ลำปาง - เครือข่ายองค์กรท้องถิ่นแม่เมาะ เตรียมพึ่งสภาทนายความเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง กรณี กฟผ.ขุดสุสานหอย 13 ล้านปี พร้อมนัดรวมพล ลงสำรวจสภาพสุสานหอยฯ 22 มีนาคม ก่อนจัดทำแนวทางอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรม ย้ำต้องมีผู้รับผิดชอบ หลังสุสานหอยได้รับความเสียหายไปแล้ว 25 ไร่
จากกรณีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เตรียมที่จะเริ่มขุดถ่านหิน บริเวณพื้นที่ที่ค้นพบสุสานหอยอายุประมาณ 13 ล้านปี หลังจากที่ชะลอการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยที่จะเริ่มขุดในพื้นที่จำนวน 25 ไร่ โดยส่วนที่เหลืออีก 18 ไร่ กันไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์
นายลือชาย ยารังษี นายกสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่นอำเภอแม่เมาะ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เมาะ เปิดเผยว่า ขณะนี้นอกเหนือไปจากการที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจังหวัดลำปาง ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ที่ให้ขุดเหมืองบริเวณสุสานหอยได้ โดยกันพื้นที่จำนวน 52 ไร่เป็นพื้นที่อนุรักษ์แล้ว
เครือข่ายฯยังได้มีการยื่นเรื่อง ถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความ เพื่อปรึกษาที่จะดำเนินการฟ้องร้อง กฟผ.ต่อศาลปกครองด้วย เนื่องจากเห็นว่า การตัดสินใจที่จะขุดเหมืองบริเวณที่เป็นสุสานหอยเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยสิทธิของชุมชน โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการให้ทนายความของสภาทนายความศึกษาข้อกฎหมาย และจัดทำรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเร็วๆ นี้
ส่วนหนังสือที่มีการยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งระหว่างนี้เครือข่ายเห็นว่าทาง กฟผ.ควรจะชะลอเวลาที่จะเริ่มทำการขุดเหมืองบริเวณสุสานหอยออกไปก่อนจนกว่าจะได้รับคำตอบจากนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ชาวลำปางเห็นว่า บริเวณสุสานหอยควรจะอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมด 43 ไร่ เพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติของจังหวัด แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการขุดเหมือง โดยอนุรักษ์พื้นที่สุสานหอยไว้จำนวน 18 ไร่ พร้อมทั้งให้มีการกันพื้นที่ข้างเคียงเพิ่มอีกรวมเป็น 52 ไร่ จัดทำเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แล้วก็ตาม แต่เห็นว่าน่าจะมีข้อสรุปร่วมกันที่ดีกว่านี้ รวมทั้งการอนุรักษ์พื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีการระบุชัด ว่าจะเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้นายลือชัย เปิดเผยต่อไปว่าในวันที่ 22 มีนาคม 2548 เครือข่ายองค์กรต่างๆ ในจังหวัดลำปาง ที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดเหมืองถ่านหิน บริเวณสุสานหอยอายุ 13 ล้านปี และต้องการที่จะให้มีการเก็บอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมด 43 ไร่ ได้นัดรวมตัวกันที่โรงแรมเวียงทอง(จังหวัดลำปาง) ก่อนที่จะเดินทางลงพื้นที่เหมืองแม่เมาะ พร้อมกับคณะของจังหวัดลำปาง เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่และรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่บริเวณสุสานหอยอายุ 13 ล้านปี ว่าเวลานี้ได้มีการดำเนินการไปอย่างไรบ้างแล้ว มีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อกองหอยที่ขุดหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการนำมาประกอบการพิจารณาหารือในกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดลำปาง ว่าแนวทางการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไรและนำเสนอให้ กฟผ.รับทราบ
ขณะที่นายสุรพล ตันสุวรรณ อดีตประธานหอการค้าเขต 9 และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดลำปาง ซึ่งร่วมคัดค้านการขุดเหมืองบริเวณสุสานหอย 13 ล้านปี กล่าวว่า ยังคงยืนยันความคิดเห็นว่า กฟผ.สมควรที่จะต้องอนุรักษ์พื้นที่บริเวณสุสานหอยไว้เป็นสมบัติของชาวลำปางทั้งหมด 43 ไร่ โดยที่ไม่ต้องมีการขุดเหมือง นอกจากนี้ในบางส่วนของสุสานหอยที่มีการขุดไปแล้ว เห็นว่าจะต้องมีผู้ที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านการขุดเหมืองบริเวณสุสานหอยอายุ 13 ล้านปีในครั้งนี้ ถือว่าได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายในจังหวัดลำปาง ที่เข้าเป็นแนวร่วมในการดำเนินการเคลื่อนไหวด้วย ทั้งภาคเอกชน และอดีตข้าราชการระดับสูงของจังหวัด เช่น นายเฉลิมพล ประทีปวณิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นต้น
ดร.วิฆเนศ ทรงธรรม นักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าได้เริ่มเข้ามาสำรวจ เมื่อเดือนมิถุนายน2546 ซึ่งนับว่าล่าช้าพอสมควรแต่เดิมก็ได้เสนอขอให้กันไว้ 43ไร่ เพื่อความสมบูรณ์ในการศึกษาถึงความเป็นมาของซากฟอสซิลหอยน้ำจืด ที่มีชั้นหนาที่สุดในโลก แต่เนื่องจากกฟผ.ลำบากใจมากหากต้องกันพื้นที่43 ล้านไร่ จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง132,500 ล้านบาท จากนั้น กฟผ.ก็พยายามเสนอ ครม.ให้มีการทบทวนพิจารณาใหม่ จนในที่สุด ก็หาทางออกที่เหมาะสม ด้วยโครงสร้างทางธรณีวิทยา ที่เหมาะสม ด้วยการอนุรักษ์ 18 ไร่
ดร.วิฆเนศ กล่าวอีกว่า ในทางวิชาการ ก็ต้องชั่งน้ำหนักกันว่า จะเลือกหอยหรือเลือกถ่านหิน แต่ระดับปฏิบัติงาน กรมทรัพย์ก็ต้องปฏิบัติตาม มติ ครม. แต่จากการศึกษาที่ผ่านมา เครือข่ายนักทรัพยากรธรณีจากต่างประเทศ เข้ามาทำวิจัย ทราบว่าที่นี่หนาที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่น่าหวงแหนและน่ารักษาเอาไว้
" ความสำคัญของสุสานหอย เป็นแหล่งที่ยิ่งใหญ่ หากพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ จะได้ผลประโยชน์ที่ยั่งยืน เหมือนน้ำซึมบ่อทราย หากอนุรักษ์จะนำเงินเข้าจังหวัดในระยะยาว มากกว่าที่สูญเสีย เป็นความมั่นคงที่ยั่งยืนมากกว่าการใช้ถ่านหินที่ใช้แล้วหมด ไป ถ่านหินเอาที่ไหนก็ได้ แต่หอยพังแล้วพังเลยและหาไม่ได้อีก และสำหรับแผนการศึกษาแนวทางจัดสถานที่เพื่ออนุรักษ์ขณะนี้ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยงบประมาณ 2 ล้านบาท และได้รับจัดสรรงบประมาณอีก 3 ล้านบาทในการศึกษาในพื้นที่"