xs
xsm
sm
md
lg

หัวรถจักรของธุรกิจโทรทัศน์ ข้อเสนอสำหรับทักษิณ 2/1

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

หากจะมีการตรวจนับปริมาณและวิเคราะห์คุณภาพของรายการต่างๆ ที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ไทยในแต่ละวัน ทั้งในแง่ของระดับทางวัฒนธรรมและนัยยะทางสังคมแล้ว ผลสรุปคงจะน่าตกใจราวกับการได้พบผีร้ายที่น่ากลัวๆ แบบที่ได้เห็นกันใน shock cinema! เลยทีเดียว

นอกจากรายการที่พอดูได้บ้างในแง่ของคุณค่าด้านความบันเทิง และ/หรือ ด้านข่าวสารเพียงหยิบมือเดียวแล้ว เกือบร้อยทั้งร้อยดูจะเป็นเรื่องของความสนุกสนานแปร่งๆ ที่แสดงและเผยแพร่รสนิยมอันน่าสงสัย ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อย่างแท้จริงอะไรกับคนดูเลย นอกจากการทำหน้าที่เป็น “เสียงรบกวน” ที่ฆ่าเวลาของคนดูให้หมดสิ้นไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

ความเศร้าของสถานการณ์ชนิดนี้ก็คือคนดูได้ให้ความร่วมมือในการทำลาย “เวลา” อันเป็นทรัพยากรมีค่าของตนเองทิ้งไปโดยไม่รู้สึกตัว

จากมุมมองของเจ้าของทุนที่หวังผลกำไรเป็นสรณะ ข้อค้นพบชนิดนี้คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก เพราะหลักการพื้นฐานในการทำงานจะเหมือนๆ กันหมด นั่นก็คือ การจัดหาสินค้าที่มีต้นทุนถูกๆ มาขายให้ได้ราคาแพงที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีของ “ฟรีทีวี” การตัดสินว่าอะไรถูกอะไรแพง ย่อมไม่สามารถกระทำได้อย่างมีความหมายเพราะจากจุดยืนของคนดู เขาไม่ได้เป็นผู้ควักเงินสดๆ ออกมาจ่ายค่าดูให้กับใครโดยตรง ทว่าเขากลับจ่ายราคาด้วย “เวลา” ของตนเอง นั่นก็คือ ในแง่เศรษฐกิจ เขาอาจจะมีความตื่นตัวกับสินค้าที่เป็นที่มาของงบประมาณการโฆษณา และในแง่การเมือง เขาอาจจะแสดงความเฉื่อยชากับการถูกกระทำเชิงอำนาจมากขึ้น เพราะรายการประเภทที่เรียกๆ กันง่ายๆ ผ่านๆ ว่า “ความบันเทิง” โดยไม่ค่อยมีใครรู้ความหมายที่แท้จริงนั้น ลงท้ายแล้วมักจะทำให้เกิดความเหนื่อยหน่ายกับ “ความจริงจัง”

เนื่องจากคนดูส่วนมากผู้มักจะไม่ค่อยรู้อิโหน่อิเหน่กำลังเข้าใจว่าตนเองดู “ของฟรี” พลังแห่งการเรียกร้องหาสิทธิ์ที่จะได้ดูรายการที่มีคุณค่าจึงมักจะอ่อนแรงลงไป นี่เองที่ “ช่องว่าง” ที่จะช่วยผลักดันให้รายการซึ่งไม่มีคุณค่าที่มีต้นทุนถูกๆ ขึ้นครองตลาดโทรทัศน์ต่อไปได้อีกนานแสนนาน จนกระทั่งไม่มีใครรู้ว่า “ก้นบึงทางวัฒนธรรม” (cultural bottom line) ของโทรทัศน์จะลงเอยอยู่ ณ จุดไหน!

ฉะนั้น เสน่ห์ของโทรทัศน์ในรูปแบบของ “ฟรีทีวี” ก็คือโอกาสที่จะลดต้นทุนการผลิตลงได้เรื่อยๆ เพื่อไปสู่จุดที่เป็นก้นบึงทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ในระดับที่ลึกลงไปกว่าเดิมตลอดเวลา ทั้งนี้ เท่าที่ “มวลชน” จะสามารถทนได้ และความที่เขาเข้าใจว่าเป็น “ของฟรี” นี่แหละ เขาจึงทนได้มาก และนานๆ เข้า ความทนได้นี้ก็จะกลายเป็น “นิสัย” ลงท้าย “ฟรีทีวี” ที่ไร้ก้นบึงทางวัฒนธรรมก็กลายเป็น “วิถีชีวิต”

เพราะเป็น “วิถีชีวิต” ไปแล้วนี่แหละ ทั้งๆ ที่ “ฟรีทีวี” กำลังทำร้ายคนดูอย่างหนักหน่วง ใครๆ ก็ยังรู้สึกว่าต้องทนๆ กันต่อไป การคิดค้นหา “ทางออก” ในเชิงระบบแทบจะไม่มี

จะมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นการกระทำที่จำกัดอยู่กับการริเริ่มโทรทัศน์แบบใหม่ ซึ่งลงท้ายแล้วก็กลายเป็น “ไอทีวี” อย่างที่เห็นๆ กันในทุกวันนี้

ยิ่งไปกว่านี้ การคิดค้นหา “ทางออก"”ในระดับจุดภาคลงมา เช่น การเพิ่มผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทใหม่ๆ หน้าใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริงขึ้นในวงการก็แทบจะไม่เคยได้ยินกัน ทำไปทำมา เมืองไทยก็ต้องดูรายการโทรทัศน์จากผู้ผลิตหน้าซ้ำๆ กันเพียงไม่กี่เจ้า

ทว่าจากมุมมองของสังคมที่จำเป็นต้องมีการสร้างวัฒนธรรมทางความคิดดีๆ บ่อยๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ความจริงข้อนี้คงจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะทรัพยากรที่มีจำกัดและสำคัญของส่วนรวมอย่างคลื่นความถี่โทรทัศน์กำลังถูกใช้ไปเพื่อการสร้างผลกำไรสูงสุดอย่างง่ายๆ ด้วยการเผยแพร่เนื้อหาและรูปแบบรายการที่ส่งผลกระทบสารพัดต่อการก่อรูปขององค์ประกอบที่น่ากลัวใหม่ๆ ของวัฒนธรรมร่วม (collective culture) ขึ้น โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องคิดหน้าคิดหลังอะไรนักนอกจากตัวเลขกำไรขาดทุนที่เห็นได้ชัดๆ

นอกจากจะไม่มีใครรู้ว่าจะนำเอาหลักการว่าด้วย “ธรรมาภิบาลที่ดี” (good governance) มาใช้วัดระดับทางวัฒนธรรมที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ของรายการที่ปรากฏใน “ฟรีทีวี” ได้อย่างไรแล้ว ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำไปว่า ข้อผูกพันในอันที่จะผลิตรายการที่ยกระดับวัฒนธรรมของคนดูให้สูงขึ้นเรื่อยๆ นี้ก็เป็นส่วนสำคัญของจริยธรรมผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เราไม่สามารถพูดถึง “ธรรมาภิบาลที่ดี” ของ “ฟรีทีวี” ได้โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของรายการโทรทัศน์ ทั้งในแง่ของความสร้างสรรค์ทางศิลปะและเนื้อหาทางปรัชญา

ปริศนาในวันนี้ก็คือ ทำอย่างไรความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก “ฟรีทีวี” ที่ไร้ “ก้นบึงทางวัฒนธรรม” จึงจะลดลงโดยไม่กระทบกระเทือนกับเสรีภาพของผู้ประกอบการ ทั้งในฐานะที่เป็นธุรกิจและเป็นสื่อ คำตอบก็คือ เราจะต้องสร้าง “หัวรถจักร” ที่ดึงระดับทางวัฒนธรรมของ “ฟรีทีวี” ขึ้นมาโดยวิธีธรรมชาติ นั่นก็คือ สร้างน้ำดีมากขึ้นเพื่อให้น้ำเสียลดลง

เนื่องจากทักษิณ 2/1 เป็นรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในระดับของการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจภายนอกอย่างมีนัยยะสำคัญมากขึ้น การกระตุ้นให้เกิดการก่อรูปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในส่วนของการผลิตและบริโภคใหม่ๆ รวมทั้งการการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง อีกทั้งการลดปัญหาความยากจน

ยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ ยากๆ เหล่านี้ย่อมต้องการกลไกที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนทางกลยุทธ์และแผนงานใหม่ๆ โอกาสแห่งความสำเร็จจึงจะมีมากและราบรื่นขึ้น หนึ่งในบรรดากลไกใหม่ๆ นี้น่าจะเป็นอะไรสักอย่างที่ผมขอเรียกอย่างเชยๆ ไปก่อนว่า “เครือข่ายโทรทัศน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ” ก็แล้วกัน

วัตถุประสงค์หลักของเครือข่ายฯ ก็คือการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการผลิตและเผยแพร่รายการโทรทัศน์ที่มีนัยทางเศรษฐกิจของประเทศทุกชนิด ตัวอย่างเช่น

๐ นโยบาย กลไก และกิจกรรมในระดับมหภาคของรัฐบาล รวมทั้งข้อได้เปรียบเสียเปรียบของข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ แนวทางและบทบาทต่างๆ ของสถาบันทางการเงินต่างๆ ในการขยายตลาดทุนทั้งภายนอกและภายในประเทศ กิจกรรมทางธุรกิจและแรงงานไทยในต่างประเทศ ความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย การกระตุ้นกำเนิดของวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางใหม่ๆ การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลกและประเทศ การวางระบบและกลไกในการการแก้ไขปัญหาความยากจนในระยะต่างๆ

๐ นอกจากเรื่องราวระดับมหภาคของในทำนองนั้นแล้ว ความเคลื่อนไหวของกิจกรรมที่มีนัยยะทางเศรษฐกิจในระดับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของวงการอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งโครงการพิเศษต่างๆ เช่น ผู้ว่าซีอีโอ โอท๊อป และสึนามิ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เครือข่ายจะต้องติดตามนำมาเสนออย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง

๐ เนื่องจากระดับการแข่งขันต่างๆ ในโลกมีความเข้มข้นขึ้นตลอดเวลา นอกจากนโยบายของรัฐแล้ว เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก ทั้งในระดับขององค์กรระหว่างประเทศ กลุ่มรัฐชาติที่รวมตัวกันเพื่อการดำเนินกิจกรรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันต่างๆ ตลอดทั้งรัฐชาติโดดๆ ในฐานะที่เป็นหน่วยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อาเซียน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อียู และอื่นๆ ก็เป็นภารกิจสำคัญอีกส่วนหนึ่งของเครือข่ายฯ ทั้งนี้ ก็เพราะความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สัมพันธ์กับการตัดสินใจทางเศรษฐกิจทุกระดับ

อนึ่ง ความที่เรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ เพราะบ่อยๆ จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกระบวนการทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ฉะนั้น ระบบการตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่ความเคลื่อนไหวต่างๆ จะต้องเกาะเกี่ยวกับปรัชญาที่ครอบคลุม ไม่ไปเพ่งมองเฉพาะแต่อะไรๆ ที่เป็นเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจตรงๆ ล้วนๆ ชัดๆ จนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ “ตกข่าว” ที่สำคัญกว่าที่แฝงอยู่ในข่าวประเภทอื่นๆ ก็ได้

หัวข้อข้างต้นนั้นเป็นเพียงตัวอย่างหยาบๆ ของเรื่องราวประเภทที่เครือข่ายฯ จะต้องครอบคลุมให้ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของความเคลื่อนไหววันต่อวัน แนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา และคำพยากรณ์ในเชิงอนาคตไกลๆ ทั้งนี้ ทั้งในส่วนของข่าวและบทวิเคราะห์ รวมความแล้ว นี่แหละคือศูนย์กลางแห่งการผลิตข่าวและบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ภายในประเทศ

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าสูงขึ้นทุกที อีกทั้งการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลกก็มากและซับซ้อนยิ่งขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีความเข้มข้นและเข้าด้ายเข้าเข็มขึ้นตลอดเวลา ผมเชื่อว่าเรากำลังพูดถึงเครือข่ายฯ ที่มีงานเต็มมือทีเดียว

หากมีทรัพยากรและการจัดการที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพทั้งในแง่เทคโนโลยี บุคลากร การออกแบบรายการ การตลาด และการเงิน ในระยะหนึ่งหรือสองปีแรกๆ น่าจะเป็นเครือข่ายฯ ที่สามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณค่าหนักแน่นพอสมควรได้ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อการเผยแพร่สองรอบคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน ครั้นขึ้นปีที่สามหรือสี่ ก็อาจจะมีความพร้อมและความชำนาญที่จะผลิตเนื้อหาที่หนักแน่นได้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

หากจะถามว่าใครจะเป็นคนทำและทำอย่างไร ผมขอเสนอว่าน่าจะพิจารณาแปรรูปสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของกรมประสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มรูปด้วยการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำหน้าที่นี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ เทคโนโลยีและเครือข่ายของช่อง 11 ดูจะมีประสิทธิภาพสูงมากแต่การใช้งานไม่คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็นเลย รายการต่างๆ ที่จัดๆ กันอยู่แม้จะมีดีๆ ปะปนอยู่บ้าง ส่วนมากดูจะทำๆ กันไปแบบเสียไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงจะมีข้อขัดข้องอยู่ที่การบริหารจัดการ การเงิน และวิสัยทัศน์นั่นเอง

ในการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์นี้ ลงท้ายแล้ว รัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย แต่จะในสัดส่วนเท่าไรนั้นก็แล้วจะพิจารณากันไป แต่ว่าหลักการสำคัญก็คือเป็นธุรกิจค้ากำไร ซึ่งหารายได้การโฆษณาจากลูกค้าทั้งในภาครัฐและเอกชนได้ แต่อาจจะมีขอบเขตจำกัดว่าจะต้องเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ (corporate sponsor) เป็นสำคัญ ทว่าต้องมีหลักเกณฑ์กำหนดสัดส่วนอิทธิพลของผู้อุปถัมภ์ ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอิทธิพลเหนือเครือข่ายฯ

คำถามที่ว่าจะอนุญาตให้ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำปลา ยาสีฟัน กางเกงใน ผงซักฟอก ยาขับประจำเดือน หรือเครื่องสำองค์ ว่าจ้างเครือข่ายฯ ให้โฆษณาให้ได้หรือไม่และในสัดส่วนเท่าไรต่อชั่วโมงต่อวันต่อเดือนนั้น น่าจะเป็นจุดที่ถกเถียงกันต่อไป เพราะจริงๆ แล้ว ของประเภทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของพลังในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจเหมือนกัน

จุดสำคัญก็คือเครือข่ายฯ จะต้องบริหารจัดการโดยมืออาชีพ ที่สามารถจัดองค์กรให้เข้มแข็งจนสามารถทำงานได้อย่างอิสระและเป็นกลาง แม้เครือข่ายฯ จะเน้นการให้ข้อมูลและความรู้เป็นหลัก แต่ก็ต้องกระทำโดยมีองค์ประกอบของความเพลิดเพลินอย่างขาดไม่ได้ เพราะข้อมูลที่มีคุณค่าซึ่งได้รับการนำเสนออย่างมีศิลปะย่อมจะมีเสน่ห์ที่เข้าถึงใจคนได้มากกว่าการนำเสนออย่างทื่อๆ ด้วยมุมมองที่ตายด้าน ไม่นำคนดูเข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ต้องมีกำไรด้วย ทั้งเพื่อใช้ประโยชน์ในการขยายงานและสวัสดิการของพนักงาน แต่อาจจะเป็นกำไรระดับที่เป็นมิตรสักหน่อย ไม่ใช่กำไรแบบโหดเหี้ยมที่ผู้ได้รับสามารถหัวเราะเสียงดังๆ ได้อย่างไม่มีเหตุผล

พูดง่ายๆ นี่คือเครือข่ายโทรทัศน์แบบใหม่ที่จะเป็นหัวรถจักรลากธุรกิจโทรทัศน์ทั้งระบบเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยพลังสร้างสรรค์ใหม่ๆ จุดพิสูจน์ก็คือเรื่องสำคัญๆ อย่างเศรษฐกิจก็นำเสนออย่างสนุกและหากำไรได้ด้วย

นอกจากทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งแล้ว เครือข่ายฯ นี้ยังจะช่วยมวลชนให้ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะนี่คือระบบการศึกษาที่ไม่เป็นทางการที่มีศักยภาพยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยปลดปล่อยมวลชนให้หลุดพ้นจากความยากจน แล้วในวันหนึ่ง เขาก็จะปฏิเสธรายการโทรทัศน์ประเภทที่กักขังเขาเอาไว้กับความยากจนเอง!
กำลังโหลดความคิดเห็น