xs
xsm
sm
md
lg

ความจำเป็นในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทและความสำคัญในการประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก และเฉพาะธุรกิจที่ทำมาค้าขายด้วยแล้ว พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะช่วยทำให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือ ลงทุนน้อยแต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง
กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับการค้าๆ ขายๆ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนางานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่รับผิดชอบงานดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาเพื่อดำเนินการด้านการส่งเสริมและพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องมาจดทะเบียน เพื่อให้สามารถรู้ถึงการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบการว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำธุรกรรมอะไรบ้าง และนำมากำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม และประสบผลสำเร็จมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนแล้วจำนวน 1,436 ราย รวม 2,085 เว็บไซต์
รวมไปถึงการจัดทำต้นแบบร้านค้าสำเร็จรูป (e-shop) และการเปิดให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) เพื่อช่วยส่งเสริมการตลาด และขยายช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการสามารถทำการซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์ได้
การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
1. สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง โดยกรมฯ จะจัดทำเลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องหมาย Registered) จัดส่งให้แก่ผู้ประกอบการในรูปแบบ Source Code เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปแสดงไว้บน Web Site หรือ Home Page เพื่อแสดงว่าได้จะทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว เมื่อผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) เห็นเครื่องหมาย Registered แล้ว จะเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อ click ที่เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบจะเชื่อมโยงมายังฐานข้อมูลกรมฯ และแสดงข้อมูลทางทะเบียนของผู้ประกอบการ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะและการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้
2. กรมฯจะนำรายชื่อเว็บไซต์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไปเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของกรมฯ โดยจัดแบ่งหมวดหมู่แยกตามประเภทธุรกิจ (e-Directory) เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ของผู้ประกอบการอีกช่องทางหนึ่ง
3. ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนแล้ว สามารถยื่นขอใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (Trustmark) จากกรมฯได้ ซึ่งเครื่องหมาย Trustmark นี้จะมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าเครื่องหมาย Registered กล่าวคือ จะออกให้แก่เว็บไซต์ที่มีคุณสมบัติตามที่กรมฯ กำหนดเท่านั้น เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
4. การได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การเข้าร่วมการอบรมสัมมนา การได้รับคำแนะนำ และการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับผู้มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งประกอบพาณิชยกิจในเชิงพาณิชย์อันเป็นอาชีพปกติ ดังนี้ คือ 1.ผู้ซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้แก่ บุคคลที่มีเว็บไซต์เพื่อทำการซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2.ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP : Internet Service Provider) 3.ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting) และ 4.ผู้ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace)
ตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ต้องจดทะเบียน ต้องเข้าข่ายดังต่อไปนี้ คือ มีระบบการสั่งซื้อ เช่น ระบบกรอกฟอร์ม ระบบตะกร้า e-mail หรืออื่นๆ มีระบบการชำระเงิน ออฟไลน์ หรือ ออนไลน์ เช่น การโอนเงินผ่านระบบบัญชี การชำระด้วยบัตรเครดิต หรือ e-cash เป็นต้น มีระบบสมัครสมาชิก เพื่อรับบริการข้อมูลหรืออื่นๆ โดยมีการคิดค่าใช้จ่าย (ถือเป็นการขายบริการ) เช่น บริการหาคู่ บริการข่าวสาร/บทความ/หนังสือ รับสมัครงาน เป็นต้น มีวัตถุที่ประสงค์หลักในการรับจ้างโฆษณาสินค้าหรือบริการของผู้อื่น และมีรายได้จากการโฆษณานั้น รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ หรือเพียงโฆษณาว่าเป็นผู้รับจ้างออกแบบเว็บไซต์ เพราะถือว่าการออกแบบเว็บไซต์นั้นมีช่องทางการค้าปกติบนอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ให้บริการเกมส์ออนไลน์ที่คิดค่าบริการจากผู้เล่น (เจ้าของเว็บไซต์ต้องจดทะเบียน) เว็บไซต์ที่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การ Download โปรแกรม เกมส์ Ringtone Screensaver SMS เป็นต้น
ส่วนตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องจดทะเบียน เช่น มีเฉพาะหน้าร้านโชว์สินค้าของตนเอง แต่ทำการค้าในช่องทางปกติ (ไม่ใช่อินเทอร์เน็ต) แม้จะมีข้อความแจ้งว่าให้ติดต่อได้ เช่น สนใจโทร.ติดต่อ... หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ … การโฆษณาสินค้าของตนเอง โดยลักษณะของการโฆษณานั้นไม่ใช่วัตถุที่ประสงค์หลักของกิจการและไม่ใช่ช่องทางค้าปกติ แม้จะมี banner ของผู้อื่นมาติดและมีรายได้จาก banner ก็ตาม การประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลแก่สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือบริการ เช่น เพื่อการสอน ประกาศรับสมัครงาน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้า เว็บไซต์ส่วนตัว (ส่วนบุคคล) ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว การงาน การศึกษา หรือความสนใจส่วนตัว เว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางด้านข้อมูล โดยมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่มีการเสียค่าสมาชิกหรือ ค่าใช้จ่ายใดๆ ร้านอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการในการเล่น net ที่เจ้าของร้านได้รายได้จากค่าชั่วโมงการเล่นอินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ตคาเฟ่) และ เกมส์คอมพิวเตอร์ ประเภทนี้ เจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตไม่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ให้จดทะเบียนพาณิชย์ ปกติ (ถือเป็นพาณิชย์กิจธรรมดา ในช่องทางปกติ ไม่ใช่ e-Commerce )
เป็นที่ชัดเจนว่า การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส็ในปัจจุบันนี้มีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ เพราะไม่เพียงแต่ช่วยธุรกิจให้เปิดตัวออกสู่ตลาดภายนอกได้อย่างกว้างขวางแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจได้มาก ดังนั้น ใครที่รู้ตัวเองว่าเข้าข่ายจะต้องยื่นจดทะเบียนก็ขอให้ไปจดทะเบียน โดยการจดทะเบียนทำได้ไม่ยาก แต่ประโยชน์ที่จะได้รับหากมีการจดทะเบียนแล้วจะมีมากกว่า เนื่องด้วยรัฐจะได้รู้ว่าใครอยู่ตรงไหน และจะสนับสนุนให้มีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร
เห็นประโยชน์อย่างนี้แล้ว ใครที่ยังไม่ไปจดทะเบียนก็ให้รีบกันหน่อย ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง ก็ลองโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดก่อนที่ 02-5475998 หรือ 02-5475050 ต่อ 3081 หรือโทร 1570 หรือ www.dbd.go.th รับรองว่ามีคำตอบให้แน่
กำลังโหลดความคิดเห็น