ่งไม่มีชีวิต (คือที่ตาย) และเมื่องบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ของทุกประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพิ่มหมู่เกาะ Galapagos ก็ได้ผลกระทบที่ดีนี้ด้วย และก็ได้ประจักษ์ว่า ตลอดระยะเวลา 400 ปี ที่หมู่เกาะได้ต้อนรับมนุษย์ชีวิตต่างๆ บนเกาะได้รับผลกระทบกระเทือนไม่มากก็น้อย เช่น ประชากร สัตว์มีการลดจำนวน และสัตว์อพยพย้ายเกาะกันมากขึ้น ทั้งนี้เพราะถูกสิ่งมีชีวิตอื่นรบกวนนั่นเอง

เต่ายักษ์ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของหมู่เกาะ Galapagos ก็ถูกรบกวนเช่นกัน ถึงแม้เต่ายักษ์ (Geochelone, migra) นี้จะมีจำนวนมากมายในปี พ.ศ. 2078 และมีถึง 15 ชนิด โดยเต่าแต่ละชนิดจะอยู่บนเกาะโดดเดี่ยว ซึ่งแยกห่างจากเกาะอื่นๆ แต่วันเวลาที่ผ่านไปได้ทำให้เต่ายักษ์ 4 ชนิด สูญพันธุ์ไป เพราะถูก แพะ คน หมู และหนูรบกวน ดังนั้น องค์กรอนุรักษ์สัตว์โลก (World Conservation Union) จึงได้ประกาศให้เต่ายักษ์ทั้ง 11 ชนิดที่เหลือเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครอง

Geochelone nigra abingdoni เป็นเต่ายักษ์ชนิดย่อยหนึ่งที่นักชีววิทยาคิดว่า ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากเกาะ Pinta จนกระทั่งนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องหอยทากได้พบเต่าชนิดนี้เหลืออยู่เพียงตัวเดียวเป็นตัวสุดท้ายของโลกชื่อ Lonesome George หรือยอร์ชผู้โดดเดี่ยวเดียวดาย

ณ วันนี้ George อาศัยอยู่ที่สถานีวิจัย Charles Darwin ในเมือง Puerto Ayora ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะ Santa Cruz และหน้าที่หลักของ George ตัวผู้คือสืบพันธุ์ให้กำเนิดลูกหลานเหลนเต่ายักษ์ได้กลับไปอาศัยอยู่บนเกาะ Pinta อีกครั้งหนึ่ง

แต่ตลอดเวลา 20 ปีหลังจากที่พบ George การกระตุ้นเร้าให้ George ผสมพันธุ์กับเต่าตัวเมียชนิดอื่นได้ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2435 ผู้ควบคุมศูนย์วิจัยจึงนำเต่าตัวเมีย 3 ตัวจากเกาะ Isabela ที่อยู่ใกล้เคียงเกาะ Santa Cruz ให้ George ผสมพันธุ์ โดยหวังว่า George จะสนใจ ทั้งนี้เพราะคิดว่าเกาะ Isabela อยู่ใกล้เกาะ Pinta มากที่สุด ดังนั้น เต่าบนเกาะทั้งสองนี้จึงน่าจะมีความใกล้ชิดเชิงชีววิทยามากที่สุดด้วย

แต่การตรวจสอบ DNA ของเต่าบนเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะ Galapagos ทำให้นักอนุรักษ์ประหลาดใจ เมื่อพบว่า George มี DNA ที่คล้ายคลึงกับเต่าบนเกาะ Espanola ยิ่งกว่า (เต่าบน Espanola เป็นชนิด G. nigra hoodensis) และนั่นก็แสดงว่า เต่ายักษ์บนเกาะ Pinta ได้อพยพมาจากเกาะ Espanola ซึ่งอยู่ทางใต้ไกลออกไป 300 กิโลเมตร ดังนั้น การจับ George ให้ผสมพันธุ์กับเต่าบนเกาะ Isabela จึงไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง และเต่าตัวเมียที่คู่ควรกับ George ควรมาจากเกาะ Espanola หรือมิฉะนั้นก็เกาะ San Cristobal เพราะมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับ George มากกว่า

ถึงแม้นักวิจัยจะรู้ข้อมูลนี้ และได้เสนอข้อแนะนำ แต่ผู้ดูแล George ก็มิได้ดำเนินการใดๆ เลย เพราะศูนย์อนุรักษ์สวนสาธารณะแห่ง Galapagos มีหลักการด้านจริยธรรมว่า ให้เหตุการณ์ต่างๆ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือห้ามไม่ให้มนุษย์เข้ามาจับ George คลุมถุงชน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่จะรู้ว่าตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมานี้ George กับเจ้าสาวเต่าจากเกาะ Isabela ไม่มีอะไรกันเลย

ความหวังขั้นต่อไปต้องหาเต่ายักษ์ตัวเมียจากเกาะ Pinta มาให้ George แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะเท่าที่สำรวจได้พบเต่าจากเกาะ Pinta ว่ามีเพียง 15 ตัวเท่านั้นเอง โดย 14 ตัวเป็นตัวผู้ และ 1 ตัวเป็นตัวเมีย และทุกตัวตาย การสืบหาเต่ายักษ์ตัวเมียจากเกาะ Pinta ที่ขณะนี้กำลังถูกเลี้ยงในสวนสัตว์ต่างๆ ทั่วโลก ก็ไม่ได้ให้ความหวังใดๆ ดังนั้น นักชีววิทยาบางคนจึงเห็นควรจับ George ผสมพันธุ์กับเต่าตัวเมียจากเกาะอื่น แต่นั่นก็จะทำให้สายพันธุ์ของ George ไม่บริสุทธิ์ แต่นั่นก็มิใช่ปัญหาใหญ่ เพราะปัญหาที่หนักอกนักชีววิทยาขณะนี้คือ George ไม่สนใจที่จะสืบพันธุ์เลย คนบางคนจึงคิดเก็บเชื้อตัวผู้ของ George มาผสมกับไข่ของเต่าตัวเมีย (หากหาได้ในอนาคต) หรือมิฉะนั้นก็กระตุ้น George ด้วยกระแสไฟฟ้าให้สนใจสืบพันธุ์ แต่วิธีนี้ก็ไม่แน่ชัดว่าจะทำให้เชื้อตัวผู้ของ George เสื่อมคุณภาพหรือไม่ นอกจากนี้คนบางคนก็ยังสงสัยว่า ถ้า George คงเป็นหมัน ซึ่งถ้าจริงเต่ายักษ์พันธุ์นี้ก็จะสูญพันธุ์ ดังนั้น จึงเสนอแนะให้มีการทำโคลนนิ่ง George แต่นั่นก็ไม่ง่าย เพราะนักวิทยาศาสตร์มีความรู้เกี่ยวกับ Gene ของสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่าน้อย

หนทางเดียวที่นับว่าง่ายที่สุดคือ คอยให้ George รู้สึกอยากสืบพันธุ์เอง เพราะขณะนี้ George ยังหนุ่ม คือมีอายุไม่ถึง 100 ปี แต่เต่านั้นมีอายุยืนนานถึง 300 ปี ดังนั้นอีก 100 ปี George ก็ยังสามารถเป็นพ่อเต่าได้ ใครจะคอยดูลูกของ George บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น