xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณใช้เวทีครม.แก้กม. เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ประชุมนอกสถานที่ในทำเนียบฯ พร้อมถ่ายทอดช่อง 11“วิษณุ”ชงเรื่องแก้กฎหมายให้อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ยกร่างให้เสร็จก่อน 31 ธ.ค.ยึดหลักการให้ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจให้แข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ประชาชนให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

พล.ต.อ.เฉลิมเดช ชมพูนุท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้(22มี.ค.)ว่า จะย้ายที่ประชุมจากตึกแดง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ถือเป็นการประชุมนอกสถานที่ การประชุมช่วงแรกจะเป็นการประชุมครม.ตามวาระปกติ และจะมีช่วงหนึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องการพัฒนากฎหมายทั้งระบบ ซึ่ง ช่วงนี้จะให้มีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ตั้งแต่การประชุมปฐมนิเทศรัฐมนตรีใหม่ที่หัวหิน ด้วยเห็นว่าปัจจุบันเรามีกฎหมายเก่า และล้าสมัยเป็นจำนวนมาก จึงจะมีการพิจารณาวางแนวทาง โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อวางรูปแบบการออกกฎหมายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

**ประชุมสังคายนากฎหมาย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสังคายนากฎหมายของรัฐบาล ว่าตามที่รัฐบาลได้ตกลงกันไว้ ได้มีแนวทางปฏิรูปกฎหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนพัฒนากฎหมาย เหมือนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ซึ่งในแผนจะบอกว่า เราจะแก้หรือยกเลิกกฎหมายอะไร หรือจะให้มีกฎหมายอะไรเพิ่มจากที่ไม่เคยมี และจะกำหนดให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ และเริ่มเมื่อไร เรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องระดมความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ จำเป็นที่จะต้องคิดแบบ In site Out คือการมองจากผู้ที่ทำเรื่องนี้อยู่ทุกวันให้มองไปสู่โลกภายนอกว่า สังคมต้องการอะไร ส่วน Out site In คือ การมองจากภายนอก เป็นการมองจากประชาชนผู้รับบริการ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เขารู้สึกอย่างไร กับการที่มีกฎหมายจุกจิก รุ่มร่าม ล้าสมัยเหล่านั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า วิธีการต้องทำ 2 แบบ ถ้าแบบ Out site In มองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน ได้มีการตั้งอนุกรรมการ 10 คณะ เป็นชุดต่างๆ อาทิ อนุกรรมการแก้ปัญหาความยากจน อนุกรรมาการแก้กฎระเบียบที่สร้างภาวะให้กับประชาชน อนุกรรมการแก้กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน อนุกรรมการกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นต้น ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นที่มาจากข้างนอก เช่น หอการค้าฯ สภาพัฒนาฯ ธนาคาร เกษตรกร ซึ่งพวกนี้จะนำไปพิจารณาและนำมาสรุปว่าควรจะแก้กฎหมายอะไร กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ถ้าแก้ควรแก้อะไร

จากการสำรวจขณะนี้พบมีกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเกือบ 40 ฉบับ ทั้งนี้ คงไม่ขัดทั้งฉบับอาจจะมีเพียงบางมาตรา หรือกฎหมายใดที่ประเทศไทยไม่เคยมี แต่ควรจะมี ถ้ามีแล้วมันจะไปโลด ก็จะบอกว่ามีอะไรบ้าง ประเภท Out site In เขาก็จะช่วยบอก ที่เขามองจากภายนอกเข้ามา ถ้าครม.เห็นชอบตามนี้ก็จะเอาเรื่องบรรจุเป็นแผน หลังจากนั้นก็จะหาผู้เชี่ยวชาญมายกร่างกฎหมาย โดยกำหนดเวลาภายใน 31 ธ.ค.48 จะต้องยกร่างเสร็จ ส่วนจะเสนอให้สภาพิจารณาเมื่อไร ครม.จะต้องดูอีกครั้งหนึ่ง

นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าเป็นแบบ In site Out จะเป็นการมองจากเจ้าหน้าที่ มองจากผู้ปฏิบัติ ณ วันนี้ เรามีอยู่ 20 กระทรวง มีกฎหมายใช้บังคับอยู่เกือบ 100 ฉบับ จึงต้องการให้กระทรวงบอกมาว่า ต้องการแก้กฎหมายอะไร ขณะนี้เราให้กรรมการกรองมาแล้วรอบหนึ่ง หลังจากนั้นเราจะมาพบกันครึ่งทาง และเมื่อ ครม.ตกลงว่าจะให้แก้อะไร หรือไม่ให้แก้อะไร ก็จะให้บรรจุไว้ในแผน ซึ่งเมื่อตกลงกันแล้ว ก็จะเดินหน้าเพื่อยกร่างกฎหมายได้ทันที และต้องทำเสร็จภายใน 31 ธ.ค.นี้ นี่คือข้อสรุปในเรื่องแผนพัฒนากฎหมายที่จะประชุมหารือในวันนี้(22มี.ค.) ฉะนั้นจึงต้องเรียกประชุม ครม.เป็นกรณีพิเศษ การประชุมอย่างนี้ยังไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน เพราะอาจจะมีหลายคน อาจจะคิดว่าทำไมมาตัดหน้า ก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อสภา ซึ่งเป็นเพียงการเล่าให้ครม.ทราบ เพราะเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวมาก หลังจาก ครม.เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วจะมีการนำเรื่องเสนอ ครม.ให้เห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

"กฎหมายที่จะบรรจุลงในแผนพัฒนา เพื่อการแก้ไขนั้น จะต้องเป็นการแก้กฎหมายที่ทำแล้ว สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเป็นการแก้กฎหมายที่ทำให้ประเทศไทยรวยขึ้น หรือแก้กฎหมายแล้ว ต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส หรือทำให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น หรือแก้แล้วทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น และเป็นการลดขั้นตอนการให้บริการกับประชาชน” นายวิษณุ กล่าว และว่า มีกฎหมายที่จะต้องแก้ไข เกินกว่า 100 ฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น