xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนรมต.โครงการหมื่นล้านชะงัก รัฐบาลเตรียมรื้อ'บอร์ดทะเลสาบสงขลา'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ช่วงเปลี่ยนถ่ายผู้บริหาร "รัฐบาลทักษิณ 2"ส่งผลให้การพัฒนาทะเลสาบสงขลาชะงัก เกิดสุญญากาศอำนาจใน "คณะกรรมการบอร์ด" ส่งผลให้แผนงานและโครงการพัฒนาที่ต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านค้างเติ่งมากมาย ระบุ สผ.มีแผนจะปรับรื้อโครงสร้างทั้ง "บอร์ดใหญ่" และ "คณะอนุกรรมการฯ" หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างตัวแทนภาคประชาชนกับข้าราชการมาตลอด

เปลี่ยนรัฐบาลสร้างสุญญากาศในบอร์ด

นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ กรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (บอร์ดใหญ่) ซึ่งได้รับคัดเลือกจากตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่าช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทักษิณ 2 ขณะนี้ ได้ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะสาบสงขลาสะดุด เนื่องจากได้เกิดสุญญากาศในอำนาจการบริหารจัดการในบอร์ดทะเลสาบสงขลาชุดใหญ่ เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนประธานบอร์ดคนใหม่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะมอบให้รองนายกรัฐมนตรีคนไหนดูแล

กระทบแผนงาน/โครงการหลายหมื่นล้าน

ดังนั้น แผนงานและโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งอยู่ในกำกับของบอร์ดหลายโครงการ และกำลังรอพิจารณา ต้องได้รับผลกระทบให้ต้องล่าช้าออกไปด้วย อาทิ แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โครงการวางและจัดทำแผนผังนโยบายการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยใช้มาตรการผังเมือง แผนและโครงการพัฒนานากุ้งรอบทะเลสาบสงขลา แผนและโครงการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แผนและโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานและโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่างๆ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบของบอร์ดด้วย เช่น โครงการนำร่องศึกษาการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลาของ กฝผ. โครงการกระช้าลอยฟ้าหัวเขาแดง-แหลมสนอ่อน โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และโครงการขุดลอกคลองสำโรงของเทศบาลนครสงขลา โครงการขุดลอกทะเลสาบสงขลาของ อบจ.สงขลา และโครงการสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เหล่านี้เป็นต้น

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า แผนงานและโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีตัวเลขการขอใช้งบประมาณ เป็นเงินหลายล้านบาท อาทิ แม่บทฯที่ มอ. ม.ทักษิณและ ม.ราชภัฏสงขลาร่วมกันจัดทำระบุไว้ 57 โครงการ วงเงิน 13,690 ล้านบาท แผนและโครงการพัฒนานากุ้ง 123 โครงการ วงเงิน 3,699.5 ล้านบาท โครงการขุดลอกทะเลสาบของ อบจ.สงขลากว่า 300 ล้านบาท โครงการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. 40-50 ล้านบาท เหล่านี้ยังไม่รวมแผนงานและโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินด้วยมาตรการผังเมือง

ถือโอกาสปรับรื้อโครงสร้างบอร์ด

นายนฤทธิ์ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในระดับแกนนำประชาชน ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า รัฐบาลน่าจะถือโอกาสปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีช่วงนี้ ปรับรื้อโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้วย ซึ่งตนก็เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของบอร์ดค่อนข้างมีอุปสรรคปัญหามาโดยตลอด และที่สำคัญ ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างกรรมการ ที่เป็นตัวจากภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ กับกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนราชการต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง

"ปัญหาที่เห็นไม่ตรงกันที่สำคัญๆ คือ การกำหนดวาระการประชุมมักจะมาจาก สผ. เราอยากให้ภาคประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกำหนดด้วย ไม่ใช้ให้แค่มารับรู้ซึ่งก็เหมือนทำหน้าที่แค่ตรายางเท่านั้น หรืออาจจะตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองวาระโดยเฉพาะ ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลทักษิณ 2 โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี ที่จะมานั่งเป็นประธานคนใหม่ ท่านจะยังเอาคณะกรรมการชุดเดิมไว้หรือเปล่า ที่สำคัญในส่วนของตัวแทนภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ที่มีอยู่เพียงกว่า 10 คน ซึ่งมักจะเห็นไม่ตรงกับตัวแทนของราชการด้วย"

แนะดึงตัวบุคคลนั่งประธานบอร์ด

นายนฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาชุดนี้ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณเดือน ก.พ.2546 ช่วงเวลากว่า 2 ปีมีการเปลี่ยนตัวประธานถึง 3 คน และร่วมประชุมกันเพียง 5 ครั้งเท่านั้น คือ ในช่วง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานคนมีการประชุม 3 ครั้ง เปลี่ยนมาเป็นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประชุมเพียง 1 ครั้ง และเปลี่ยนอีกเป็น ร.ต.อ.ปรุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ก็มีประชุมเพียง 1 ครั้งเช่นกัน

"ผมอยากเสนอว่าหากรัฐบาลชุดใหม่ จะปรับโครงสร้างก็ควรจะแก้กฎหมายให้ผู้ที่จะมากำกับดูแลมีความต่อเนื่องด้วย โดยอาจจะยึดที่ตัวบุคคลแล้วมอบหมายให้มาเป็นประธานบอร์ด อาจจะเป็นที่ปรึกษานายกฯก็ได้ ไม่ควรจะไปผูกไว้ที่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านมา" นายนฤทธิ์กล่าว

ปราชญ์ทะเลสาบอัดวัฒนธรรมราชการ

นายสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ กรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ กล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องจริงที่กรรมการที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ มักจะมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับกรรมการที่มาจากภาคราชการ เพราะตัวแทนจากราชการก็จะคิดแบบวัฒนธรรมราชการ ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ต้องคอยออกแรงดึงให้การตัดสินใจต่างๆ เป็นไปอย่างถูกทำนองคลองธรรมมากที่สุด

"สิ่งที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมคือ บอร์ดฝ่ายราชการประมาณ 2-3 ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร มักจะมีภาวะซ่อนเร้นส่งเข้ามาให้บอร์ดชุดใหญ่พิจารณาอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องของการใช้งบประมาณในแผนงานหรือโครงการต่างๆ มุ่งเน้นแต่เรื่องของเม็ดเงิน แต่ไม่คำนึงถึงเม็ดงาน แล้วก็พยายามใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเพื่อให้มีมติรับรองอะไรแบบนี้ อย่างแผนแม่บทฯที่ควรจะเป็นกรอบของการพัฒนา ก็ยังมีใครไม่รู้ยัดโครงการที่ต้องใช้เงินมากมายเข้าไปไว้ด้วย" นายสุธิวงศ์กล่าว

ประชาชนเลิกคาดหวังรัฐบาล

นายโกเมศร์ ทองบุญชู กรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตัวแทนจากภาคประชาชนอีกคนกล่าวว่า หลังจากได้มีการจัดทำร่างแผนแม่บทฯจนแล้วเสร็จ จนถึงขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนไม่คาดหวังการพัฒนาในเชิงนโยบายจากรัฐบาลอีกแล้ว เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่มีการนำเสนอจากประชาชน รัฐบาลปฏิบัติออกมาเป็นรูปธรรมน้อยมาก มีเพียงเรื่องเดียวที่รัฐทำออกมาแล้วประชาชนพอใจคือ การสร้างถนนสายหัวป่า-ไสกลิ้ง

"เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงต้องพึ่งตัวเอง ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มหลายองค์กรได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานชุมชนต่างๆ ไปเรื่อยๆ โดยพยายามหางบประมาณจากแหล่งอื่น และตัวงานก็เดินหน้าไปได้ด้วยดีเพราะภาคประชาชนเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดหรือคณะทำงานคงไม่มีผลอะไรอีกแล้วเพราะประชาชนไม่หวังรอพึ่งรัฐอีกแล้ว" นายโกเมศร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น