xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์แห่งโลกภายใน (38)

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

ลำดับนี้จักได้แสดงกสิณวิธีลำดับที่สี่คือวาโยกสิณ ซึ่งจัดเป็นลำดับกสิณเกี่ยวกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ลำดับสุดท้าย และเป็นกสิณวิธีที่ยากที่สุด ละเอียดประณีตที่สุดในบรรดากสิณเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ

เหตุที่ละเอียดอ่อน ประณีตและยากกว่ากสิณดิน น้ำ และไฟก็เพราะว่าลมนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเหมือนกับดิน น้ำ และไฟ แต่สามารถสังเกตได้จากการเคลื่อนไหวของลมที่พัดต้องสิ่งต่าง ๆ แล้วแสดงอาการให้เห็นว่าต้องลมพัด และสามารถสัมผัสได้จากกระแสลมที่สัมผัสร่างกาย ถึงกระนั้นก็ยังจัดว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและเป็นเรื่องยากในการนำมากำหนดเป็นอารมณ์ในการเพ่งกสิณอยู่นั่นเอง

ลมอันดำรงอยู่ในธรรมชาตินั้นเรียกว่าอากาศ พอเคลื่อนตัวก็เรียกว่าลม แต่ถ้าการเคลื่อนตัวมีความแรงและความเร็วก็จะเรียกว่าพายุ ซึ่งจะมีขนาดของความแรง ความเร็วต่าง ๆ กัน เป็นเหตุให้พายุนั้นได้ชื่อแตกต่างกันตามขนาดของความแรงและเร็วนั้น

หากเป็นลมที่ใช้ในการหายใจก็เรียกว่าลมปราณ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตและปรุงแต่งสังขาร หรือปรุงแต่งกาย นับว่าเป็นกายสังขารชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ในการฝึกฝนอบรมทางจิตโดยเฉพาะคือแบบอานาปานสติและสติปัฏฐาน

โดยทั่วไปลมไร้รูป กลิ่น สี และเสียง แต่สามารถโชยพัดกลิ่นต่าง ๆ ให้สัมผัสได้ สามารถพัดฝุ่นละอองให้ปรากฏเป็นสีได้ และเมื่อพัดต้องสิ่งของมีกิ่งไม้ ใบไม้เป็นต้นก็สามารถปรากฏเป็นเสียงได้ต่าง ๆ กัน

นอกจากนั้นลมยังมีไออุ่นร้อน เย็น ชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื้นอีกด้วย ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่พัดผ่านว่าพัดผ่านสิ่งร้อน เย็น ชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื้นหรือไม่เพียงใด แต่โดยทั่วไปลมจะมีความชุ่มชื่นอยู่ในตัว พัดถูกตัวต้องกายแล้วรู้สึกสบาย

ลมที่จะใช้ในการฝึกฝนอบรมกสิณวิธีไม่ใช่ลมที่เป็นลมปราณ และต้องไม่ใช่ลมที่เป็นพายุ ทั้งพึงหลีกเลี่ยงลมประเภทที่มีกลิ่น มีสี หรือทำให้เกิดเสียง เพราะเป็นอุปสรรคขัดขวางในการรวมจิตให้ตั้งมั่น

เหล่านี้เป็นความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับลม แต่มีข้อควรสังเกตที่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าลมที่จะใช้ฝึกฝนอบรมกสิณวิธีนั้นจะต้องพิจารณาในแง่ที่ไม่ใช่ธาตุ เพราะเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากในกัมมัฏฐานวิธี จะคำนึงแต่เพียงลักษณะของลมที่พัดผ่านเพื่อรวมจิตให้ตั้งมั่นเป็นอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเท่านั้น

พระบรมศาสดาบัญญัติวาโยกสิณเป็นหนึ่งในกัมมัฏฐานวิธีก็เพราะทรงเล็งเห็นว่าเวไนยสัตว์นั้นบางทีก็มีอัชฌาสัยต้องด้วยลม ชอบลม และลมสามารถทำให้จิตตั้งมั่นได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะพิเศษของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นบางคนที่มีอัชฌาสัยก้าวร้าวดุเดือดมุทะลุดุดันก็อาจใช้วาโยกสิณซึ่งร่มเย็นตรงกันข้ามกันเป็นเครื่องแก้ได้อีกด้วย

ดังนั้นผู้มีอัชฌาสัยชอบลมหรือต้องการความร่มเย็นข่มความก้าวร้าวดุเดือดเลือดพล่านจึงเหมาะสมกับการเลือกฝึกฝนปฏิบัติโดยวาโยกสิณวิธีนี้

สำหรับตัวผู้ปฏิบัติและการเตรียมตัวก็เป็นอย่างเดียวกันกับการเตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมใจในการฝึกฝนอบรมปฐวีกสิณหรืออาโปกสิณหรือเตโชกสิณ จะต่างกันก็ตรงสิ่งที่ใช้สำหรับเพ่งเพื่อกำหนดอารมณ์ให้จิตรวมตัวตั้งมั่นที่ใช้ลม

ลมที่จะใช้สำหรับเพ่งวาโยกสิณก็มีสองชนิดเช่นเดียวกับปฐวีกสิณ อาโปกสิณ และเตโชกสิณ คือเป็นลมที่พัดอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งกับลมที่จัดเตรียมขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

ลมที่พัดอยู่ตามธรรมชาติจะต้องเป็นลมที่พัดในลักษณะโชยพลิ้วแผ่ว ๆ ไม่แรงเกินไป ไม่นิ่งเกินไป เพราะหากแรงเกินไปก็โน้มไปในทางที่จะเป็นพายุหรือใกล้จะเป็นพายุ หากนิ่งเกินไปก็ไม่อาจสังเกตรู้ว่าเป็นลมพัด ไม่อาจนำมากำหนดเป็นอารมณ์ได้

ลมที่พัดอยู่ตามธรรมชาติมีตัวอย่างเช่น ลมที่พัดผ่านยอดหญ้า ยอดไผ่ ใบไม้ หรือวัตถุใด ๆ ที่สามารถสังเกตเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวพลิ้วไหวเพราะแรงลมได้

การทำวาโยกสิณไม่สามารถกำหนดวงกสิณที่แน่นอนได้ จึงได้แต่การเพ่งเอาการเคลื่อนไหวของยอดหญ้า ยอดไผ่ ใบไม้ หรือวัตถุใดที่ต้องแรงลมเท่านั้น แต่เพื่อไม่ให้มีการฟุ้งซ่านหรือไร้ขอบเขตในการเพ่งจนเกินไป จึงพึงกำหนดขอบเขตของการเพ่งให้อยู่ภายในคลองของสายตา ที่สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวได้เท่านั้น

ในการเพ่งการเคลื่อนไหวของลมดังกล่าว จึงมีสิ่งสองสิ่งผสมผสานกันอยู่ คือการเห็นกับการรู้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการเห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งที่ต้องสายลมอย่างหนึ่ง กับการรู้ว่านั่นเป็นการเคลื่อนตัวของลมอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องรู้และเห็นให้เป็นอย่างเดียวกัน

ในการเห็นด้วยตาย่อมสามารถเห็นได้แต่การเคลื่อนไหวของสิ่งของที่ต้องแรงลม แต่ในขณะเดียวกันจิตก็ย่อมรู้ว่านั่นเป็นเพราะต้องแรงลม เมื่อทั้งสองสิ่งนี้รวมตัวเป็นสิ่งเดียวกันในการกำหนดเป็นอารมณ์สำหรับเพ่งแล้ว ก็นับได้ว่านั่นคือการเริ่มต้นของการเพ่งวาโยกสิณ

ผู้ฝึกฝนอบรมลืมตาเพ่งสิ่งของที่ต้องแรงลมในลักษณาการที่ทั้งเห็นและรู้เป็นอย่างเดียวกันจนทรงจำได้แม่นยำครบถ้วนสมบูรณ์เป็นมโนภาพขึ้นกับจิตเพื่อกระทำเป็นอุคหนิมิตซึ่งเรียกว่าวาโยอุคหนิมิต

ฝึกฝนทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่านิมิตที่ปรากฏกับจิตมีความชัดเจนครบถ้วนสมบูรณ์

ในการฝึกฝนอบรมวาโยกสิณในขั้นตอนนี้จะมีความยุ่งยากอยู่บ้างก็ตรงที่ความไม่สม่ำเสมอของแรงลม เพราะบางครั้งก็โชยพัดแรงกล้ามากขึ้น เป็นการรบกวนและเป็นอุปสรรคทำให้จิตไม่ตั้งมั่น บางครั้งลมก็หยุดโชยพัดไปเสียดื้อ ๆ ก็เป็นการรบกวนและเป็นอุปสรรคทำให้จิตไม่ตั้งมั่น ไม่อาจเจริญวาโยกสิณได้เช่นเดียวกัน

แต่ในที่สุดเมื่อฝึกฝนปฏิบัติไปก็จะมีความคุ้นเคยกับลักษณาการที่เป็นธรรมชาติเช่นนั้น คือไม่ว่าลมจะพัดแรงกล้าขึ้นกว่าเดิมก็ดี หรือนิ่งลงกว่าเดิมก็ดี ก็ยังคงสามารถกำหนดอารมณ์ให้เป็นดังเดิมได้ นั่นแสดงว่าจิตมีความตั้งมั่น มโนภาพเริ่มก่อตัวขึ้นกับจิตเป็นอุคหนิมิตโดยลำดับแล้ว

เมื่อฝึกฝนอบรมจนมีความชำนาญและเกิดมโนภาพขึ้นกับจิตในวาโยกสิณนั้นชัดเจนครบถ้วน มีความมั่นคงแล้วเมื่อใด เมื่อนั้นย่อมได้ชื่อว่าได้บรรลุถึงอุคหนิมิตโดยวาโยกสิณวิธี

การฝึกฝนอบรมแต่นี้ไปจึงเป็นเรื่องการกระทำอุคหนิมิตให้เป็นปฏิภาคนิมิตหรือที่เรียกว่ากระทำวาโยอุคหนิมิตให้เป็นวาโยปฏิภาคนิมิต นั่นคือเมื่อมีมโนภาพการเคลื่อนไหวของลมปรากฏขึ้นกับจิตเป็นอุคหนิมิตแล้ว ก็เพ่งภาพอุคหนิมิตนั้นโดยสมาธิจิต หลับตาเพ่งด้วยความเพียรไม่ย่อหย่อน

ภาวะเช่นนั้นจิตก็จะตั้งมั่นมากขึ้น มีความบริสุทธิ์มากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ภาวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิตดังที่ได้แสดงมาในกสิณวิธีก่อนหน้านี้ก็จะเกิดขึ้นกับจิตอย่างเดียวกัน

ขอบอกกล่าวเป็นข้อสังเกตว่าอุคหนิมิตของวาโยกสิณนั้นจะมีลักษณะเคลื่อนตัวคือมโนภาพที่เกิดกับจิตจะเห็นการเคลื่อนตัวของลมทำให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไหว มีปริมณฑลหาประมาณมิได้ คือเห็นการเคลื่อนไหวเป็นวงกว้างแผ่ออกไปรอบ ๆ ตัวอย่างหนึ่ง แผ่ออกไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างหนึ่ง แผ่ขึ้นไปข้างบนอย่างหนึ่ง แผ่ลงไปข้างล่างอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นปกติธรรมดาธรรมชาติของการฝึกวาโยกสิณ

แต่ครั้นกระทำวาโยอุคหนิมิตให้เป็นวาโยปฏิภาคนิมิตกลับมีลักษณะตรงกันข้าม คือสิ่งที่เห็นในมโนภาพนั้นแทนที่จะเป็นการเคลื่อนไหวกลับเป็นการหยุดนิ่งหรือคงที่มากขึ้นโดยลำดับ คือเห็นว่ามีลมพัดอยู่ แต่สรรพสิ่งไม่เคลื่อนไหว นั่นคือการถึงซึ่งวาโยปฏิภาคนิมิต

ผู้ฝึกฝนจะต้องกระทำปฏิภาคนิมิตจนมีความชำนาญ มีความมั่นคง และภาวะทั้งหลายได้บังเกิดกับจิตครบถ้วนสมบูรณ์ดังที่ได้แสดงมาในกสิณวิธีก่อนหน้านี้ทุกประการ

ส่วนลมที่จัดเตรียมนั้นความจริงไม่ใช่จัดเตรียมลม แต่เป็นการจัดเตรียมเพื่อให้ร่างกายสามารถสัมผัสกับลมได้อย่างชัดเจน เช่น การเจาะรูที่ฝา หรือที่กำแพง หรือที่ผนัง หรือเจาะที่แผ่นไม้หรือแผ่นเสื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกินไป เพราะถ้าใหญ่เกินไปก็ยากที่จะสัมผัสกับลมที่ผ่านเข้ามาได้ ถ้าเล็กเกินไปก็จะมีเสียงและมีสัมผัสที่แรงอันเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญกสิณ

นำสิ่งที่เตรียมไว้นั้นไปขวางกั้นทางลมไว้ แต่ต้องไม่ใช่ลมที่เป็นพายุ แล้วผู้ปฏิบัติเข้าไปนั่งใกล้ให้ลมต้องส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายตามความพอใจ เช่น ให้รูที่เจาะไว้อยู่ใกล้กับหัวเข่าก็ได้ ฝ่ามือก็ได้ ตะโพกก็ได้ หรือทรวงอกก็ได้ หรือแผ่นหลังก็ได้ เพียงเพื่อให้ร่างกายได้สัมผัสรับรู้ว่ามีกระแสลมมาพัดต้องร่างกายเท่านั้น

ระยะในการนั่งกับแผ่นที่กั้นลมจึงต้องอยู่ใกล้กันและไม่ควรเกินกว่า 1 ศอก เพราะหากไกลไปกว่านี้ก็จะสัมผัสลมได้ยาก ทำให้จิตไม่อาจรวมตัวตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว

ลมที่เตรียมดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องของการทำให้ร่างกายได้สัมผัสกับลม แทนการเห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งของเพราะต้องแรงลม และมีจุดสัมผัสของร่างกายกับลมที่แน่นอน ดังนั้นจึงมีลักษณาการสองอย่างเกิดขึ้น คือ ร่างกายสัมผัสรู้ได้ว่ามีลมพัดมาถูกต้องร่างกาย และสามารถสัมผัสรู้ความชุ่มชื่นร่มเย็นของลมที่มาสัมผัสร่างกายนั้นด้วย

เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่รู้เห็นได้โดยการสัมผัสทางกายหรือโผฏฐัพพะโดยจะต้องสัมผัสรับรู้ทั้งสองลักษณาการนั้นให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่สัมผัสรู้ว่าลมอย่างหนึ่งและความชุ่มชื่นอีกอย่างหนึ่ง แต่ต้องเป็นสัมผัสรู้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

ร่างกายสัมผัสกับลมทั้งสายลมที่พัดมาต้องร่างกายนั้นและความชุ่มชื่นที่รู้สึกได้นั้น แต่สิ่งที่สัมผัสรู้จริงก็คือจิต ซึ่งทำหน้าที่วิญญาณขันธ์

เพราะเหตุที่ลมซึ่งจัดเตรียมไว้ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา ดังนั้นการฝึกฝนอบรมจึงสามารถหลับตาเพ่งความสนใจไปที่การสัมผัสในส่วนของร่างกายที่สัมผัสกับลม จนเกิดมโนภาพเกิดขึ้นกับจิต ราวกับว่าเห็นด้วยตาว่ามีลมที่ชุ่มชื่นพัดมาต้องกายตรงจุดนั้น ๆ จนมโนภาพนั้นมีความชัดเจน มั่นคง ครบถ้วน สมบูรณ์ ก็นับได้ว่าบรรลุถึงวาโยอุคหนิมิต ลำดับแต่นั้นไปก็กระทำวาโยปฏิภาคนิมิตต่อไปดังวิธีฝึกฝนอบรมที่ได้แสดงมาแล้วข้างต้น

เหล่านั้นเป็นเรื่องของผู้ฝึกฝนใหม่แต่เมื่อมีความชำนาญแล้วก็ไม่ต้องจัดเตรียมสิ่งใด ๆ อีก สามารถกำหนดนิมิตวาโยกสิณได้ดังปรารถนาทุกที่ทุกแห่ง

ในบางที่แนะนำว่าการเพ่งวาโยกสิณจะต้องภาวนาว่าวาโต หรือมาลุโต หรืออนิลํ ซึ่งล้วนแปลว่าลม แต่ไม่จำเป็นและไม่จำต้องภาวนาเลย เพราะว่ากสิณวิธีนั้นไม่ใช่วิธีภาวนาแต่เป็นวิธีเพ่ง

การฝึกฝนอบรมวาโยกสิณมีอานิสงส์ในอนาคตเฉพาะตัวคือสามารถทำให้ร่างกายเบาหวิวยิ่งกว่าปุยนุ่นแล้วเหาะไปในอากาศได้ ทำให้เกิดลมได้ ทำให้เกิดฝนและความร่มเย็นได้ ส่วนอานิสงส์ทั่วไปก็เหมือนกับกสิณวิธีอื่น ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น