xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (23) สิ่งที่พรรคเหนือทุนไทยต้อง “ต่อยอด”

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ในบทที่แล้ว เราได้จำแนกพรรคการเมืองออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1. พรรคทุน หรือพรรคกลุ่มทุน 2. พรรคนอกทุน และ 3. พรรคเหนือทุน

พรรคทุน ประกอบด้วยบุคคลตัวแทนผลประโยชน์ชนชั้นนายทุนและกลุ่มทุนทั่วไป ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนและกลุ่มทุนประเภทต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ มุ่งพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของสังคมในระบอบทุนนิยมตลอดไป

พรรคนอกทุน ประกอบไปด้วยบุคคลตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนชั้นชนต่างๆ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป มุ่งพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของสังคมในระบอบทุนนิยมและระบอบสังคมนิยม

พรรคเหนือทุน ประกอบไปด้วยบุคคลตัวแทนผลประโยชน์ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยกรรมกรผู้ใช้แรงงานให้พ้นจากการกดขี่ขูดรีด และเพื่อปลดปล่อยมวลมนุษย์ให้พ้นจากการกดขี่ขูดรีดและความไม่เป็นอิสระทั้งปวง มุ่งพัฒนาสังคมไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้านในระบอบสังคมนิยม เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ต่อไป

จึงชัดเจนว่า พรรคเหนือทุนก็คือพรรคมาร์กซิสม์ พรรคการเมืองที่ใช้ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์เป็นอาวุธทางความคิดชี้นำการปฏิบัติ

พรรคเหนือทุนเก่ากับพรรคเหนือทุนใหม่

อย่างไรก็ดี พัฒนาการของพรรคเหนือทุนโลก ไม่ได้เป็นแบบเส้นตรง แต่คดเคี้ยววกวนไปตามสภาวะเป็นจริงของพัฒนาการสังคมโลก

ทำให้สามารถแบ่งออกเป็นพรรคเหนือทุนเก่ากับพรรคเหนือทุนใหม่

พรรคเหนือทุนเก่า คือพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพ ต่อสู้โดยตรงกับชนชั้นนายทุน มุ่งโค่นล้มอำนาจปกครองชนชั้นนายทุน สถาปนาอำนาจการปกครองของชนชั้นกรรมกร ในระบอบสังคมนิยมเบ็ดเสร็จ เพื่อก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ตามอุดมการณ์ที่วางไว้

ลักษณะการต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรง เอาเป็นเอาตาย

เช่น การต่อสู้ของพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพในประเทศยุโรปตะวันตก เมื่อกลางศตวรรษที่ 19 นำโดยคาร์ล มาร์กซ์ และเฟเดริก เองเกลส์

หรือการต่อสู้ของพรรคบอลเชวิคของรัสเซียในต้นศตวรรษที่ 20 นำประชาชนชาวรัสเซียลุกฮือขึ้นสู้ โค่นล้มอำนาจปกครองของพระเจ้าซาร์

ส่วนพรรคเหนือทุนใหม่ มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเป็นตัวแทน มีความแตกต่างจากพรรคเหนือทุนแบบเก่าตรงที่แม้เป็นพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ไม่ถือเอาชนชั้นนายทุนเป็นเป้าหมายในการต่อสู้ ตรงกันข้ามกลับมุ่งสามัคคีชนชั้นนายทุนและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่รักชาติรักประชาธิปไตย ดำเนินการต่อสู้กับอำนาจครอบงำ ที่ติดตรึง ดึงรั้งมิให้สังคมจีนพัฒนาก้าวหน้า ประเทศจีนไม่มีอธิปไตยสมบูรณ์ ประชาชนจีนไม่มีอิสรภาพที่แท้จริง

เป็นการรวมพลังรักชาติทั้งปวง ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของประเทศชาติ เพื่อร่วมกันพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ประเทศชาติ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ

ไม่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น แต่เน้นการรวมพลังสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดำเนินการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก เสมอเหมือนประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปและอเมริกา

ด้วยความเข้าใจในลักษณะของยุคสมัย และความเรียกร้องต้องการที่แท้จริงของประเทศชาติและประชาชนจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พัฒนาทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ให้เข้ากับสภาวะเป็นจริงของสังคมจีน สามารถแยกแยะมิตร/ศัตรูได้อย่างถูกต้อง กำหนดขั้นตอนและยุทธศาสตร์การต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง สามารถสามัคคีบุคคลผู้รักชาติรักประชาธิปไตยได้อย่างกว้างขวางที่สุด ดำเนินการต่อสู้ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย จนกระทั่งได้รับชัยชนะอย่างงดงามในกลางศตวรรษที่ 20

อีกนัยหนึ่ง ในห้วงที่ประเทศจีนตกอยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา (ตั้งแต่ราวกลางศตวรรษที่ 19 ภายหลังสงครามฝิ่น) พรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อตั้งขึ้น (ปี ค.ศ. 1921) เพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นแกนนำพลังสามัคคีของชาวจีนทั้งปวง ที่รักชาติรักประชาธิปไตย โดยไม่แยกแยะว่าเป็นชนชั้นกรรมกร ชาวนา หรือชนชั้นนายทุนน้อย นายทุนกลาง หรือกระทั่งนายทุนใหญ่ดำเนินการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจีนให้พ้นจากการครอบงำของมหาอำนาจต่างชาติ และเพื่อสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนจีน

ภายหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชน (ค.ศ. 1949) แล้ว จึงได้ปรับปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมของจีนเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม และต่อมาในปลายทศวรรษ ค.ศ. 1970 จึงได้เริ่มการปฏิรูประบอบสังคมนิยมให้มีเอกลักษณ์แบบจีน ที่สำคัญคือการนำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดเข้ามาประยุกต์ใช้ในระบอบสังคมนิยม เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมแบบจีนเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก

ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันนี้ ก็คือมุ่งสามัคคีประชาชนชาวจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย เจริญรุ่งเรืองระดับโลกในเร็ววัน ซึ่งตามวิสัยทัศน์ของเติ้งเสี่ยวผิง ทุกอย่างจะปรากฏเป็นจริงได้ในราวกลางศตวรรษที่ 21

เมื่อนั้น ประเทศจีนก็จะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลก มีความศิวิไลซ์เฟื่องฟุ้ง โดดเด่นเป็นสง่าเหนือสังคมโลก

พร้อมที่จะเป็น “ตัวนำ” การพัฒนาของสังคมโลกไปสู่สังคมอุดมการณ์ต่อไป

ต่อยอดจุดยืนทัศนะ วิธีการ คือ “หัวใจ”

ดูจากพัฒนาการของพรรคเหนือทุนทั้งเก่าและใหม่ ก็พบว่าความสำเร็จของการปฏิวัติรัสเซีย และการปฏิวัติจีน ที่สำคัญก็เพราะสามารถใช้ “จุดยืน ทัศนะ วิธีการ” ของลัทธิมาร์กซ์เป็น “เครื่องมือ” พัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำการปฏิวัติที่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของประเทศตน

หากมิใช่ยึดติดในคำสอนหรือข้อสรุปสำเร็จรูปหนึ่งใดในตำราเล่มใดของมาร์กซ์-เองเกลส์

ดังนั้น สิ่งที่เป็น “หัวใจ” หรือ “รากแก้ว” ที่พรรคเหนือทุนไทยต้องต่อยอด จึงเป็น “จุดยืน ทัศนะ วิธีการ” แบบมาร์กซิสม์จะต้องสามารถใช้จุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์เป็นเครื่องมือ ดำเนินการวิเคราะห์แยกแยะความเป็นไปในสังคมโลกและสังคมไทย กำหนดแนวคิดแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประเทศชาติและประชาชนไทยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

สาระของจุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์ หลักๆ ก็คือ “ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง ความรับรู้มาจากการปฏิบัติ การปฏิบัติคือมาตรฐานวัดความถูกต้องของสัจธรรมแต่เพียงหนึ่งเดียว โดยการปฏิบัติทั้งปวง จะต้องเป็นไปเพื่อการปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการกดขี่ขูดรีด เป็นอิสระจากความไม่รู้ทั้งหลายทั้งปวง และเพื่อการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน” (คำว่า “ตนเอง” กินความครอบคลุมถึงสังคมประเทศชาติและประชาชน ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ทั้งรวมหมู่และปัจเจกบุคคล)

รวมทั้งถือว่า “ปวงประชามหาชนคือวีรชนผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง”

นี่คือ “หัวใจ” ที่พรรคเหนือทุนไทยจะต้อง “ต่อยอด” จากนี้ไปพัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติในแต่ละระยะและขั้นตอนที่เป็นจริง ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นแนวทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหารูปธรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเป็นจริง ขับเคลื่อนพัฒนาการของสังคมให้ก้าวหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ยังประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่มีขีดจำกัด

มองในระดับองค์รวมและอย่างเป็นพลวัต การพัฒนาก้าวหน้าของสังคมจะเป็นเงื่อนไขให้แก่การพัฒนาก้าวหน้าของชีวิต ทั้งในระดับรวมหมู่และระดับปัจเจกบุคคล

การพัฒนาอย่างรอบด้านของสังคม จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างรอบด้านของมนุษย์

ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการพัฒนาสังคมจีนอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างรอบด้านของคนจีน

การพัฒนาอย่างรอบด้านของสังคมจีนและคนจีน ก็จะนำไปสู่การพัฒนาก้าวหน้าของสังคมโลกและประชาชนชาวโลกต่อไป

เป็นการต่อยอดทางปัญญาในระดับ “ปรัชญา”

การต่อยอด “จุดยืน ทัศนะ วิธีการ” เป็นการต่อยอดทางปรัชญามาร์กซิสม์ มีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นเครื่องมือสำหรับการเข้าถึงสัจธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด แม่นยำที่สุด

ความสำเร็จของพรรคบอลเชวิค (ในระยะต้นๆ ก่อนที่จะตกเข้าสู่วังวนของสงครามเย็น) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ล้วนแต่ตั้งอยู่บนฐานของการต่อยอดทางปรัชญานี้ทั้งสิ้น

ตรงกันข้าม ความล้มเหลวของพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งที่เป็นพรรคทุน พรรคนอกทุน และพรรคเหนือทุน ล้วนแต่มีสาเหตุเดียวกัน ตรงที่ไม่ใช้จุดยืน ทัศนะ และวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่ง ณ วันนี้ จุดยืน ทัศนะ และวิธีการของลัทธิมาร์กซ์มีความสมบูรณ์ และเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงมองเห็น “จุดอ่อน” ของพรรคทุนและพรรคนอกทุนที่ไม่ยึด (หรือกระทั่งปฏิเสธ) จุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์ รวมทั้งพรรคเหนือทุนที่ละเลยไม่ยึดมั่นในจุดยืน ทัศนะ วิธีการดังกล่าว และสามารถสรุปได้ว่า พวกเขาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

อาทิ ในระดับประเทศ พวกเขาในฐานะพรรครัฐบาลใช้อำนาจบริหารประเทศ จะไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ประชาชนพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างรอบด้าน ตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน

ในระดับโลก พวกเขาไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ประเทศอื่นๆ พัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้าน ตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน

อีกนัยหนึ่ง พวกเขาไม่ใช่ปัจจัยที่จะเอื้อต่อการพัฒนาอย่างรอบด้านของประเทศตน และของประเทศอื่น (ในทัศนะของมาร์กซิสม์ การพัฒนาอย่างรอบด้านของตนเอง ต้องอาศัยการพัฒนาอย่างรอบด้านของผู้อื่นด้วย ในลักษณะของ “วิน-วิน โซลูชั่น” คือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด)

โลกของพวกเขาเป็นโลกในกฎ “ซีโร-ซัม” คือ ถ้าฉันได้ เธอก็ต้องเสีย

ซึ่งเป็นวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่คับแคบ มีขีดจำกัดอยู่ในตัวอย่างชัดเจน ไม่อาจขับเคลื่อนตนเองไปสู่อนาคตอันยาวไกลได้

จึงสรุปได้เป็นเบื้องต้นว่า พรรคเหนือทุน (หรือพรรคทุน พรรคนอกทุน) ที่ยึดมั่นและสามารถใช้จุดยืน ทัศนะ วิธีการแบบมาร์กซิสม์นี้ ชี้นำการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ก็จะพาตนเองพัฒนา “เหนือ” ขีดจำกัดเหล่านั้นได้ไม่ยาก

นั่นคือ การยึดมั่นในจุดยืน ทัศนะ วิธีการมาร์กซิสม์ คือ “จุดแข็ง” ทางธรรมชาติของพรรคเหนือทุนจะแสดงตัวให้เห็นทุกครั้งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของกระบวนการขับเคลื่อนภารกิจให้สามารถ “ก้าวกระโดด” จากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง

ดังกรณีของพรรคฯ จีน ทุกครั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถสรุปบทเรียนความผิดพลาด มีการปรับแนวคิดทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติบนฐานของจุดยืน ทัศนะ วิธีการมาร์กซิสม์ได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถสามัคคีประชาชนจีนดำเนินการปฏิวัติหรือการพัฒนาประเทศไปสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ได้อย่างง่ายดาย

ในการประชุมพรรคฯที่เมืองจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว เมื่อกลางทศวรรษ ค.ศ. 1930 พรรคฯ จีนสามารถปรับแนวทางการต่อสู้ที่ผิดพลาด มาเป็นแนวทางการต่อสู้ที่ถูกต้อง ยังผลให้การปฏิวัติจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว และประสบชัยชนะในที่สุด

ในการประชุมพรรคฯ เมื่อปลายปี ค.ศ. 1977 พรรคฯ จีนสามารถปรับแนวคิดการพัฒนาสร้างสรรค์สังคมนิยมที่ผิดพลาด (เน้นการต่อสู้ทางความคิดการเมือง) มาเป็นการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน ยังผลให้การพัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประเทศจีนเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ

พอถึงต้นศตวรรษที่ 21 ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาประเทศของประเทศกำลังพัฒนา

พรรคเหนือทุนไทย จะต้องต่อยอดทางปรัชญานี้ตั้งแต่เริ่มต้น

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า พรรคเหนือทุนไทยจะต้องยึดมั่นในจุดยืน ทัศนะ วิธีการมาร์กซิสม์

เริ่มจากความเป็นจริงของสังคมไทยไปพัฒนาแนวทางการเมืองของตน โดยถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ณ วันนี้ สังคมไทยในสังคมโลกที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ขับเคลื่อนตนเองไปในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก กำลังต้องการพรรคบริหารประเทศที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถสามัคคีประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ดำเนินการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า มีความสุขได้ตาม “อัตภาพ”

ภารกิจเฉพาะหน้าของพรรคเหนือทุนไทย จึงมิใช่การเคลื่อนไหวปฏิวัติล้มล้างอำนาจปกครองที่มีอยู่ แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจบริหารประเทศ เป็นพรรครัฐบาลบริหารประเทศ ตามแนวทางนโยบายที่กำหนดขึ้น

ส่วนจะทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่การทำงานรูปธรรม เช่น การจัดตั้ง เสริมสร้างกำลังพลของพรรค ซึ่งจัดอยู่ในบริบทของการสร้างพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น