xs
xsm
sm
md
lg

โทรทัศน์กับการสร้างค่านิยมแห่งการผลิต-การบริโภค

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ไม่กี่วันก่อน ท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าสภาพัฒน์ฯ ได้เปิดเผยรายงานการสำรวจอันมีใจความส่วนหนึ่งที่นำไปสู่พาดหัวว่า “5 ปีบัตรเครดิตพุ่ง 5 เท่า สังคมฟุ้งเฟ้อเด็กพึ่งเหล้า” (“ผู้จัดการรายวัน” วันที่ 19-20 มีนาคม พ.ศ. 2548)

บางส่วนของรายละเอียดในข่าวเดียวกันระบุว่า อัตราการใช้บัตรเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5 เท่า จาก 1.6 ล้านใบในปี 2542 ถึง 8.2 ล้านใบในปี 2547 โดยพบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านห้างสรรพสินค้ามากที่สุด ซึ่งสถาพัฒน์ฯ เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อภาวะหนี้สิน อันนำไปสู่ข้อสรุปว่าควรจะมีการให้ความรู้และสร้างวินัยการใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯ ยังบอกด้วยว่าตนเองจะเร่งดำเนินการวิจัยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของคนไทยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมการทำงานของสถาบันการเงินต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจะทำงานวิจัยในทำนองนี้อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว

สภาพัฒน์ฯ ไม่ได้บอกว่าหากข้อค้นพบของการวิจัยนี้บ่งชี้ถึงอันตรายนานาชนิด ใครจะดำเนินการอะไรต่อไปหรือไม่ ในระหว่างนี้ บัตรเครดิตจำนวน 8.2 ล้านใบจึงทำหน้าที่ของมันไปได้ตามปกติ อีกทั้งจำนวนบัตรเครดิตก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความพยายามในการทำยอดขายอย่างก้าวร้าวของผู้ทำธุรกิจด้านนี้ด้วย ประเด็นที่น่าคิดก็คือ หากมีการควบคุมการออกบัตรเครดิตให้เข้มข้นขึ้น ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว การก่อหนี้สินจะไปโผล่นอกระบบในสัดส่วนที่น้อยลงหรือมากขึ้นเพียงใด

พูดตามจริง ข้อมูลในทำนองนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่สักเท่าไรนัก เพราะหลายปีมานี้ ธุรกิจบัตรเครดิตดูจะประสบกับความรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง เช่น หากใครมีบัตรเครดิตอยู่แล้ว ผู้ทำธุรกิจชนิดนี้ก็จะส่งหนังสือเชิญชวนไปถึงบ้านชี้แจงสารพัดว่าเขาควรจะมีบัตรเครดิตอีกสักใบหนึ่ง โดยอ้างว่าบัตรเครดิตใบนี้มีระบบเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะทำให้เขามีสิทธิ์ได้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในราคาที่มีส่วนลด หากใครเครดิตดี (ซึ่งสถาบันทางการเงินต่างๆ มักจะสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ จาก credit bureau ซึ่งผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสถาบันพวกนี้ใช้สิทธิ์อะไรในการตรวจสอบสถานภาพเครดิตของบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าส่วนตัว) ก็จะได้รับการเสนอให้เป็นสมาชิกโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี 1-3 ปี ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้ทำธุรกิจประเภทนี้ยังทำการขายตรงบัตรเครดิตของตนตามบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในบางกรณี ถึงกับมีการแบ่งประโยชน์บางอย่างให้แก่ลูกค้าสถาบันพวกนี้ มิหนำซ้ำ ถ้าใครเที่ยวเตร่ตามห้างสรรพสินค้า ก็คงจะเคยเห็นเด็กสาวแต่งตัวสวยๆ ออกมาเชิญชวนใครๆ ให้กรอกใบสมัครเป็นสมาชิกของบัตรเครดิตต่างๆ อยู่บ่อยๆ ในระยะหลังๆ มานี้ ดูเหมือนว่าการเชิญชวนนี้ชักจะเลอะเทอะไม่ค่อยดูตาม้าตาเรือมากขึ้นทุกที ยิ่งไปกว่านี้ มาตรฐานการออกบัตรเครดิตคงจะต่ำลงไปเรื่อยๆ จนแทบจะเรียกว่าใครๆ ก็มีสิ่งที่เรียกว่าบัตรเครดิตได้ เพียงแต่ว่าเครดิตถูกควบคุมเอาไว้โดยยอดเงินในแต่ละรอบเท่านั้น แต่ผมคิดว่าการควบคุมยอดเงินที่เข้มงวดเกินไปนั้นคงจะขัดกับการทำธุรกิจบัตรเครดิต ที่ลึกๆ แล้วคงไม่อยากหากินจากส่วนแบ่งจากยอดขายเท่านั้น แต่น่าจะต้องการดอกเบี้ยสูงๆ จากคนที่ชอบใช้จ่ายเงินเกินตัวด้วย

ถ้าจะพูดตามปรัชญาของพรรคไทยรักไทย ที่เน้นนโยบายเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ (โดยดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยสนใจสักเท่าไรนักว่าจะได้มาโดยวิธีใด) ก็อาจจะบอกได้ว่านี่คืออีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าพรรคได้เดินมาถูกทางแล้ว เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น ยังผลให้ประชาชนมีทรัพย์สินอย่างบ้าน รถยนตร์ และอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น

จริงๆ แล้ว ในตัวมันเอง เป้าหมายแบบนี้ก็ไม่มีอะไรผิดดอก เพราะใครๆ ก็จำเป็นต้องบริโภคกันทั้งนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าจะต้องมีการวางระบบอย่างไรการบริโภคจึงจะเหมาะสมกับการผลิต ทั้งในระดับของปัจเจกชน ครัวเรือน และสังคมทั้งหมดมากกว่า เพราะการบริโภคที่มากเกินกว่าความสามารถในการผลิตย่อมนำไปสู่ปัญหาหนี้สินต่างๆ เป็นลูกโซ่ จนอาจจะกลายเป็นเอ็นพีแอลขนาดใหญ่ในสถาบันการเงินที่สามารถสร้างความพินาศให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้อีก

ประเด็นสำคัญก็คือสภาพัฒน์ฯ บอกด้วยว่า “ควร” จะมีการให้ความรู้และสร้างวินัยในการใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น แต่หากจะดูจากข่าวก็ไม่ทราบว่า “ใคร” จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ และจะทำอย่างไรกันแน่ ลงท้าย นี่ก็คงจะเป็นแค่ “ข้อเสนอแนะ” ที่ดูเหมือนว่าในทางทฤษฎี ลู่ทางในการแก้ไขปัญหาก็มีอยู่แล้ว “บนกระดาษ” แต่ก็เป็นข้อเสนอแนะที่ไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพนั่นแหละ

สภาพัฒน์ฯ จะขอความร่วมมือให้ครูในกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย พระตามวัดวาอาราม หรือสถาบันที่ทำงานด้านศีลธรรมอื่นๆ ช่วยกันเผยแพร่ความรู้หรือว่าการสร้างหนี้สินนั้นเป็นของไม่ดี อย่างนั้นหรือ?

พูดก็พูดเถิด ผมว่าสภาพัฒน์ฯ น่าจะวางระบบให้นักวิชาการเก่งๆ ของตนทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามตอบโจทย์การวิจัยง่ายๆ ต่อไปนี้อย่างเป็นระบบดีกว่าว่า (1) ใครบ้างเป็นผู้เผยแพร่ค่านิยมแห่งการผลิต (production values) ด้วยงบประมาณและวิธีการอย่างไร และได้ผลมากน้อยเพียงใดและเพราะอะไร (2) ใครบ้างเป็นผู้เผยแพร่ค่านิยมแห่งการบริโภค (consumption values) ด้วยงบประมาณและวิธีการอย่างไร และได้ผลมากน้อยเพียงใดและเพราะอะไร

ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการการวิจัยประเภทนี้จะมีนัยยะมากมายที่จะช่วยให้สภาพัฒน์ฯ สามารถมีบทบาทที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของตนได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่หยุดอยู่ตรงที่การให้ “ข้อเสนอแนะ” ที่ไร้เจ้าภาพเท่านั้น

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม สภาพัฒน์ฯ ต้องทำหน้าที่เป็นสติสัมปชัญญะของเมืองไทยในปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศอย่างครบวงจร หากค้นพบปัญหาที่เป็นรูปธรรมใดๆ ก็คงต้องระบุที่มาที่ไปออกมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การระบุหน่วยงานและวิธีการแก้ไขให้ได้ผลจริงๆ จังๆ รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆ (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) ก็น่าจะอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ ด้วย

ถ้าสภาพัฒน์ฯ ไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้เพราะปัญหาจำนวนงบประมาณและความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการ ก็คงจะต้องแก้ไขไปตามความจำเป็นเพื่อให้ได้งานดีๆ ออกมาให้ได้ ทั้งนี้ อาจจะถึงขนาดทำข้อเสนอใหญ่ที่นำไปสู่การแปรรูปเป็นองค์กรอิสระเสียเลย ไม่เช่นนั้น การค้นพบต่างๆ ของสภาพัฒน์ฯ ก็คงไม่ไปถึงไหน เกินไปกว่าการเป็นตัวอักษรบนกระดาษที่สื่อนำไปเผยแพร่ต่อบ้างพอเป็นกระสายเท่านั้น

จริงๆ แล้ว นอกจากแรงกดดันทางอ้อมต่างๆ เช่น ความจำเป็นในการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมแห่งครอบครัว ให้แสดงค่านิยมแห่งการผลิตแล้ว ผมมองไม่ค่อยเห็นว่าเมืองไทยเราให้ความสำคัญกับการสร้างค่านิยมแห่งการบริโภคโดยตรงเท่าไรนัก เราไม่มีแก่นทางจริยธรรมที่เน้นความสำคัญของการแสดงบทบาทเป็นผู้ผลิตอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ พอมีใครมากระตุ้นให้คนไทยแสดงค่านิยมแห่งการบริโภค เราจึงพร้อมที่จะเข้าผสมโรงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเก่าๆ ที่นักล่าอาณานิคมจากยุโรปเคยเขียนๆ เอาไว้เกี่ยวกับคนไทยเมื่อสักร้อยกว่าปีที่ผ่านมาอยู่บ้าง ก็จะค้นพบข้อสังเกตเป็นเอกฉันท์ของฝรั่งว่า คนไทยเราเป็นคนเฉลียวฉลาด ฉนั้น คนไทยจึงชอบความสุขจากการเสพวัตถุเป็นพิเศษมานานแล้ว ไม่ว่าฝรั่งจะขนเอาสินค้าชนิดไหนใส่เรือมาขาย (ซึ่งสมัยก่อนมีไม่มาก) คนไทยในสมัยเก่าก็จะแสดงความตื่นเต้นในการทำหน้าที่เป็นลูกค้าที่เอาจริงเอาจังเสมอ

ในแง่ของการสร้างค่านิยมแห่งการเป็นผู้บริโภคแล้ว คนไทยจึงเป็นสุดยอดฝีมือทีเดียว เอาเป็นว่าระดับโลกเลยก็ได้

ก็ไม่ต้องไปดูอะไรให้ไกลตัว แค่เปิดโทรทัศน์ดูสักพักเถิด ก็จะพบว่ามีรายการสินค้านานาชนิดเดินพาเหรดมาให้เราดูสักกี่รายการ แม้ในขณะที่เรากำลังรอดูกันอยู่ว่าใครจะตอบเกมโชว์ในวันนี้ได้รางวัลมากๆ บ้าง เราก็ต้องพบกับสินค้านับยี่สิบสามสิบรายการแล้ว คงจะไม่มีรายการโทรทัศน์บ้านไหนเมืองไหนที่พยายามใช้พื้นที่ทุกแห่งเป็นที่โฆษณาสินค้าได้มากเท่ากับโทรทัศน์ไทย ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ว่าเอาการโฆษณาไปแทรกทุกหนทุกแห่งได้ แต่เขาคงจะมีความละอายใจที่จะใช้โลโก้สินค้านับจำนวนได้เป็นร้อยๆ เป็นสัญลักษณ์ของรายการตนเองมากกว่า

หลายปีมาแล้ว นักศึกษาชาวเยอรมันคนหนึ่งเคยแวะมาขอคำปรึกษาผมเรื่องการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเรื่องบทบาทของโฆษณาในหลายประเทศในเอเชีย เขาค้นพบว่าใน “ระบบดัชนี” ที่เขาสร้างขึ้น เมืองไทยเป็นจุดที่มี “ความเข้มข้น” ของการโฆษณาต่อประชากรสูงสุด

ข้อสังเกตก็คือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องนี้ทำขึ้นในช่วงปลายๆ ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ เมื่อเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มตกต่ำ และงบประมาณการโฆษณาเชิงพาณิชย์ลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ผมก็ยังจำได้ว่านักศึกษาผู้มีอายุไม่ถึง ๓๐ ปีผู้นี้ตั้งข้อสังเกตด้วยความเศร้าหมองกับผมว่า เขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนไทยจะมีความสุขได้อย่างไรจากการบริโภคแจ้งความการโฆษณามากมายทุกๆ วันอย่างนี้

ยิ่งไปกว่านี้ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าคนไทยเราเก่งเรื่องการโฆษณาขนาดไหน หากใครทำงานในวงการออกแบบโฆษณานานๆ สักหน่อย ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะได้รับรางวัลระดับชาติ ระดับเอเยนซี ระดับภูมิภาค และระดับโลก เอาเข้าสักรางวัลจนได้ ผลงานสร้างสรรค์ของคนเหล่านี้จึงสามารถทำให้การนั่งส้วมรุ่นใหม่เป็นกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ควรแก่การทดลองอย่างยิ่ง

ถึงจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีใครใช้บัตรเครดิตของตนไปสร้างหนี้สินจนล้นพ้นตัวเพราะการซื้อส้วมรุ่นใหม่ เราก็ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าการบริโภคเป็นกิจกรรมที่คนไทยเราชื่นชอบเป็นพิเศษ นอกจากแรงผลักดันจากวัฒนธรรมกฎุมพีจากยุคศักดินาแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะสำหรับคนชั้นกลางทั่วไปจนกระทั่งถึงสมาชิกของชนชั้นรากหญ้า เมืองไทยแทบไม่มีชีวิตทางวัฒนธรรมอะไรที่มากไปกว่าการดูโทรทัศน์เลย และโทรทัศน์ของเราก็แทบไม่มีคุณค่าอะไรเลย เกือบทั้งหมดคือการโฆษณาอะไรสักอย่าง ใครดูมาก รายการสินค้าที่เข้ามาอยู่ในความทรงจำก็ยิ่งมาก ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งมีความทุกข์มากเท่านั้น เพราะความจำเป็นในการดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการของตนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ว่ากันว่า การคลั่งการบริโภคนั้นเป็นอาการของความเจ็บป่วยทางจิตที่ลึกล้ำ ยิ่งป่วยมากเท่าไรก็ยิ่งต้องการบริโภคมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าในตนเอง ในแง่นี้ เป้าหมายของการสร้างสรรค์ของงานโฆษณาเชิงพาณิชย์ก็คือการกระตุ้นให้คนป่วยขึ้นๆ จนกระทั่งเขารู้สึกว่าเขาไม่มีค่าอะไรหากไม่ได้บริโภคสิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นเอง

นอกจากนี้ ในขณะที่การสร้างค่านิยมในการผลิตของเราไม่ค่อยแข็งแรงทั้งในแง่ของการจัดตั้งและจริยธรรม ระบบการสร้างค่านิยมในการบริโภคกลับมีงบประมาณสนับสนุนปีละเป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้าน มิหนำซ้ำ ระบบการเผยแพร่อันสะดวกผ่านทางโทรทัศน์ที่เข้าไปถึงคนดูในบ้านของเขาเองในนามของ “ความบันเทิง” ด้วย

เมื่อยุคสมัยเป็นเสียอย่างนี้ โจทย์ของสภาพัฒน์ฯ ก็ต้องขยายออกไปจากประเพณีในการทำงานเดิมๆ นั่นก็คือ การวิเคราะห์บทบาทของโทรทัศน์ในการสร้างค่านิยมในการผลิตและการบริโภคอย่างที่ดำรงอยู่ และให้ข้อเสนอแนะอย่างชัดเจนในการแปรรูปโทรทัศน์ให้หันไปทำหน้าที่ในการสร้างค่านิยมในการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ อาจจะด้วยการกำหนดโครงสร้างรายการประเภทต่างๆ และการริเริ่มนโยบายภาษีใหม่ๆ ที่ผมเคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้

สรุปแล้ว สภาพัฒน์ฯ อาจจะค้นพบว่าสิ่งที่จำเป็นคืออะไรที่ไม่น้อยไปกว่าการปฏิรูปธุรกิจโทรทัศน์ทั้งหมดเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพื่อจัดการให้ค่านิยมแห่งการผลิตและการบริโภคเกิดความสมดุลขึ้น ไม่เอียงข้างจนไร้ความหวังอย่างนี้

อนึ่ง โปรดอย่าลืมว่าค่านิยมแห่งการผลิตนั้นสร้างได้ยากยิ่งกว่าค่านิยมแห่งการผลิตมาก ฉะนั้น การลังเลในเชิงนโยบายจะทำให้ปัญหาแบบนี้ฝังรากลึกขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อเป็น “วัฒนธรรมร่วม” แล้ว มันอาจจะเป็นอะไรที่แก้ไขไม่ได้แล้วในระดับของนโยบาย แต่อาจจะต้องไปไกลกว่านั้น

ในขณะที่การทำธุรกิจบัตรเครดิตควรจะถูกควบคุมและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ปล่อยให้ความสุรุ่ยสุร่ายส่วนบุคคลสามารถสร้างความเสียหายแก่ระบบการเงิน ในระดับของวัฒนธรรมแล้ว ด้วยการวางระบบการจัดการกับธุรกิจโทรทัศน์เสียใหม่เท่านั้น สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ เรียกว่าการสร้างวินัยในการใช้จ่ายของผู้บริโภค จึงจะค่อยๆ เกิดขึ้น หากว่าใครๆ มัวแต่มะงุมมะงาหราไปมุ่งแก้ไขที่จุดอื่น แม้กระทั่งการบรรจุเนื้อหาว่าด้วยจริยธรรมในการบริโภคเอาไว้ในตำราเรียน เป้าหมายแบบนี้ก็จะไม่มีวันบรรลุผล

จริงอยู่ ในแง่หนึ่ง การโฆษณาเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพที่มากับระบบเศรษฐกิจเสรี ทว่าแม้กระทั่งระบบเศรษฐกิจเสรีก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตต่างๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถของประเทศเหมือนกัน

การที่เรามีระบบการสร้างค่านิยมแห่งการผลิตอ่อนแอกว่าการสร้างค่านิยมแห่งการบริโภคอย่างเห็นได้ชัดอย่างนี้ ทำให้ประเทศเราตกอยู่ในสภาพที่ต้อง “ขาดดุล” ตลอดเวลา รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ความอยากบริโภคมากกว่าความสามารถในการผลิต แบบนี้มันก็ผิดปกติแน่ๆ อยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น